12 เม.ย. "วันการบินมนุษย์อวกาศสากล" อดีตถึงปัจจุบัน ใครไป "อวกาศ" มาแล้วบ้าง

12 เม.ย. "วันการบินมนุษย์อวกาศสากล"  อดีตถึงปัจจุบัน ใครไป "อวกาศ" มาแล้วบ้าง

ส่องประวัติศาสตร์การเดินทางทางอวกาศของมวลมนุษยชาติ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พร้อมดูแผนงานในอนาคต ต้อนรับ 12 เม.ย. “วันการบินมนุษย์อวกาศสากล”

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2554 ที่ประชุม “สหประชาชาติ” หรือ “ยูเอ็น” (UN) มีมติกำหนดให้วันที่ 12 เม.ย. ของทุกปีเป็น “วันการบินมนุษย์อวกาศสากล” (International Day of Human Space Flight) เพื่อเฉลิมฉลองให้แก่ “ยูริ กาการิน” มนุษย์คนแรกที่ขึ้นสู่อวกาศและวงโคจรโลก ด้วยยาน Vostok 1 เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2504 ซึ่งเป็นก้าวแรกที่สำคัญของวงการการบินอวกาศสากล และทำให้เกิดการแข่งขันด้านการท่องอวกาศมาจนถึงปัจจุบัน 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จึงได้รวบรวมเหตุการณ์ครั้งสำคัญของการเดินทางของเหล่ามนุษย์อวกาศครั้งสำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนแผนงานในอนาคต และการท่องเที่ยวอวกาศเชิงพาณิชย์ในประเทศต่าง ๆ

 

  • เหตุการณ์สำคัญของการบินมนุษย์อวกาศ

1. 12 เม.ย. 2504 (โซเวียต)

“ยูริ กาการิน” (Yuri Gagarin) มนุษย์คนแรกที่ขึ้นสู่อวกาศและวงโคจรโลก ด้วยยาน “Vostok I”

 

2. 5 พ.ค. 2504 (สหรัฐ)

“อลัน เชปเพิร์ด” (Alan Shepard) ชาวอเมริกันคนแรกที่ไปอวกาศด้วยยาน “Freedom 7”

 

3. 16 มิ.ย. 2506 (โซเวียต)

“วาเลนตินา เทเรชโกวา” (Valentina Tereshkova) ผู้หญิงคนแรกที่ขึ้นสู่อวกาศและวงโคจรโลก

 

4. 19 มี.ค. 2508 (โซเวียต)

“อเล็กซี ลีโอนอฟ” (Alexei Leonov) กลายเป็นคนแรกของโลกที่เดินในอวกาศ

 

5. 15 ธ.ค. 2508 (สหรัฐ)

“วอลเตอร์ เอ็ม ชีร์รา” (Walter M. Schirra) และ “ทอม สตาฟฟอร์ด” (Tom Stafford) จากยาน “Gemini 6A” นัดพบในอวกาศเป็นครั้งแรกกับยาน “Gemini7” โดยยานทั้ง 2 อยู่ห่างกันเพียงหนึ่งฟุตเป็นเวลา 5 ชั่วโมง

 

6. 21–27 ธ.ค. 2511 (สหรัฐ)

“แฟรงค์ โบร์แมน” (Frank Borman), “จิม โลเวลล์” (Jim Lovell), และ “วิลเลียม อันเดอร์ส” (William Anders) เป็นคนกลุ่มแรกที่เดินทางออกจากวงโคจรต่ำของโลก และเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ ด้วยยาน “Apollo 8” 

 

7. 26 พ.ค. 2512 (สหรัฐ)

“Apollo 10” ทำความเร็วสูงสุดที่มีนักบินอวกาศเดินทางไปด้วย โดยทำความเร็วถึง 39,897 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

8. 26 พ.ค. 2512 (สหรัฐ)

