คว่ำบาตรทำพิษ! ชาวรัสเซียแห่ซื้อยานอนหลับ-ต้านเศร้า

คว่ำบาตรทำพิษ! ชาวรัสเซียแห่ซื้อยานอนหลับ-ต้านเศร้า

ข้อมูลชี้ นับตั้งแต่เริ่มความขัดแย้งกับยูเครน ชาวรัสเซียเร่งตุนยาต้านเศร้า ยานอนหลับ ยาคุมกำเนิดนอกเหนือจากยาอื่นๆ แค่สองสัปดาห์มูลค่าการซื้อเท่ากับหนึ่งเดือน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน แม้ผลสำรวจความคิดเห็นของทางการระบุว่า ชาวรัสเซียส่วนใหญ่สนับสนุนการตัดสินใจของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ในการส่งทหารหลายหมื่นนายเข้าไปในยูเครน แต่ข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย การสัมภาษณ์ และข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ ชี้ว่า ชาวรัสเซียหลายคนหดหู่จากการที่มอสโกถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรรุนแรงเพื่อบีบให้ถอนทหารออกไป

แบรนด์ต่างชาติหลายแบรนด์ประกาศระงับปฏิบัติการหรือออกจากรัสเซียไปเลย ค่าเงินรูเบิลร่วงหนักเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ราคาสินค้าจำเป็นพุ่งสูงตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. ตอนที่ประธานาธิบดีปูตินประกาศ “ปฏิบัติการพิเศษ” ในยูเครน

เมื่อวันพฤหัสบดี (24 มี.ค.) หนังสือพิมพ์รายวัน Vedomosti เผยแพร่ข้อมูลรวบรวมโดยบริษัทวิเคราะห์ดีเอสเอ็มกรุ๊ป พบว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-13 มี.ค. ชาวรัสเซียซื้อยาในร้านขายยา 270.5 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่า 9.86 หมื่นล้านรูเบิล (1.04 หมื่นล้านดอลลาร์) เกือบเท่ากับยอดขายเดือน ม.ค. ทั้งเดือน ที่ชาวรัสเซียซื้อยาในร้านขายยา 288 ล้านรายการ มูลค่า 1 แสนล้านรูเบิล

ข้อมูลล่าสุดซึ่งไม่ระบุชื่อแบรนด์เฉพาะพบว่า ความต้องการยาผลิตในต่างประเทศเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับความต้องการยาผลิตในรัสเซียก็เพิ่มขึ้นด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการยาต้านเศร้า ยานอนหลับ อินซูลิน ยามะเร็งและหัวใจ ฮอร์โมน และยาคุมกำเนิดเพิ่มขึ้นมาก

“เป็นเพราะความกลัว อย่างแรกเลยคือกลัวว่าทุกอย่างจะแพงขึ้น อย่างที่ 2 กลัวว่ายาที่จำเป็นจะไม่มีขาย ความกลัวเหล่านี้ทำให้ผู้คนออกมาต่อแถวหน้าร้านยาแล้วซื้อทุกอย่าง” เซอร์เก ชุลยัค ผู้อำนวยการดีเอสเอ็มกรุ๊ป บริษัทผู้รวบรวมข้อมูลให้ความเห็นกับรอยเตอร์

ชุลยัคเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “หวาดผวา” (hysteria) ตอนนี้ยาบางชนิดขาดแคลนแต่เขาคาดว่า อีกสักพักสถานการณ์จะเข้าที่เมื่อผู้ผลิตรัสเซียสามารถผลิตยาสามัญได้ และผู้ผลิตยาต่างชาติเดินหน้าจัดหาให้รัสเซียได้ต่อไป แม้ว่าตอนนี้สินค้าขายกันในราคาสูงขึ้นก็ตาม

อย่างไรก็ดี เขาเตือนว่าความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกที่ย่ำแย่ลง หมายถึงผู้ผลิตยาชาวรัสเซียกำลังมีปัญหาขาดส่วนผสมที่จำเป็นในการผลิตยา

ขณะที่ชาวรัสเซียบางคนกล่าวว่า พวกเขาไม่สะทกสะท้านกับความตื่นตระหนก

“ก็อาจจะมีความขาดแคลนบ้างโดยเฉพาะยานำเข้า แต่ผมเชื่อว่าเดี๋ยวยาก็มา เพราะการเมืองก็คือการเมือง เศรษฐกิจก็คือเศรษฐกิจ ผู้ผลิตยาทุกรายอยากขายของ ทุกรายอยากได้กำไร เดี๋ยวยาทั้งหมดก็กลับมาใหม่”วลาดิมีร์ ชาวกรุงมอสโกให้ความเห็น