'กูรู'หลายสำนักฟันธงเศรษฐกิจรัสเซียหดตัวแรงปีนี้

'กูรู'หลายสำนักฟันธงเศรษฐกิจรัสเซียหดตัวแรงปีนี้

'กูรู'หลายสำนักฟันธงเศรษฐกิจรัสเซียหดตัวแรงปีนี้ โดยกลุ่มนักคิดด้านการเงินระหว่างประเทศคาดการเปิดฉากทำสงครามกับยูเครนทำให้รัสเซียเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนกว่า 15%

การบุกรุกรานยูเครนของกองทัพรัสเซียเริ่มสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยนักเศรษฐศาสตร์จากหลายสำนักคาดการณ์ไปในทำนองเดียวกันว่าเศรษฐกิจรัสเซียจะหดตัวอย่างรุนแรง เพราะผลพวงการทำสงครามกับยูเครนที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะปิดฉากได้ในเร็ววัน        

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (พีเอ็มไอ) สำหรับรัสเซียของเอสแอนด์พี ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันศุกร์(1เม.ย.)ร่วงลงจาก 48.6 ในเดือนก.พ.มาอยู่ที่ 44.1 ในเดือนมี.ค.ส่วนโกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)รัสเซียจะหดตัว 10% ขณะที่สถาบันอินเตอร์เนชั่นแนล ไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นกลุ่มนักคิดด้านการเงินระหว่างประเทศคาดการณ์ว่าการเปิดฉากทำสงครามกับยูเครนจะทำให้รัสเซียเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนกว่า 15% 

เศรษฐกิจรัสเซียส่อเค้าว่าจะหดตัวอย่างรุนแรงในปีนี้ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะทะยานขึ้นอย่างมากและมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซียจากสหรัฐและพันธมิตรตะวันตกเริ่มส่งผล โดยกิจกรรมภาคการผลิตของรัสเซียในเดือนมี.ค.หดตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.ปี 2563 ซึ่งเป็นระยะเริ่มต้นที่โรคโควิด-19เริ่มแพร่ระบาด ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและความล่าช้าในการจัดส่งสินค้าล้วนเป็นปัจจัยที่สร้างแรงกดดันแก่โรงงานผลิตต่างๆ

ดัชนีพีเอ็มไอของรัสเซียที่เอสแอนด์พีจัดทำก็ตอกย้ำให้เห็นว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของรัสเซียหดตัวลงต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งถือว่าอยู่ในภาวะหดตัว สอดคล้องกับข้อมูลทางเศรษฐกิจของโกลด์แมน แซคส์ ที่คาดการณ์ว่าว่าจีดีพีในปีนี้ของรัสเซียจะหดตัว 10% เพราะผลผลิตต่างๆลดลง ออร์เดอร์สั่งซื้อสินค้าใหม่ๆก็ปรับตัวลง  โดยเฉพาะการส่งออกชิ้นส่วนใหม่ๆที่ลดลงอย่างมาก 

ในรายละเอียดบันทึกของเหล่านักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ของสถาบันการเงินชั้นนำต่างๆรวมถึง จากแคปิทัล อีโคโนมิคส์ คาดการณ์ว่า มาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกจะทำให้จีดีพีของรัสเซียหดตัว 12% ในปี 2565 ขณะที่คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อปีต่อปีจะมากกว่า23% 

ด้านธนาคารเพื่อการพัฒนาและการปรับโครงสร้างของยุโรป(อีบีอาร์ดี)คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจรัสเซียจะหดตัว10% ซึ่งถือเป็นการถดถอยทางเศรษฐกิจรุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 30 ปีโดยจีดีพีของประเทศในปีหน้าจะขยายตัวในระดับต่ำและเข้าสู่ช่วงการเติบโตของจีดีพีติดลบเป็นระยะเวลานาน

นอกจากโกลด์แมน แซคส์จะคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจรัสเซียจะหดตัว 10% แล้ว สถาบันการเงินระหว่างประเทศก็คาดการณ์ว่าจีดีพีรัสเซียปีนี้จะดิ่งลงมากถึง 15% ส่วนปีหน้าร่วงลงเพิ่มอีก 3%

นอกจากนี้ สหรัฐและยุโรปวางแผนดำเนินมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมแก่รัสเซียจากการสังหารพลเรือนยูเครน ขณะที่ ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนออกเตือนว่า อาจพบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นในพื้นที่ที่ถูกรัสเซียยึดครอง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กองทัพรัสเซียถอนกำลังออกจากเมืองทางตอนเหนือของกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากเปลี่ยนทิศทางการโจมตีไปยังทิศใต้และตะวันออกของประเทศ กองทัพยูเครนได้ยึดคืนเมืองที่ถูกโจมตีจากสงครามตลอด 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงเมืองบูชา (Bucha) และพบศพพลเรือนเกลื่อนถนน

สหรัฐระบุว่า จะผลักดันให้ขับรัสเซียออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) เหตุกรณีสังหารพลเรือนในเมืองบูชา พร้อมเสริมว่า การที่รัสเซียยังเป็นส่วนหนึ่งของยูเอ็นเอชซีอาร์เป็นเรื่องตลก

ขณะเดียวกัน “โอลาฟ โชลซ์” นายกรัฐมนตรีเยอรมนีกล่าวว่า ปธน.ปูตินและผู้สนับสนุน “จะได้รับรู้ถึงผลกระทบที่ตามมา” จากเหตุการณ์ในเมืองบูชา และชาติพันธมิตรตะวันตกจะเดินหน้าคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติมในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

“เจค ซัลลิแวน” ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐระบุว่า จะประกาศมาตรการการคว่ำบาตรชุดใหม่ต่อรัสเซียในสัปดาห์นี้ ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐระบุว่า ทางการสนับสนุนทีมอัยการและผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติเพื่อรวบรวมและวิเคราะห์หลักฐานการกระทำอันโหดร้ายป่าเถื่อนนี้

ส่วนความเคลื่อนไหวในตลาดพลังงานนั้น “โรเบิร์ต ฮาเบ็ค” รัฐมนตรีเศรษฐกิจของเยอรมนี เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (4 เม.ย.) ว่า บริษัทในเครือในเยอรมนีของบริษัทก๊าซพรอม ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของรัสเซียนั้น จะเข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจของหน่วยงานเครือข่ายของรัฐบาลกลางเยอรมนี

การตัดสินใจของเยอรมนีมีขึ้น 3 วัน หลังจากก๊าซพรอมประกาศว่า บริษัทจะถอนการดำเนินงานออกจากเยอรมนี ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศ เนื่องจากรัสเซียบังคับใช้สกุลเงินรูเบิลในการชำระค่าก๊าซ

ฮาเบ็ค แถลงว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างยิ่ง พร้อมเสริมว่า ก๊าซพรอม เจอร์เมเนีย (Gazprom Germania) ดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในเยอรมนี จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับอุปทานก๊าซ

ฮาเบ็ค เสริมว่า รัฐบาลกำลังทำสิ่งที่จำเป็นเพื่อรับประกันเสถียรภาพของอุปทานก๊าซในเยอรมนี

ทั้งนี้ ฮาเบ็คแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ทางกฎหมายที่ไม่ชัดเจนของบริษัทหลังรัสเซียตัดสินใจหยุดการดำเนินงาน พร้อมเรียกการเคลื่อนไหวดังกล่าวว่าเป็นการละเมิดข้อกำหนดการรายงานของกฎหมายการค้าต่างประเทศ