'เทคโนโลยีสหรัฐ'ตัวช่วยตรวจสอบ-ติดตามแม่น้ำโขง

'เทคโนโลยีสหรัฐ'ตัวช่วยตรวจสอบ-ติดตามแม่น้ำโขง

ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ผันผวนเป็นความท้าทายต่อการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน รวมทั้งการรับมือกับความเสี่ยงจากระดับน้ำที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาล อันส่งผลต่อระบบนิเวศวิทยาโดยรวม

สหรัฐพัฒนาแพลตฟอร์ม Mekong Dam Monitor ซึ่งเป็นเทคโนโลยีภาพถ่ายทางดาวเทียม เพื่อติดตามและตรวจสอบระดับน้ำในเขื่อนต่างๆ ในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงจีน ประเทศที่มีเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่งและมีอิทธิพลต่อลำน้ำโขง

"ไบรอัน ไอเลอร์" ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของศูนย์สติมสัน (Stimson Center) และผู้เชี่ยวชาญด้านแม่น้ำโขง กล่าวในงานสัมมนาความร่วมมือแม่น้ำโขงระหว่างสหรัฐ - ไทย ในเรื่องสถานการณ์แม่น้ำโขงปัจจุบัน จัดโดยสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทยว่า มีประชากรกว่า 70 ล้านคนพึ่งพาลำน้ำโขงที่ไหนผ่าน 5 ประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ เวียดนาม ลาว เมียนมา ไทย และกัมพูชา ส่วนใหญ่ทำอาชีพประมงและการเกษตรที่จำเป็นต้องอาศัยสายน้ำแห่งนี้หล่อเลี้ยงชีวิต

*"Mekong Dam Monitor" ติดตามระดับน้ำโขง

ไบรอัน ได้เปิดข้อมูลการสำรวจของแพลตฟอร์ม Mekong Dam Monitor พบว่า มีเขื่อนริมลำน้ำโขงจำนวนมากทั้งที่อยู่ในจีน และลาว แค่เฉพาะจีนมีเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ 129 แห่งบนแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาต้นน้ำ รวมถึงเขื่อนขนาดใหญ่ 11 แห่ง และอีกอย่างน้อย 7 แห่งที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ขณะที่เขื่อนในลาวมี 5 แห่ง และอีกหนึ่งแห่งกำลังศึกษาเตรียมก่อสร้างที่ปากแบง แขวงอุดมไซ

 

\'เทคโนโลยีสหรัฐ\'ตัวช่วยตรวจสอบ-ติดตามแม่น้ำโขง

 

 

"เขื่อนดังกล่าวจะเก็บกักและปล่อยน้ำจำนวนมหาศาลก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง รวมถึงทะเลสาบโตนเลสาบของกัมพูชา 

ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดใหญ่ที่สุดในอาเซียน" ผอ.ศูนย์สติมสันกล่าวและเสริมว่า ระดับน้ำในลำโขงที่ผันผวนเป็นความท้าทายต่อการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน รวมทั้งคิดรับมือกับความเสี่ยงจากระดับน้ำที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาล อันส่งผลต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติ 

-“เขื่อนจีน”มีอิทธิพลต่อแม่น้ำโขง

ไบรอัน กล่าวว่า ข้อมูล Mekong Dam Monitor ยังบอกถึงระดับน้ำขึ้นหรือลงในแม่น้ำโขงที่อัพเดทเป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายปี พร้อมทั้งแสดงกราฟฟิกที่เห็นค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า ที่สำคัญสามารถเรียกเปิดดูข้อมูลได้ทั่วโลก 

 

\'เทคโนโลยีสหรัฐ\'ตัวช่วยตรวจสอบ-ติดตามแม่น้ำโขง

 โดยข้อมูลศูนย์สติมสันแจ้งว่า ในช่วงเช้าของวันที่ 3 เมษายน 2565 เขื่อนต้นน้ำในจีนได้กักเก็บน้ำกะทันหัน ทำให้ระดับแม่น้ำในเชียงแสน ประเทศไทย ลดลง 0.50 เมตร

เขื่อนของจีน 2 แห่งที่มีขนาด 1แสนลูกบาศก์กิโลเมตรในช่วงฤดูฝนที่ผลิตไฟฟ้าคือ เขื่อนเชี่ยวหลาน เป็นเขื่อนใหญ่อันดับสองของแม่น้ำโขง และเขื่อนนั่วจาตู หนึ่งในเขื่อนใหญ่ที่สุดในโลก ที่จะกักเก็บน้ำไว้ 20% ในช่วงฤดูฝน นอกจากนี้ยังมีเขื่อนสำคัญๆ อย่างเขื่อนจิ่งหง เป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ตั้งอยู่ห่างจาก อ.เชียงแสนไปทางทิศเหนือประมาณ 400 กิโลเมตร มีอิทธิพลต่อระดับน้ำโขงที่ไหลผ่านไทย
 

