ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ความหวังกู้วิกฤติศรีลังกา

ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ความหวังกู้วิกฤติศรีลังกา

ศรีลังกาแต่งตั้งผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ หวังแก้วิกฤติเศรษฐกิจของประเทศและหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ ขณะไอเอ็มเอฟหาทางเจรจาร่วมกับศรีลังกาเพื่อผ่าทางตันปัญหาหนี้สิน

"พี. นันดาลัล วีระสิงห์" รองผู้ว่าการธนาคารกลางศรีลังกา ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่ ในขณะที่รัฐบาลพยายามรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรงของประเทศ รวมถึงหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ และเริ่มการเจรจาขอความช่วยเหลือกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

วีระสิงห์จะเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางศรีลังกาในวันที่ 7 เม.ย. นี้ แทนที่“อะจิดห์ นิวาด คาบราอัล” ซึ่งประกาศลาออกเมื่อวันจันทร์ (4 เม.ย.) หลังจากที่ไม่สามารถหยุดยั้งวิกฤตเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงขึ้น และปฏิเสธความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ

รายงานข่าวระบุว่า วีระสิงห์จะเข้ามารับตำแหน่งในช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อของศรีลังกาปรับตัวขึ้นรวดเร็วที่สุดในเอเชีย ทำให้สื่อคาดการณ์กันว่า วีระสิงห์อาจไม่สามารถควบคุมปัจจัยหลักที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อดีดตัวขึ้นเกือบ 19% ได้

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโกตาพญา ราชปักษา ของศรีลังกาได้ปลดเบซิล ราชปักษา น้องชายของตนเองออกจากตำแหน่ง รมว.คลังพร้อมเสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โดยเชิญฝ่ายค้านเข้าร่วมและขณะนี้มีการแต่งตั้งรัฐมนตรี 4 คนเข้าสู่การรับรองของรัฐสภาแล้ว ส่วนตำแหน่งอื่น ๆ จะดำเนินการไปตามกฎหมายจนกว่าคณะรัฐมนตรีทั้งคณะจะเข้าสาบานตน

อาลี ซาบรี รมว.ยุติธรรมจะดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง แทนเบซิล ราชปักษา น้องชายของประธานาธิบดี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเยือนสหรัฐ เพื่อเจรจากับตัวแทนไอเอ็มเอฟ ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ศึกษาธิการ และทางหลวงยังคงดำรงตำแหน่งต่อไป แต่ซาบรีเป็นรัฐมนตรีคลังได้วันเดียวก็ลาออก พร้อมกล่าวว่า ประเทศจำเป็นต้องได้วิธีการเชิงรุกใหม่ๆ อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อนมาแก้ปัญหา ขณะที่ประธานาธิบดีสูญเสียเสียงข้างมากในสภา อดีตพรรคร่วมรัฐบาลต่างเรียกร้องให้เขาลาออก 

ด้านไอเอ็มเอฟ ประกาศจับตาสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเมืองในศรีลังกาอย่างใกล้ชิด หลังจากประชาชนออกมาประท้วงทั่วประเทศ เพื่อแสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลปล่อยให้เศรษฐกิจเผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปี
 

“มาซาฮิโร โนซากิ” หัวหน้าฝ่ายกิจการศรีลังกาของไอเอ็มเอฟ เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า “เจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟ กำลังหาทางจัดการเจรจาร่วมกับทางการศรีลังกา ซึ่งรวมถึงการเจรจาในระหว่างที่รัฐมนตรีคลังคนใหม่ของศรีลังกาเดินทางเยือนสหรัฐในช่วงปลายเดือนนี้”

ประธานาธิบดีราชปักษา กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ศรีลังกากำลังขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟเพื่อแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ โดยตั้งเป้าหมายลดการขาดดุลการค้าไว้ประมาณ 14% ในปีนี้ รวมทั้งลดยอดขาดดุลการค้าลงสู่ระดับ 7,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ จาก 8,100 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ปธน.ราชปักษายังประเมินว่า ศรีลังกาต้องใช้เงินช่วยเหลือ 5,000 ล้านดอลลาร์เพื่อพยุงสถานะการเงินของประเทศ

หากไออ็มเอฟตัดสินใจปล่อยเงินกู้ต่อ ก็จะกลายเป็นมาตรการช่วยเหลือทางการเงินรอบที่ 17 ที่ไอเอ็มเอฟอนุมัติให้กับศรีลังกา ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีเงื่อนไขมากมาย เช่น การปฏิบัติตามเป้าหมายทางการคลังอย่างเข้มงวด

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีราชปักษา หลังจากชนะเลือกตั้งในปี 2562 เช่น การลดภาษีอย่างมาก และการห้ามการนำเข้า ยิ่งทำให้วิกฤตครั้งนี้เลวร้ายลง ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เต็มใจที่จะขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ

ด้านประธานาธิบดีราชปักษา กล่าวโทษว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำงานของรัฐบาลชุดก่อน แต่ชาวศรีลังกาต่างมองว่าถึงเวลาแล้วที่ประธานาธิบดีราชปักษาต้องลาออกจากตำแหน่ง และแสดงความรับผิดชอบต่อวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

ขณะที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ราคาพันธบัตรของรัฐบาลศรีลังกาทรุดตัวลงอย่างหนัก หลังเกิดเหตุการณ์ประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อและการตัดกระแสไฟฟ้าเป็นวงกว้าง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรี และยิ่งเพิ่มความวิตกกังวลว่า ความปั่นป่วนทางการเมืองจะส่งผลกระทบต่อความสามารถของรัฐบาลในการชำระหนี้ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

ราคาพันธบัตรรัฐบาลศรีลังกามูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีกำหนดไถ่ถอนในเดือนก.ค.ปีนี้ อยู่ที่ระดับ 59 เซนต์สหรัฐ ณ วันจันทร์(4 เม.ย.) ลดลง 7 เซนต์ ถือเป็นการปรับตัวลงในระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.ปี 2563

ราคาพันธบัตรรัฐบาลศรีลังกา ปรับตัวลงรุนแรงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา สะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนมีความเชื่อมากขึ้นว่าศรีลังกาจะประสบปัญหาในการชำระหนี้ เมื่อพันธบัตรครบกำหนดไถ่ถอนในเวลาอีกไม่ถึง 4 เดือนข้างหน้านี้

ด้วยวิกฤติเศรษฐกิจที่ถาโถมส่งผลให้การเมืองศรีลังกาปั่นป่วน  ประชาชนเองยังประท้วงไม่ถอยท่ามกลางปัญหาปากท้องที่หนักหนาสาหัสขึ้นทุกวัน สถานการณ์ศรีลังกาขณะนี้จำต้องจับตาอย่างใกล้ชิดอย่างน้อยก็เพื่อเป็นบทเรียนไม่ให้ประเทศอื่นก้าวบนเส้นทางเดียวกัน