ดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น 103 จุดแม้ถูกกดดันจากตลาดพันธบัตร

ดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น 103 จุดแม้ถูกกดดันจากตลาดพันธบัตร

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันจันทร์(4เม.ย.)ปรับตัวขึ้น 103 จุด แม้ถูกกดดันจากภาวะ inverted yield curve ในตลาดพันธบัตร ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวเหนือพันธบัตรระยะยาว ซึ่งเป็นการบ่งชี้แนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวขึ้น 103.61 จุด หรือ 0.3% ปิดที่  34,921.88 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 0.81% ปิดที่ 4,582.64 จุด  และดัชนีแนสแด็ก บวก 1.9% ปิดที่ 14,532.55 จุด 

ทั้งนี้ ราคาหุ้นทวิตเตอร์ อิงค์พุ่งขึ้นกว่า 23% หลังจากที่ข้อมูลจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (กลต.) ระบุว่า นายอีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเทสลา อิงค์ ได้ถือครองหุ้นในบริษัททวิตเตอร์จำนวน 73,486,938 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 9.2% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท

การถือครองหุ้นดังกล่าว ซึ่งมีมูลค่ารวม 2.89 พันล้านดอลลาร์ หากคิดจากราคาปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ ทำให้นายมัสก์กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของทวิตเตอร์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกบริษัท

น่าสังเกตว่า นายมัสก์ได้เพิ่มการถือครองหุ้นในทวิตเตอร์ แม้ว่าเขาเพิ่งวิพากษ์วิจารณ์บริษัทเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ต่อการที่บริษัทละเมิดหลักการพื้นฐานในการแสดงความเห็นอย่างอิสระ

เมื่อพิจารณาการปรับตัวของตลาดหุ้นสหรัฐในไตรมาส 1/65 พบว่า ดัชนีดาวโจนส์และเอสแอนด์พี 500 ดิ่งลง 4.5% และ 4.9% ตามลำดับ ขณะที่แนสแด็ก ทรุดตัวลงกว่า 9% ซึ่งเป็นการปรับตัวย่ำแย่ที่สุดของดัชนีทั้ง 3 เมื่อเทียบรายไตรมาสนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2563 ซึ่งขณะนั้นโควิด-19 กำลังเริ่มแพร่ระบาดในสหรัฐ

ตลาดพันธบัตรสหรัฐยังคงเกิดภาวะ inverted yield curve ในวันนี้ ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนมี.ค.ในวันพุธ
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.432% ในวันนี้ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 3 ปี พุ่งขึ้นสู่ระดับ 2.61% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 2.549% โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรดังกล่าวอยู่สูงกว่าพันธบัตรอายุ 10 ปี ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.397% ขณะที่พันธบัตรอายุ 30 ปีอยู่ที่ระดับ 2.467%
ก่อนหน้านี้ ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve เมื่อวันศุกร์ หลังจากที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานต่ำกว่าคาด โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวเหนือพันธบัตรระยะยาว ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

นักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากการที่เฟดยังคงเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แม้สหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานที่ต่ำกว่าคาด

ก่อนหน้านี้ เหตุการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 5 ปีพุ่งขึ้นสูงกว่าพันธบัตรอายุ 30 ปีได้เกิดขึ้นในปี 2549 ก่อนที่จะเกิดวิกฤตการเงินทั่วโลกในอีกเพียงไม่กี่ปีถัดมา

ที่ผ่านมา ภาวะ inverted yield curve มักเกิดขึ้นจากการที่นักลงทุนพากันเทขายพันธบัตรระยะสั้น และเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาว ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในระยะสั้น