เงินเฟ้อตุรกีเดือน มี.ค. พุ่งทุบสถิติ 61.1%

เงินเฟ้อตุรกีเดือน มี.ค. พุ่งทุบสถิติ 61.1%

เงินเฟ้อตุรกีพุ่งทำสถิติใหม่ นักวิเคราะห์มองเป็นผลจากรัสเซียรุกรานยูเครน และนโยบายดอกเบี้ยแหวกแนวของประธานาธิบดี

สำนักงานสถิติแห่งชาติตุรกีเผยตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือน มี.ค. เพิ่มขึ้นเป็น 61.14% ต่อปี จาก 54.4% ในเดือน ก.พ.ราคาที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในเดือน มี.ค.เป็นค่าขนส่งและราคาอาหาร ซึ่งปัญหาสกุลเงินลีราอ่อนค่าและเงินเฟ้อสูงเป็นสาเหตุหลักให้ประชาชนไม่พอใจ ขณะที่ประธานาธิบดีเรเซป เตย์ยิป เออร์ดวนต้องลงเลือกตั้งในปี 2566

ทั้งนี้ เงินเฟ้อตุรกีเข้าสู่ระดับเลขสองหลักมาตั้งแต่ต้นปี 2560 แต่ตัวเลขล่าสุดสูงที่สุดนับตั้งแต่พรรครัฐบาล “ยุติธรรมและการพัฒนา” (เอเคพี) ครองอำนาจในปี 2545

ด้านค่าเงินลีราหลังจากตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดออกมายังทรงตัว ซื้อขายกันที่ 14.7 ลีราต่อดอลลาร์และ 16.2 ลีราต่อยูโร

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า สงครามในทะเลดำส่งผลกระทบหลักต่อประเทศ เนื่องจากรัสเซียเป็นซัพพลายเออร์พลังงานรายสำคัญ ส่วนยูเครนก็ส่งข้าวสาลีมาขาย การท่องเที่ยวตุรกีพึ่งพานักท่องเที่ยวรัสเซียเป็นหลัก

เมื่อวันศุกร์ (1 เม.ย.) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ “เอสแอนด์พี” ยังคงแนวโน้มเศรษฐกิจตุรกีเป็นลบพร้อมหั่นอันดับความน่าเชื่อถือ ระบุ “ความเสียหายจากความขัดแย้งทางทหารระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมถึงราคาอาหารและราคาพลังงานสูงขึ้น ยิ่งบั่นทอนการใช้จ่ายและเร่งให้เงินเฟ้อเลวร้ายลง”

ขณะที่นานาประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญเงินเฟ้อสูงเนื่องจากราคาพลังงานพุ่งในช่วงที่ผ่อนคลายข้อจำกัดคุมโควิด-19 แต่ปัญหาของตุรกียังเป็นผลมาจากแนวทางเศรษฐกิจแบบแหวกแนวของประธานาธิบดีเออร์ดวนด้วย

ผู้นำตุรกีปฏิเสธความคิดที่ว่าต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสู้เงินเฟ้อ ด้วยเชื่อว่าจะยิ่งทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น สวนทางกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิม

ทิโมธี แอช นักกลยุทธ์ตลาดเกิดใหม่ บริษัทบลูเบย์แอสเสทแมเนจเมนท์ กล่าวว่า นโยบายของธนาคารกลางตุรกีไม่ใช่แค่รับมือเงินเฟ้อไม่ได้ “แท้จริงแล้ว สิ่งที่คนส่วนใหญ่เห็นตรงกันคือนโยบายผิดธรรมเนียมของธนาคารกลางเป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดเงินเฟ้อ สงครามในยูเครนแค่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง”