จับตาพลังงานรัสเซียหลังบ.น้ำมันแห่เลิกสั่งซื้อ

จับตาพลังงานรัสเซียหลังบ.น้ำมันแห่เลิกสั่งซื้อ

จับตาพลังงานรัสเซียหลังบ.น้ำมันแห่เลิกสั่งซื้อ โดยรัสเซียยังคงส่งน้ำมันดิบมาให้บริษัทในญี่ปุ่นจนถึงเดือนก.พ.แต่หลังจากนั้นบริษัทญี่ปุ่นได้สั่งซื้อน้ำมันจากบริษัทในตะวันออกกลางแทน

อิเดมิตสึ ( Idemitsu)และอีเนออส(Eneos) สองบริษัทน้ำมันชั้นนำของญี่ปุ่นยุติการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียโดยให้เหตุผลด้านปัญหาการขนส่ง ข้อกังวลเกี่ยวกับการจ่ายเงินและเจอแรงกดดันจากผู้บริโภค ขณะรองนายกฯรัสเซีย เตือนตลาดพลังงานโลกอาจล่มสลาย หากเดินหน้าคว่ำบาตรน้ำมัน-ก๊าซจากรัสเซีย ส่วน“ปูติน” ปรับกฎใหม่ ประเทศที่ไม่เป็นมิตรกับรัสเซียต้องจ่ายค่าก๊าซที่ซื้อจากรัสเซียด้วยเงินรูเบิลเท่านั้น

การเคลื่อนไหวของบริษัทน้ำมันชั้นนำทั้งสองแห่งของญี่ปุ่น มีขึ้นหลังจากหมดสัญญาสั่งซื้อน้ำมันจากรัสเซีย ประกอบกับมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของบรรดาประเทศตะวันตกทำให้บริษัทญี่ปุ่นต้องเลือกข้างยุติการทำธุรกิจกับบริษัทน้ำมันรัสเซียด้วยโดยโฆษกบริษัทอิเดมิตสึ เปิดเผยกับเว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียว่า ที่ต้องตัดสินใจเลิกนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเพราะกังวลเรื่องการขนส่งและการจ่ายเงินค่าสินค้าที่จะมีปัญหายุ่งยากตามมา      

โฆษกบริษัทน้ำมันชั้นนำของญี่ปุ่น เปิดเผยด้วยว่า บริษัทนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียโดยรวมในช่วงเดือนเม.ย.และพ.ย.ปีที่แล้วในสัดส่วน 4%    

ส่วนบริษัทอีเนออสตัดสินใจทำข้อตกลงซื้อน้ำมันดิบรอบใหม่กับรัสเซียนับตั้งแต่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน โดย“สึโทมุ ซูกิโมริ” ประธานบริษัทกล่าวว่า มีบริษัทจำนวนมากยุติการทำธุรกิจกับรัสเซียเพราะปัญหาความยุ่งยากในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งได้รับแรงกดดันจากบรรดาผู้บริโภค

“รัสเซียยังคงส่งน้ำมันดิบมาให้บริษัทในญี่ปุ่นจนถึงเดือนก.พ.แต่หลังจากนั้นบริษัทได้สั่งซื้อน้ำมันจากบริษัทในตะวันออกกลางแทน”ซูกิโมริ กล่าว

กระทรวงอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ระบุว่า ญี่ปุ่นนำเข้าน้ำมันดิบในเดือนม.ค.ในปริมาณ 13.3 ล้านกิโลลิตร ในปริมาณนี้ 4.3% เป็นการนำเข้าจากรัสเซีย และกว่า90% เป็นการนำเข้าจากตะวันออกกลางซึ่งญี่ปุ่นพยายามสร้างความหลากหลายในการนำเข้าน้ำมันเพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง

การระงับการนำเข้าน้ำมันดิบของบริษัทพลังงานญี่ปุ่น มีขึ้นหลังจาก “อเล็กซานเดอร์ โนวัครองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย เตือนว่า ตลาดพลังงานโลกอาจล่มสลาย หากประเทศต่างๆออกมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันและก๊าซจากรัสเซีย

“รัสเซียเป็นผู้จัดส่งพลังงานรายใหญ่ที่สุดของโลก มีสัดส่วนในตลาดโลกราว 40% โดยตลาดน้ำมันและก๊าซของโลกจะล่มสลาย หากรัสเซียไม่สามารถส่งออกไฮโดรคาร์บอนเนื่องจากถูกคว่ำบาตร” โนวัค กล่าว