\'เทคโนโลยีสหรัฐ\'ตัวช่วยตรวจสอบ-ติดตามแม่น้ำโขง ไบรอัน กล่าวด้วยว่า แนวทางการบริหารจัดการแม่น้ำโขงที่ดีที่สุดต้องได้รับหารือกับจีน และสิ่งสำคัญ ไทย ลาว เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม ต้องมีข้อมูลระดับน้ำในแต่ละช่วงเวลา และพื้นที่ที่ชัดเจนนำมาใช้อ้างอิงสู่ความร่วมมือและปฏิบัติที่ดี

*“สหรัฐ” สร้างความเป็นหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง

สหรัฐมีกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐ (Mekong-U.S. Partnership) ประกอบด้วยสมาชิกได้แก่ สหรัฐกัมพูชาลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม มุ่งยกระดับการสนับสนุนความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจ ธรรมาภิบาล และการเติบโตที่ยั่งยืนในประเทศภาคีลุ่มน้ำโขง โดยตระหนักว่าการส่งเสริมคุณค่าเหล่านี้สำคัญต่อเอกภาพและประสิทธิภาพของอาเซียนด้วย

สหรัฐสนับสนุนให้นักวิจัยในพื้นที่แถบลุ่มแม่น้ำโขงแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการไหลของน้ำ เช่น โครงการ SERVIR-Mekong ซึ่งเป็นความริเริ่มระหว่างองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา สำนักงานภาคพื้นเอเชีย (USAID) และองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NASA) โดยโครงการดังกล่าวจะใช้ข้อมูลดาวเทียมที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้  ในการส่งเสริมให้รัฐบาลของประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างลดความเปราะบางต่อสถานการณ์ภัยแล้ง อุทกภัย และการแย่งชิงทรัพยากรน้ำซึ่งรุนแรงขึ้นเพราะเขื่อนต้นน้ำ 

 

\'เทคโนโลยีสหรัฐ\'ตัวช่วยตรวจสอบ-ติดตามแม่น้ำโขง

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เปิดตัวระบบคลังข้อมูลเพื่อการเตือนภัยแล้งล่วงหน้า (Drought Early Warning portal) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ MRC และโครงการ SERVIR-Mekong ร่วมกันพัฒนาขึ้น เพื่อให้ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างนำไปใช้เป็นระบบการแจ้งเตือนล่วงหน้าสำหรับการพยากรณ์และติดตามภัยแล้งในภูมิภาค

*“แม่น้ำโขง” ประเด็นละเอียดอ่อนระหว่างประเทศ

"ชุมลาภ เตชะเสน" ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สถานการณ์แม่น้ำโขงเป็นประเด็นละเอียดอ่อนระหว่างประเทศ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำโขงในปัจจุบันมี 2 ลักษณะคือ ทางธรรมชาติ และทางกายภาพที่มาจากการก่อสร้างเขื่อนต้นน้ำ การพัฒนาเมือง และที่ดินริมชายฝั่งน้ำโขง ส่งผลให้คุณภาพและระดับน้ำเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงวงจรชีวิตของปลาและนกไม่เหมือนเดิม 

เมื่อปี 2559 ได้จัดตั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง– ล้านช้าง (MLC) ประกอบด้วย 6ประเทศได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีน หารือแนวทางพัฒนากฎระเบียบทางเทคนิคนำไปใช้ร่วมกัน ที่ต้องคำนึงถึงปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม มาถึงปัจจุบันเป็นเรื่องต่อยอดและพัฒนาศักยภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่การดูแลรักษาแม่น้ำโขง 

*เคารพอธิปไตยประเทศแถบ “ลุ่มน้ำโขง”

“เราต่างรู้ว่าไม่มีสิทธิขัดขวางการดำเนินงานของประเทศใด และเป็นสิทธิทางอธิปไตยของแต่ละประเทศ แต่สมาชิก MLC สามารถหาแนวทางการพัฒนาร่วมกัน และเรียนรู้การปรับตัวต่อสถานการณ์ปัจจุบัน” ชุมลาภกล่าวและระบุว่า เรามีการแลกเปลี่ยนข้อมูลแม่น้ำโขง (Data Sharing) ในกรอบความร่วมมือนี้ เพื่อขจัดข้อสงสัยต่อการบริหารจัดการของเขื่อนต่างๆ รวมถึงรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มุ่งสร้างความเข้าใจที่ดีร่วมกันของประเทศสมาชิก

ชุมลาภกล่าวในตอนท้ายว่า สิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้คือความสำเร็จที่สามารถนำจีนมาร่วมวงปรึกษาหารือสถานการณ์แม่น้ำโขง และร่วมแบ่งปันข้อมูล เช่น แจ้งตารางเปิด-ปิดประตูน้ำของเขื่อนล่วงหน้า เพื่อตั้งข้อสังเกตผลกระทบทางน้ำในแม่น้ำโขง นำไปสู่การบริหารจัดการและอนุรักษ์ระบบนิเวศแม่น้ำโขงร่วมกัน