“นีล อาร์มสตรอง” (Neil Armstrong) และ “บัซ อัลดริน” (Buzz Aldrin) เหยียบพื้นดวงจันทร์ครั้งแรกด้วย ยาน “Apollo 11”

 

9. 2 มี.ค. 2521 (เช็ก)

“วลาดิเมียร์ เรเม็ก” (Vladimír Remek) เป็นนักบินอวกาศชาวเช็ก และเป็นคนแรกที่ไม่ใช่ชาวอเมริกันและโซเวียตที่ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ จากโครงการ “Interkosmos”

 

10. 2 เม.ย. 2527 (อินเดีย)

“ราเกซ ชาร์มา” (Rakesh Sharma) ชาวอินเดียคนแรกที่เดินทางในอวกาศ

 

11. 25 ก.ค. 2527 (โซเวียต)

“สเวตลานา ซาวิตสกายา” (Svetlana Savitskaya) มนุษย์อวกาศหญิงคนแรกที่ได้เดินอวกาศ

 

12. 8 ม.ค. 2537 - 22 มี.ค. 2538 (รัสเซีย)

“วาเลรี พอลียาคอฟ” (Valeri Polyakov) เป็นนักบินอวกาศที่ใช้เวลาทำภารกิจเดียวบนอวกาศนานที่สุด เป็นเวลากว่า 437 วัน 17 ชั่วโมง 58 นาที 16 วินาที 

 

13. 15 ต.ค. 2546 (จีน)

“หยาง ลี่เหวย” (Yang Liwei) เป็นนักบินอวกาศคนแรกของจีนที่ขึ้นสู่อวกาศ


14. 12 ก.ย 2558 (รัสเซีย)

“เกนนาดี พาดาลกา” เป็นมนุษย์ที่อยู่ในอวกาศนานที่สุดกว่า 879 วัน จากการขึ้นไปทำภารกิจบนอวกาศ 6 ครั้ง

 

15. 18 ต.ค. 2561 (สหรัฐ)

“คริสตินา โคช” (Christina Koch) และ “เจสสิกา เมียร์” (Jessica Meir) นักบินอวกาศหญิงคู่แรกที่ทำภารกิจเดินอวกาศ 

  • มนุษย์อวกาศที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่นอกโลก

ในปัจจุบัน ยังมีนักบินอวกาศที่ปฏิบัติภารกิจอยู่นอกโลก ทั้งในอวกาศยาน และ ท่าอวกาศยานทั้งสิ้น 161 คน โดยเป็นของนักบินอวกาศของรัสเซียจำนวน 146 คน จากโครงการ “Soyuz” ขณะที่อีก 8 คนเป็นของจีน อยู่บนยาน “Shenzhou” ในโครงการ “China Manned Space Program” 

ส่วนอีก 7 คนเป็นของสหรัฐ แบ่งเป็น ยาน “Falcon 9” จำนวน 4 คน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Commercial Crew” และ ยาน “New Shepard” จำนวน 3 คน ซึ่งทั้งอวกาศยานทั้ง 2 ลำนี้พึ่งปล่อยไปเมื่อปีที่ผ่านมา

 

  • แผนการส่งมนุษย์ออกไปนอกโลกในอนาคต

หลายประเทศได้จัดตั้งหน่วยงานด้านอวกาศ และประกาศเริ่มโครงการการบินในอวกาศของมนุษย์ โดยใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเอง ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น ที่เมื่อปลายปีที่แล้ว องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) เปิดรับสมัครนักบินอวกาศคนใหม่เป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี เพื่อปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศนานาชาติและเข้าร่วมในโครงการสำรวจดวงจันทร์ที่นำโดยสหรัฐ

สำหรับ อิหร่านได้พัฒนายานอวกาศขนาดเล็กและห้องปฏิบัติการอวกาศ แต่ขณะนี้ยังระงับโครงการไว้อยู่ ขณะที่เกาหลีเหนือประกาศแผนการสร้างยานอวกาศที่มีลูกเรือและระบบกระสวยอวกาศขนาดเล็ก

