สงครามยูเครนหนุนทุนต่างชาติหนีตลาดหุ้นจีน

สงครามยูเครนหนุนทุนต่างชาติหนีตลาดหุ้นจีน

สงครามยูเครนหนุนทุนต่างชาติหนีตลาดหุ้นจีน ขณะที่การไหลเข้าของกระแสเงินทุนต่างชาติสุทธิเป็นปกติจนถึงเดือนก.พ.ก่อนที่กระแสเงินลงทุนต่างชาติสุทธิ จะไหลออกคิดเป็นมูลค่า 45,100 ล้านหยวนในเดือนมี.ค.

ขณะนี้ตลาดทุนจีนกำลังเกิดปรากฏการณ์กระแสเงินสดของต่างชาติไหลออก เนื่องจากบรรดานักลงทุนพยายามเลี่ยงลงทุนในประเทศเผด็จการต่างๆ รวมถึงจีน ขณะที่ผลพวงจากการทำสงครามในยูเครนของรัสเซียที่ทำให้ค่าเงินรูเบิลรัสเซียอ่อนค่าอย่างหนักและราคาหุ้นดิ่งลง

ข้อมูลเกี่ยวกับตลาดหุ้นตลาดทุนเผยให้เห็นว่านักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นและพันธบัตรจีนสุทธิ 38,400 ล้านหยวน(60,400 ล้านดอลลาร์)ในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.ถือเป็นการเทขายหุ้นรายไตรมาสสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

“เกิดกระแสเงินลงทุนจากต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นจีนในปริมาณมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน การเปิดฉากทำสงครามของรัสเซียในยูเครนอาจเป็นตัวผลักดันตลาดต่างๆทั่วโลกให้หันไปมองดูการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นตลาดทุนในจีนจะเห็นกระแสเงินลงทุนที่ไหลออกมากผิดปกติ

ขณะที่ตลาดเกิดใหม่อื่นๆไม่ปรากฏกระแสเงินลงทุนจากต่างชาติไหลออกแบบนี้”รายงานของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ(ไอไอเอฟ)ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปลายเดือนมี.ค. ระบุ

การประมาณการมูลค่าการซื้อขายของบรรดานักลงทุนต่างชาติในหุ้นที่จดทะเบียนที่ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้นผ่านทางการทำธุรกรรมในช่องทางการเชื่อมโยงระหว่างตลาดหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่และตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง การไหลเข้าของกระแสเงินทุนต่างชาติสุทธิยังคงไหลเข้าตามปกติจนถึงเดือนก.พ.ก่อนที่จะพลิกไปเป็นกระแสการไหลออกของกระแสเงินลงทุนต่างชาติสุทธิ 45,100 ล้านหยวนในเดือนมี.ค.

ขณะที่ยอดค้างชำระของพันธบัตรจีนที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหดตัวลงประมาณ 803,000 ล้านหยวนในเดือนก.พ. ถือเป็นการหดตัวมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.ปี 2558 ที่มีการบันทึกเพื่อเปรียบเทียบข้อมูล โดยการเทขายสุทธิทั้งหุ้นและพันธบัตรในไตรมาสแรกโดยรวมมากกว่ากระแสเงินลงทุนของต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นจีนในปี 2558 และวิกฤติโควิด-19 ในปี 2563

ปรากฏการณ์กระแสทุนลงทุนของต่างชาติไหลออกอย่างมากมายนี้สวนทางกับช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ที่การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จีนทะยานเพราะตลาดจีนเปิดกว้างมากขึ้นและมีการนำดัชนีหลักของโลกมาเทรดที่ตลาดหลักทรัพย์จีน โดยสัดส่วนของหุ้นจีนและฮ่องกงในตลาดเกิดใหม่หลักๆเพิ่มขึ้นเกือบ40% ช่วงไม่กี่ปีมานี้จากที่ครองสัดส่วนไม่ถึง10% ในปี2551

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนดังกล่าวร่วงลงไปอยู่ที่ 29% สืบเนื่องจากปัจจัยลบ3ด้านคือการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 การออกกฏระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นมากำกับดูแลบริษัทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และสงครามยูเครน 

“เงินทุนต่างชาติที่หลั่งไหลเข้าไปในจีนตลอดช่วงสามปีที่ผ่านมาอาจจะเริ่มไหลออก”ฌอน เทย์เลอร์ ผู้จัดการบริหารสินทรัพย์ของบริษัทดีดับเบิลยูเอส ของเยอรมัน กล่าว

บรรดานักลงทุนไม่เพียงแต่ปรับกลยุทธการลงทุนระยะสั้นแต่ต้องทบทวนกลยุทธการลงทุนระยะยาวด้วยขณะเดียวกันพวกเขาก็เริ่มให้ความสนใจมากขึ้นเกี่ยวกับโครงสร้างทางการเมืองและระบบมูลค่าของจีนหลังจากที่นักลงทุนจำนวนมากไม่ค่อยให้ความสนใจในประเด็นเหล่านี้มากนัก

“เราถกเถียงกันว่าควรจะเดินหน้าลงทุนในจีนต่อไปหรือไม่ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จีนจะบุกโจมตีไต้หวัน”เจ้าหน้าที่คนหนึ่งจากกองทุนเงินบำนาญชั้นนำของญี่ปุ่นแห่งหนึ่งที่ถือเป็นนักลงทุนที่แอคทีฟกองทุนหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์จีน ให้ความเห็น

การระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ในจีนรวมถึงในเซี่ยงไฮ้ที่ทำให้ทางการเซี่ยงไฮ้ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์อาจเป็นชนวนทำให้การลงทุนของต่างชาติไหลออกจากประเทศนี้มากขึ้น และขณะที่เกิดปรากฏการณ์เงินทุนไหลออกจากจีนนั้น ความต้องการลงทุนในกองทุนต่างๆในประเทศเสรีนิยมก็เพิ่มขึ้น โดย ETFs ที่เชื่อมกับ Freedom 100 Emerging Markets Index ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดเสรีภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศมีกระแสเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้ามากที่สุดในเดือนมี.ค.คือ 53 ล้านดอลลาร์

เช่นเดียวกับกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของนอร์เวย์ ที่ถือเป็นกองทุนใหญ่ที่สุดของโลก ตัดสินใจถอดบริษัทหลี่-หนิง บริษัทผลิตเสื้อผ้ากีฬารายใหญ่สุดสัญชาติจีนจากพอร์ทลงทุนของตัวเองหลังจากบริษัทเผชิญหน้ากับข้อกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทหลี่-หนิงร่วงลงกว่า 10% เมื่อเดือนที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ข่าวเกี่ยวกับกระแสลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จีนของบรรดานักลงทุนอเมริกันที่แผ่วลงไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยแนวโน้มนี้เริ่มชัดเจนมาตั้งแต่ปี 2559 โดยการครอบครองบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจบันเทิง และธุรกิจอเมริกันอื่นๆของบริษัทจีนปรับตัวลงอย่างมากหลังจากรัฐบาลจีนออกมาตรการคุมเข้มด้านการลงทุนในต่างประเทศของบริษัทจีน

ในทางกลับกัน รัฐบาลวอชิงตันเองก็เพิ่มอำนาจในการตัดสินใจให้แก่คณะกรรมาธิการด้านการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจเด็ดขาดในการอนุมัติหรือทบทวนการลงทุนของต่างชาติในสหรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาได้ห้ามการลงทุนของบริษัทจีนหลายแห่ง รวมทั้งบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการขายอาวุธยุทโธปกรณ์