ปฏิบัติการคว้า ‘ชาเนล’ ก่อนรุ่งสางกลางกรุงโซล

ปฏิบัติการคว้า ‘ชาเนล’ ก่อนรุ่งสางกลางกรุงโซล

การระบาดของโควิด-19 ทำให้ชาวเกาหลีใต้ไม่ได้เดินทางและอดชอปปิงในร้านค้าปลอดภาษี ตอนนี้พวกเขากำลังทำให้สินค้าแบรนด์เนมในประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว จนแบรนด์หรูชาเนล (Chanel) ต้องห้ามว่าที่ลูกค้าหนึ่งในสามเพื่อสกัดไม่ให้ซื้อกระเป๋าใบละ 10,000 ดอลลาร์ไปตุนแล้วนำไปขายต่ออัพราคาขึ้นไม่น้อยกว่า 20%

“ชาเนล” แบรนด์แฟชั่นและสินค้าหรูจากฝรั่งเศสเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า จำนวนลูกค้าเข้าร้านในเกาหลีใต้ลดลงมากตั้งแต่แบรนด์เริ่มคัดกรองลูกค้าที่อาจเข้ามาซื้อของตุนไปขายต่อให้คนอื่นในตลาดรีเซล

“เราดูลูกค้ากลุ่มที่ซื้อของทีละเยอะๆ ออก หลังจากวิเคราะห์รูปแบบการซื้อของพวกเขา บริษัทจึงออกนโยบายนี้มา จากนั้นการเข้าร้านลดลง 30%” ชาเนลกล่าวโดยไม่ได้ระบุว่า แบรนด์ดูลูกค้าออกได้อย่างไรว่าคนไหนจะเป็นกลุ่มซื้อของจำนวนมาก และไม่ได้เปิดเผยยอดขายเป็นรายประเทศ

กลยุทธ์นี้ของชาเนลที่ใช้มาตั้งแต่ ก.ค.2564 เกิดขึ้นในช่วงที่ความต้องการสินค้าหรูทั่วโลกพุ่งขึ้น หลังเลวร้ายสุดเพราะโควิดระบาด ข้อมูลจากบริษัทวิจัยยูโรมอนิเตอร์ระบุว่า เกาหลีใต้เป็นตลาดสินค้าแบรนด์เนมใหญ่สุดอันดับเจ็ดของโลก และเป็นแค่หนึี่งในสองของเจ็ดตลาดแรกวัดจากรายได้ (อีกรายคือจีน) ที่ปี 2564 ยอดขายโตขึ้นจากระดับปี 2562

กระนั้น ซัพพลายสินค้าแบรนด์อย่างชาเนลกลับถูกควบคุมอย่างเข้มงวด เพื่อสงวนไว้ให้ลูกค้าเอกซ์คลูสีฟ และกระตุ้นความอยากได้เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไม่มีขายในออนไลน์ จะมีก็แค่เครื่องสำอาง น้ำหอม และเครื่องประดับชิ้นเล็กๆ จำนวนหนึ่งเท่านั้น

ด้วยความอยากได้เช่นนี้ที่กลางกรุงโซลลูกค้าจึงต้องไปเข้าคิวที่นอกห้างสรรพสินค้ากันตั้งแต่รุ่งสางเพื่อเตรียมความพร้อม ห้างเปิดเมื่อใดวิ่งจี๋เข้าร้านชาเนลทันที

“ผมมาถึงตั้งแต่ตีห้าครึ่งเพื่อมาวิ่งแข่งเข้าร้าน และได้รับแจ้งว่ามีคนมาก่อนหน้าผม30 กว่าคน” นักช้อปรายหนึ่งที่หน้าร้านชาเนลในกรุงโซลกล่าวกับรอยเตอร์โดยไม่เปิดเผยตัวตนเพราะกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว

เขากล่าวต่อว่ากว่าจะได้เข้าร้านก็เกือบ 10 ชั่วโมงให้หลัง ซึ่งสินค้าที่อยากได้หมดเกลี้ยงแล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนความร้อนแรงในตลาดรีเซลที่ความต้องการสินค้าสูงมาก กระเป๋าสะพายรุ่นคลาสสิกขายในราคา 13.5 ล้านวอน (11,031 ดอลลาร์) แพงกว่าราคาขายปลีกมาตรฐานถึง 20%

นี่เป็นราคาเมื่อเดือน ม.ค.จาก KREAM แพลตฟอร์มขายทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่รองเท้าผ้าใบไปจนถึงสินค้าเทคโนโลยีและแบรนด์เนม บริษัทลูกของ Naver Corp ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยี

KREAM ที่ย่อมาจาก‘Kicks Rule Everything Around Me’ (เตะทุกกฎรอบตัวฉัน) เปิดตัวเมื่อ 2563 บริษัทเผยกับรอยเตอร์ว่าเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า ทำธุรกรรมมูลค่าเกิน 1 แสนล้านวอน ส่วนตลาดรีเซลของเกาหลีใต้แม้ประมาณการณ์แบบยั้งมือสุดๆ แล้ว มูลค่ายังสูงกว่า 1 ล้านล้านวอน หรือเกือบ 820 ล้านดอลลาร์

การบริหารจัดการคิว

แม้แพลตฟอร์มขายต่ออย่าง KREAM ขายสินค้าหลากแบรนด์ แต่ชาเนลและโรเล็กซ์ นาฬิกาดังสัญชาติสวิสเป็นแบรนด์ที่ลูกค้าต้องการมากเพราะเป็นหนึ่งในของขวัญแต่งงานยอดนิยมของคู่รักเกาหลีใต้  ชาเนลนั้นขึ้นราคากระเป๋าถือรุ่นสัญลักษณ์บ่อยๆ เดือนนี้ชาเนลขึ้นราคากระเป๋าถือ เครื่องประดับ และเสื้อผ้าประจำฤดูกาลบางชิ้นในเอเชียและยุโรปรวมทั้งในเกาหลีใต้อีก 5% ซึ่งที่เกาหลีใต้เป็นการปรับราคาครั้งที่ 5 ในรอบเก้าเดือน

ในแถวคัดกรองผู้ซื้อสินค้าจำนวนมาก ชาเนลกล่าวว่า บริษัทใช้ “ระบบการจัดการคิว” ร้านจะขอเบอร์ติดต่อจากลูกค้าและเหตุผลที่มาร้าน เพื่อร้านจะได้ส่งข้อมูลแจ้งได้ว่าสามารถมาร้านได้ตอนไหน

ผู้เชี่ยวชาญด้านแบรนด์และผู้บริโภคเห็นต่างเรื่องผลกระทบจากการซื้อรูปแบบใหม่ของชาเนล

“ผู้บริโภคอาสาโฆษณาให้ชาเนลฟรีๆ ตั้งแต่ไปตั้งแคมป์นอกร้าน วิ่งแข่งเข้าร้าน โพสต์สิ่งที่เจอบนโซเชียลมีเดีย ดิฉันคิดว่าปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้ช่วยให้ชาเนลดึงดูดลูกค้าหนุ่มสาวและทำเงินได้มหาศาล” ลีอุนฮี ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ผู้บริโภค มหาวิทยาลัยอินฮาให้ความเห็น

กระนั้น ผู้บริโภคบางคนกล่าวว่าการเข้าคิวยาวและต้องอยู่ในรายชื่อลูกค้าสำรองทำให้พวกเขายอมแพ้

“ฉันเลิกซื้อสินค้าชาเนลมานานแล้ว กว่าจะได้สักชิ้นยากมาก ปกติจะมีรายชื่อลูกค้าขึ้นบัญชีรอราว 300 กว่าคน พอถึงตาฉันไม่มีสินค้าเหลือแล้ว ฉันเลยเข็ด ไม่อยากไปร่วมคลั่งกับเขา” หญิงสาววัย 30 เศษในกรุงโซลเผยประสบการณ์

แต่แม่ค้าขายต่อไม่มีทีท่าว่าจะยอมแพ้ง่ายๆ หลายคนเล่าให้รอยเตอร์ฟังโดยไม่เปิดเผยชื่อเพราะเป็นประเด็นอ่อนไหวว่า พวกเขาจ้างคนมายืนเข้าแถวหรือเข้าร้านแทนในราคาวันละ 125 ดอลลาร์

พ่อค้าวัย 30 เศษรายหนึ่งเล่าว่า ปกติขายต่อได้กำไร 20% ยิ่งของเหลือน้อยยิ่งฟันกำไรได้มาก

เมื่อเร็วๆ นี้เขาขายซองใส่นามบัตรของชาเนลบน “แคร์รอท” แอพพลิเคชันตลาดมือสองได้เกือบ 1 ล้านวอน แพงกว่าราคาขายปลีก 40% หลังจากประกาศขายเพียงแค่ห้านาที แค่นี้ก็บ่งบอกถึงความเย้ายวนใจในตลาดรีเซลสินค้าแบรนด์เนม