จับเทรนด์เมตาเวิร์สโลก-ผู้บริหารเชื่อดีต่อองค์กร

จับเทรนด์เมตาเวิร์สโลก-ผู้บริหารเชื่อดีต่อองค์กร

เมตาเวิร์สเป็นแนวคิดที่เคยอยู่ในนิยายวิทยาศาสตร์ แต่ตอนนี้กลายเป็นเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุดสร้างความตื่นเต้นให้กับนักลงทุนทั่วโลก ด้วยความพยายามสร้างโลกเสมือนสามมิติเน้นการเชื่อมต่อทางสังคม ที่จะกลายเป็นโลกเสมือนสากลหนึ่งเดียวในที่สุด

เมตาเวิร์สโซลแห่งแรกของโลก

เว็บไซต์ blockworks.co รายงานถ้อยแถลงเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ ข่าวสาร และเทคโนโลยีการสื่อสารเกาหลีใต้ เตรียมทุ่มงบประมาณไม่น้อยกว่า 186.7 ล้านดอลลาร์ สร้างอีโคซิสเต็มเมตาเวิร์ส ส่วนหนึ่งของนโยบาย “ดิจิทัลนิวดีล” เพื่อช่วยสร้างเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลที่เพิ่งเกิดขึ้นอย่างเมตาเวิร์สและแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์

พัก ยุงยู หัวหน้าฝ่ายสื่อสารและนโยบายของกระทรวงกล่าวว่า การสร้างอีโคซิสเต็มเมตาเวิร์สระดับเวิลด์คลาสมีความสำคัญในฐานะจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องใช้การเชื่อมต่อกันสูงมาก

โดยเฉพาะกรุงโซลที่จะเดินหน้าสู่เมตาเวิร์ส ด้วยความหวังกลายเป็นแพลตฟอร์มส่งเสริมอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจให้เติบโต เมตาเวิร์สมีแนวโน้มสร้างงานได้ถึง 1.5 ล้านอัตรา เกาหลีใต้วางแผนผลิตมืออาชีพกว่า 40,000 คน เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้โดยเฉพาะ

ก่อนหน้านั้นในเดือน ม.ค. รัฐบาลเกาหลีใต้เคยให้คำมั่นว่าจะทำเกาหลีใต้ให้กลายเป็นตลาดเมตาเวิร์สใหญ่สุดอันดับห้าของโลกภายในปี 2569

ในความพยายามผลักดันประเทศเป็นตลาดเมตาเวิร์สระดับท็อปของโลก เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลกรุงโซลมหานครประกาศต้องการสร้าง “เมตาเวิร์สโซล” ภายในปี 2566 ประชาชนสามารถร้องเรียนและปรึกษาหารือทางแพ่งได้แบบเสมือนจริง แค่ใส่แว่นวีอาร์ประชาชนก็สามารถใช้อวตาร์ไปเยือนศาลาว่าการเสมือนไม่ต้องไปด้วยตนเอง โอ เซฮุน ผู้ว่าการกรุงโซลกล่าวว่า โซลจะเป็นเมืองแรกที่เข้าสู่เมตาเวิร์ส 

จีนเน้นกฎระเบียบ

แม้กระแสความคลั่งไคล้เมตาเวิร์สจะมาจากโลกตะวันตก แต่ความสนใจในโลกตะวันออกก็เพิ่มมากขึ้นทุกขณะ อย่างในจีนหลายสิบบริษัทประกาศตัวว่ากำลังสร้างอาณาจักรดิจิทัลแห่งอนาคต กระนั้นนักวิเคราะห์มองว่า ถนนสายนี้ไม่ราบรื่นอุปสรรคด้านข้อกฎหมายรออยู่มากมาย