โนวัค กล่าวด้วยว่า สหภาพยุโรป(อียู)ที่กำลังเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของราคาและการขาดแคลนพลังงาน ได้ระงับท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีม 2 เมื่อเผชิญกับแรงกดดันจากสหรัฐ ทำให้ในช่วงปีที่ผ่านมาราคาไฟฟ้าในยุโรปเพิ่มขึ้นสิบเท่า ขณะที่ราคาก๊าซเพิ่มขึ้น 5 เท่า

รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย กล่าวด้วยว่า ณ จุดหนึ่งราคาของก๊าซจะพุ่งขึ้นไปถึง 4,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1,000 ลูกบาศก์เมตร และนี่ไม่ใช่ราคาที่สูงที่สุด

อียู กำลังพิจารณาขยายมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียให้รวมถึงการห้ามนำเข้าไฮโดรคาร์บอน แต่บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของอียูยังคงไม่สามารถได้ข้อสรุปในประเด็นดังกล่าว

ด้านประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เปลี่ยนกฎการขายก๊าซให้ต่างประเทศ โดยกำหนดให้ประเทศที่ไม่เป็นมิตรกับรัสเซียต้องจ่ายค่าก๊าซที่ซื้อจากรัสเซียด้วยเงินรูเบิล พร้อมทั้งบอกว่า ที่ผ่านมา ชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมกับรัสเซีย และยังสั่งอายัดทรัพย์สินของรัสเซีย ซึ่งทำให้สกุลเงินของชาติตะวันตกขาดความน่าเชื่อถือในการทำธุรกิจกับรัสเซีย

ผู้นำรัสเซียยืนยันว่ารัสเซียจะยังคงขายก๊าซธรรมชาติตามสัญญาที่เคยทำไว้ก่อนหน้านี้ โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงแค่สกุลเงินที่ใช้ในการชำระเงิน ซึ่งก็ได้ออกคำสั่งไปยังธนาคารกลางของรัสเซียให้รีบดำเนินการในการเปลี่ยนแปลงการชำระเงินให้เป็นสกุลเงินรูเบิลให้เร็วที่สุด และให้เวลา 1 สัปดาห์ในการดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าผลจากการตัดสินใจนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง แต่ที่ผ่านมา มูลค่าเงินรูเบิลลดลงเรื่อยๆ จนทำให้ธนาคารกลางรัสเซียต้องเข้ามาควบคุม ห้ามประชาชนซื้อเงินดอลลาร์ ขณะที่หลายประเทศกังวลว่ารัสเซียอาจผิดนัดชำระหนี้ แต่รัสเซียยืนยันว่ามีเงินชำระหนี้ แต่อาจจะต้องชำระเป็นเงินสกุลรูเบิล

ด้าน“รี ชาง-ยอง” ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการเอเชียแปซิฟิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนว่า วิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน กำลังสร้างความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจเอเชีย และซ้ำเติมผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน รวมถึงแนวโน้มด้านนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น

“เรากำลังประเมินผลกระทบในหลาย ๆ ด้าน แต่ในขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัด เนื่องจากสถานการณ์ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่มาก” รี กล่าว

รี ให้ความเห็นว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมัน เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดต่อเศรษฐกิจเอเชีย และระยะเวลาของความขัดแย้งครั้งนี้จะส่งผลต่อความผันผวนของราคาน้ำมัน ซึ่งอาจกระทบเศรษฐกิจเอเชียอย่างมาก

รี กล่าวว่า อินโดนีเซียที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์หลายประเภทอาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ไม่มากนัก ในขณะที่เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และอินเดียที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันอย่างมากอาจได้รับผลกระทบเชิงลบได้

รี แนะนำให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียลดการอุดหนุนราคาน้ำมัน เนื่องจากนโยบายดังกล่าวมักเป็นประโยชน์ต่อประชากรกลุ่มรายได้สูงที่บริโภคน้ำมันมาก โดยแสดงความเห็นว่า รัฐบาลต่าง ๆ ควรปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อสนับสนุนครัวเรือนที่มีฐานะยากจน ซึ่งต้องเผชิญปัญหาราคาอาหารที่สูงขึ้นจากวิกฤตครั้งนี้