ส่วนยักษ์ใหญ่แห่งวงการอวกาศอย่างสหรัฐมีความพยายามที่จะส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ให้สำเร็จ โดย องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ “องค์การนาซา” (NASA) มีเป้าหมายที่จะนำมนุษย์อวกาศเหยียบดาวอังคารภายในปี 2573 โดยเริ่มจากภารกิจ “Artemis 1” ที่จะส่งยานอวกาศ “Orion” แบบไร้มนุษย์อวกาศภายในยานออกเดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์ในช่วงปีหน้า

ขณะที่ “SpaceX” ของ “อีลอน มัสก์” มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก เตรียมสร้างเมืองบนดาวอังคาร รองรับประชากรได้ราว 1 ล้านคน พร้อมสร้างระบบนิเวศน์เหมาะสำหรับสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ภายใน 3 ทศวรรษนี้ แต่แล้วแผนการนี้ต้องถูกท้าทาย เมื่อสภาพภูมิอากาศของดาวอังคารไม่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของมนุษย์ การเดินทางที่ใช้เวลานาน กฎหมายที่ไม่รับรอง และแผนการดำเนินงานที่ล่าช้า

 

  • บริษัทให้บริการการท่องอวกาศทางพาณิชย์

การท่องเที่ยวอวกาศสำหรับคนธรรมดาทั่วไป (ที่มีเงิน) มีด้วยกัน 2 รูปแบบ ได้แก่ 

1. การท่องเที่ยวทางอวกาศแบบวงโคจร (Suborbital flight) เป็นการบินขึ้นไปในทางตรงและไม่ได้มีการโคจรรอบโลก คือบินขึ้นไปในแนวดิ่ง ซึ่งบริษัทที่ให้บริการการท่องเที่ยวแบบนี้มีด้วยกัน 3 บริษัท คือ Scaled Composites, Virgin Galactic และ Blue Origin

 

2. การท่องเที่ยวทางอวกาศแบบโคจรหลัก (Orbital space tourism) เป็นการบินสู่วงโคจรโลก ซึ่งในปัจจุบันมีเพียง “Space Adventures” และ “SpaceX” เท่านั้นที่ทำได้

Space Adventures ได้ร่วมกับโครงการ “Soyuz” ของรัสเซีย เพื่อใช้ยานอวกาศในโครงการ Soyuz ในการพาเหล่ามหาเศรษฐีและนักธุรกิจขึ้นไปท่องเที่ยวยังสถานีอวกาศนานาชาติ โดยมีนักท่องเที่ยวหลายคนที่เคยบินมาแล้ว เช่น “เดนนิส ติโต้” (Dennis Tito) , “มาร์ก ชัตเทิลเวิร์ธ" (Mark Shuttleworth) ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ “Canonical” บริษัทซอฟต์แวร์ “Guy Laliberte” นักแสดงและผู้ร่วมก่อตั้งคณะกายกรรม “Cirque du Soleil” โดยสนนราคาที่ 20 ล้านดอลลาร์ ต่อเที่ยวบิน

ขณะที่ SpaceX พึ่งปล่อยเที่ยวบินโดยสารลูกค้าเอกชนครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา ในชื่อภารกิจ Ax-1 หรือ Axiom-1 โดยนักท่องเที่ยวจะเข้าร่วมในการฟังคำบรรยายและทำการทดลองวิจัยเชิงนวัตกรรมขณะที่อยู่ในห้องปฏิบัติการที่กำลังโคจรรอบโลกอีกด้วย

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รวบรวม (ข้อมูล ณ วันที่ 8 เม.ย. 2565)
กราฟิก: ณัฐนิช อิสรเสรีธรรม

12 เม.ย. \"วันการบินมนุษย์อวกาศสากล\"  อดีตถึงปัจจุบัน ใครไป \"อวกาศ\" มาแล้วบ้าง