เว็บไซต์ techwireasia.com รายงานว่าสำหรับจีนในช่วงแรก แม้ความพยายามด้านเมตาเวิร์สจะตามหลังประเทศอย่างสหรัฐและเกาหลีใต้ เนื่องจากยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีในประเทศลงทุนน้อยกว่า แต่ความสนใจเริ่มพุ่งสูงขึ้นมาก เฉพาะในปี 2564 ปีเดียว บริษัทจีนกว่า 1,000 แห่งรวมถึงรุ่นใหญ่อย่างอาลีบาบากรุ๊ปโฮลดิงและเทนเซ็นต์โฮลดิงส์ยื่นขอทะเบียนการค้าเกี่ยวกับเมตาเวิร์สราว 10,000 รายการ

เดือน พ.ย.2564 จีนตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมเมตาเวิร์ส ถือเป็นก้าวแรกในการพัฒนาอุตสาหกรรมโลกเสมือนจริงให้มีคุณภาพและยั่งยืนภายใต้การกำกับดูแลของสมาคมสื่อสารและโทรศัพท์เคลื่อนที่จีน (ซีเอ็มซีเอ)

หากมองทั้งอุตสาหกรรมในภาพรวม มอร์แกนสแตนลีย์รายงานนักลงทุนเมื่อเดือน ม.ค.ว่า ตลาดโลกเสมือนของจีนอาจมีมูลค่าถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์ บริษัทที่จะเป็นตัวขับเคลื่อน เช่น ติ๊กต๊อก, ไบต์แดนซ์, อาลีบาบา และเทนเซ็นต์ กระนั้นบริษัททั้งหลายยังรอดูท่าทีคณะกรรมการกำกับดูแล

ถึงจุดนี้ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า เมตาเวิร์สที่ยังอ่อนวัยของจีนเปิดโอกาสให้รัฐบาลปักกิ่งทำความเข้าใจและวางแผนสร้างความสมดุลระหว่างการใช้กฎระเบียบควบคุมกับความเสี่ยงขัดขวางนวัตกรรม

ประเด็นนี้เห็นได้ชัดเจนนับตั้งแต่เมตาเวิร์สเป็นที่พูดถึงกันมากในเวลาที่จีนใช้ระเบียบจัดการภาคเทคโนโลยีและอื่นๆ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ช่วงเริ่มต้นอุตสาหกรรมเกมที่ถูกมองว่าเป็นเทคโนโลยีเกตเวย์เข้าสู่โลกเสมือน ถูกควบคุมเข้มงวดขึ้น ด้วยเหตุนี้แม้จะวางแผนมาแล้วบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ยังลังเลจะรุกเข้าสู่ทิศทางใหม่เร็วเกินไป ด้วยไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากรัฐบาลปักกิ่งจะเล่นงาน

เพื่อไม่สร้างปัญหานักสังเกตตลาดยอมรับว่าอุตสาหกรรมเมตาเวิร์สของจีนจะไม่รวมถึงคริปโทเคอร์เรนซี การกระจายศูนย์กลาง หรือสินทรัพย์ทางการเงินเมื่อดูจากการปราบปรามในอดีต

 ฟาง กวงเจา นักวิเคราะห์จากไค่หยวน ซีเคียวริตีส์ เชื่อว่า แนวคิดเมตาเวิร์สใหญ่โตมาก การสร้างเศรษฐกิจและโครงสร้างกระจายอำนาจอาจเผชิญความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบ

ตามข้อเท็จจริงรายงานข่าวในสื่อท้องถิ่นชี้ว่า คณะกรรมการกำกับดูแลในเซี่ยงไฮ้เริ่มค้นหาสัญญาณการใช้โลกเสมือนฉ้อโกงเงินกันแล้ว แอนดี ม็อก นักวิจัยอาวุโสรับเชิญจากศูนย์เพื่อจีนและโลกาภิวัตน์กล่าวว่า เมตาเวิร์สอาจเป็นตลาดใหญ่ในอนาคต แม้แนวคิดบางอย่างยังคลุมเครือ “แต่ทางการจีนกำลังเดินหน้าร่างกรอบกฎระเบียบสำหรับเมตาเวิร์ส ปีก่อนเริ่มใช้กฎหมายความมั่นคงด้านข้อมูลแล้ว”

