แบงก์ชาติจีนออกมาตรการช่วยธุรกิจ-ปชช.ได้รับผลกระทบจากโควิด

แบงก์ชาติจีนออกมาตรการช่วยธุรกิจ-ปชช.ได้รับผลกระทบจากโควิด

ธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) ประกาศมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในวันนี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลสั่งล็อกดาวน์เมืองสำคัญเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) ประกาศมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในวันนี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลสั่งล็อกดาวน์เมืองสำคัญเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า การที่พีบีโอซี มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มสินเชื่อนั้น อาจหมายความว่า โอกาสที่จีนจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเป็นวงกว้างอาจจะลดน้อยลง

เอกสารที่พีบีโอซี เผยแพร่ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลด้านปริวรรตเงินตราของจีนในวันนี้ระบุว่า พีบีโอซี ได้สั่งการให้ธนาคารพาณิชย์จัดหาเงินกู้ให้กับภาคธุรกิจโดยใช้เครื่องมือด้านการจัดสรรเงินของรัฐบาลท้องถิ่น พร้อมกับสั่งการให้ปล่อยเงินกู้เพิ่มเติมให้กับประชาชนบางกลุ่ม เช่น คนขับรถแท็กซี่, เจ้าของธุรกิจร้านค้าออนไลน์ และคนขับรถบรรทุก รวมทั้งจัดหาเงินกู้ระยะยาวและอัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับธุรกิจขนาดเล็ก

ในการแถลงมาตรการครั้งใหญ่ทั้ง 23 มาตรการนั้น พีบีโอซีให้คำมั่นว่าจะใช้เครื่องมือต่าง ๆ แบบมีเป้าหมาย รวมถึงโครงการปล่อยเงินกู้ใหม่ (Relending Program) ซึ่งจะจัดหาเงินทุนให้กับธนาคารพาณิชย์เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยกู้ได้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านหยวน (1.57 หมื่นล้านดอลลาร์)

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของพีบีโอซีมีขึ้น หลังจากจีนรายงานว่า ยอดการใช้จ่ายของผู้บริโภคทรุดตัวลงอย่างหนักและอัตราว่างงานพุ่งขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดในเดือนมี.ค. เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดได้ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะชะงักงัน

ด้านนักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์กล่าวว่า การประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของพีบีโอซีสะท้อนให้เห็นว่า โอกาสที่จีนจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลงอีกนั้น มีน้อยลง เนื่องจากพีบีโอซี ไม่ได้ระบุถึงการดำเนินการดังกล่าวในระหว่างการประชุมหารือเกี่ยวกับเครื่องมือด้านนโยบายการเงิน