ยูเค-ฝรั่งเศสสนใจเมตาเวิร์ส

เมื่อใครๆ ต่างยกย่องเมตาเวิร์สว่าเป็น “เทคโนโลยีปฏิวัติ” ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต่างกระหายใคร่รู้เกี่ยวกับแนวคิดนี้มากขึ้น ผลการวิจัยใหม่ชี้ว่า ประชาชนในสหราชอาณาจักร (ยูเค) อยากรู้เรื่องเมตาเวิร์สมากที่สุดในทวีปยุโรป 

 แนวคิดเมตาเวิร์สโดดเด่นมากในปีที่ผ่านมา เมื่อเฟซบุ๊ครีแบรนด์เป็น “เมตา” หรือบริษัทเมตาเวิร์ส บริษัทใหญ่หลายแห่งทุ่มเทงบประมาณเตรียมการสำหรับเมตาเวิร์สของตนเองด้วย

เมื่อกระแสมาแรงแบบนี้จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่แนวคิดเมตาเวิร์สจะเรียกความสนใจจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลก สำหรับในยุโรป เว็บไซต์ consultancy.uk รายงานว่า ประชาชนในฝรั่งเศสและยูเค อยากรู้มากที่สุดว่าเมตาเวิร์สคืออะไร มีความหมายต่ออนาคตของพวกเขาอย่างไร

ผลการสำรวจของ Walkme.com พบว่า ฝรั่งเศสครองอันดับหนึ่ง ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในฝรั่งเศสทุกๆ 1 ล้านคน ค้นหาเมตาเวิร์ส 1,020 คน ถัดมาคือผู้ใช้ในยูเค 942 ต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 1 ล้านคน ตามด้วยสวิตเซอร์แลนด์ 831 เยอรมนี 778 เบลเยียม 659 ไอร์แลนด์ 398 โปรตุเกส 344 เนเธอร์แลนด์ 340 อิตาลี 326 สวีเดน 304 

อย่างไรก็ตาม คนที่ค้นหาเมตาเวิร์สในยูเคมีแนวโน้มค้นหาข้อมูลเรื่องนี้ซ้ำๆ มากกว่า ค่าเฉลี่ยการค้นหาทางออนไลน์หัวข้อเมตาเวิร์สต่อเดือนในยูเคอยู่ที่ 61,220 ส่วนในฝรั่งเศสต่ำกว่าที่ 60,640 นี่แสดงให้เห็นว่า คนที่มองหาเรื่องนี้ในยูเคอาจมุ่งมั่นมากกว่าในการสำรวจแนวคิดเมตาเวิร์ส เพราะพวกเขาตื่นเต้นหรือกังวลถึงผลกระทบของเทคโนโลยีเมตาเวิร์สที่มีต่อสังคม ซึ่งงานวิจัยไม่ได้จำแนกระหว่างการค้นหาทางบวกและทางลบ

ล่าสุดเว็บไซต์ weforum.org รายงานเมื่อวันที่ 23 มี.ค. ถึงเทรนด์เมตาเวิร์สประจำสัปดาห์ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เมตาแพลทฟอร์มสเจ้าของเฟซบุ๊คเพิ่งสาธิตบอตเอไอรุ่นใหม่ ที่เปิดให้ผู้ใช้เพิ่มองค์ประกอบในพื้นที่เสมือนได้แค่สั่งการด้วยเสียง

เมตากล่าวว่า การสร้างเมตาเวิร์สจำเป็นต้องใช้การปฏิวัติด้านคอมพิวเตอร์ กระบวนการง่ายๆ สำหรับสร้างพื้นที่เสมือนจะช่วยเร่งการพัฒนาเมตาเวิร์สซึ่งนั่นคือสิ่งที่เมตาและบริษัทอื่นๆ พยายามสร้างสรรค์

ด้านแอคเซนเจอร์ (Accenture) บริษัทที่ปรึกษาใหญ่ระดับโลก เผยรายงาน “วิสัยทัศน์เทคโนโลยี 2022 - พบฉันในเมตาเวิร์ส” กล่าวว่า ประสบการณ์วีอาร์ (Virtual Reality) และเออาร์ (Augmented Reality) รุ่นใหม่ๆ จะปรับโฉมสินค้าและบริการที่บริษัทนำเสนอ รวมถึงการผลิต จัดจำหน่าย และการบริหารองค์การ

ผู้บริหารทั่วโลก 71% กล่าวว่า เมตาเวิร์สจะส่งผลบวกต่อองค์กรของตน 42% เชื่อว่า ผลบวกดังกล่าวจะเป็นการสร้างสิ่งใหม่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนหรือการแปลงโฉมองค์กร

ความน่าสนใจอีกหนึ่งเรื่อง เอชเอสบีซีกำลังซื้อที่ดินเสมือนหนึ่งแปลงในเกมออนไลน์ The Sandbox ด้วยมูลค่าไม่เปิดเผย ถือเป็นการรุกเข้าสู่เมตาเวิร์สครั้งแรกหลังลดจำนวนสาขาในยูเค

การเข้าสู่โลกดิจิทัลจะทำให้เอชเอสบีซีเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับแฟนกีฬา อีสปอร์ต และเกมมากขึ้นผ่านที่ดินใน The Sandbox พื้นที่เสมือนที่แอนิโมกาแบรนด์สในฮ่องกงเป็นเจ้าของส่วนใหญ่

การเข้าไปลองในโลกเสมือนเกิดขึ้นในช่วงที่ธนาคารอังกฤษรายนี้ลดสาขาในโลกจริง คำประกาศเมื่อวันที่ 22 มี.ค. ระบุว่า จะลดสาขาในอังกฤษเพิ่มอีก 69 สาขาเนื่องจากลูกค้าหันไปใช้บริการออนไลน์

เอชเอสบีซีถือเป็นธนาคารใหญ่ระดับโลกรายที่ 2 ที่ลงทุนในแพลตฟอร์มเมตาเวิร์ส ถัดจากเจพีมอร์แกนที่เดือนก่อนเข้าไปเปิดเลาน์จในห้างเสมือนของ Decentraland มีภาพ เหมือนดิิจิทัลของเจมี ไดมอน ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารปรากฏอยู่ด้วย ก่อนหน้านั้นไม่นานในเดือน ก.พ. ธนาคารสหรัฐรายนี้เพิ่งออกรายงาน “โอกาสในเมตาเวิร์ส”

เป็นที่น่าสังเกตว่า การพูดคุยถึงเมตาเวิร์สช่วงแรกๆ มักเป็นเรื่องที่ดินหรู การชอปปิงเสมือนระดับไฮเอนด์ และอีเวนต์ที่เข้าไปสัมผัสประสบการณ์ลึกซึ้งได้ ตอนนี้สตาร์ทอัพญี่ปุ่นรายหนึ่งกำลังสร้างเมตาเวิร์สที่ให้ประสบการณ์แบบรู้สึกได้ รวมถึงเปิดให้ผู้ใช้รู้สึกเจ็บปวดได้ด้วย

รายงานข่าวจากไฟแนนเชียลไทม์ส อ้างคำพูดของเอมิ ทามากิ ผู้บริหารเอชทูแอล ผู้สร้างเครื่องมือเปิดให้ผู้ใช้เมตาเวิร์สรู้สึกถึงการมีอยู่และน้ำหนักของวัตถุเสมือนได้

“ความรู้สึกเจ็บปวดทำให้เราเปลี่ยนโลกเมตาเวิร์สเป็นโลกจริง ด้วยการเพิ่มความรู้สึกของการดำรงอยู่และการเข้าไปดื่มด่ำกับเหตุการณ์นั้นๆ”

นี่คือส่วนหนึ่งของเทรนด์เมตาเวิร์สโลกที่นับวันจะยิ่งใกล้โลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้นทุกที