สรุปความเสียหาย '1 เดือนสงครามรัสเซียในยูเครน' ยังไม่มีวี่แววจบ

สรุปความเสียหาย '1 เดือนสงครามรัสเซียในยูเครน' ยังไม่มีวี่แววจบ

สงครามของรัสเซียในยูเครนที่ล่วงเลยมาถึงหนึ่งเดือน ประชาชนเสียชีวิตหลายพันคน ผู้ลี้ภัยพลัดถิ่นหลายล้านคน บ้านเมืองเสียหายมหาศาล แต่กองทัพรัสเซียยังเผชิญแรงต้านจากประชาชนยูเครน ความขัดแย้งนี้จะจบลงเมื่อใดยังไม่เห็นวี่แวว

จุดเริ่มต้น

เว็บไซต์อัลจาซีรารายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย รุกรานยูเครนเต็มรูปแบบ เป็นการสู้รบครั้งใหญ่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และมีโอกาสบานปลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ถ้าชาติตะวันตกเข้าแทรกแซง

รัสเซียยึดได้กี่เมือง

กรุงเคียฟ: กองทัพรัสเซียโจมตีเมืองหลวงยูเครนซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ยังล้อมเมืองไม่ได้

มาริอูโพล: เมืองท่าทางภาคใต้เสียหายหนักสุดถูกปิดล้อมและทิ้งระเบิดนานหลายสัปดาห์ คร่าชีวิตประชาชนอย่างน้อย 2,300 คน ส่วนใหญ่ของเมืองถูกทำลาย พลเรือนราว 100,000 คนยังติดอยู่ในเมืองแบบไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ไม่มีฮีทเตอร์ อาหารร่อยหรอลงทุกวัน

เคอร์ซัน: เป็นเมืองใหญ่เพียงเมืองเดียวที่ตกอยู่ในมือรัสเซีย

ยอดผู้เสียชีวิตยังไม่แน่ชัด

-ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีของยูเครน ผู้กลายเป็นสัญลักษณ์การต้านทานของชาติ เผยเมื่อวันพุธ (23 มี.ค.) ว่า ประชาชนเสียชีวิตหลายพันคน รวมทั้งเด็กยูเครนอย่างน้อย 121 คน

-ยูเครน กล่าวว่า สังหารทหารรัสเซียไปแล้ว 14,000 นายทำลายรถถัง ยานเกราะ ปืนใหญ่ และเครื่องบินนับร้อย

-สหรัฐประเมินแบบระมัดระวัง ทหารรัสเซียเสียชีวิตอย่างน้อย 7,000 นาย

 -สหประชาชาติ กล่าวว่า ชาวยูเครนกว่า 3.6 ล้านคนหนีออกนอกประเทศ อีก 6.5 ล้านคนพลัดถิ่นในประเทศ

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและระเบียบโลก

-การคว่ำบาตรเศรษฐกิจรัสเซียมากอย่างไม่เคยมีมาก่อนถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ ส่อเค้าทำเศรษฐกิจรัสเซียถดถอยอย่างหนักในปีนี้

-ธนาคารโลกเตือน ขณะนี้รัสเซียอยู่ในสถานะผิดนัดชำระหนี้

-ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ เดินทางไปยุโรปเมื่อวันพุธ พร้อมข้อเสนอคว่ำบาตรชุดใหม่ รวมถึงพิจารณาว่าควรขับรัสเซียออกจากกลุ่มจี20 หรือไม่

-สงครามและการคว่ำบาตรพลิกผันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังโควิด เดือนหน้ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตรียมปรับลดคาดการณ์เติบโตปี 2565 จากที่เคยประเมินไว้โต 4.4%

ผิดแผนรัสเซีย

ทำเนียบเครมลินยืนกรานว่า สงครามนี้เป็นไปตามแผน รัสเซียจะไม่หยุดสู้รบจนกว่าบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ บีบให้ยูเครน “เป็นกลาง” และ “ปลดอาวุธ”

ยุโรปเพิ่มงบฯ ทหาร

-เยอรมนีประกาศเพิ่มงบประมาณกลาโหม 1 แสนล้านยูโร เท่ากับงบประมาณสองปีกว่า

-ฝรั่งเศสเตรียมเพิ่มงบฯ เช่นกัน

-สวีเดนจะเพิ่มงบประมาณกลาโหมอีกเกือบสองเท่ามาอยู่ที่ 2% ของจีดีพี “เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้” โดยทำประชาพิจารณ์สนับสนุนการเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เป็นครั้งแรก

-ฟินแลนด์ที่ใช้งบฯ กลาโหม 2% ของจีดีพีแล้วกำลังเพิ่มขึ้นอีก

-ประเทศอียูประกาศปฏิญญาแวร์ซายล์สเมื่อวันที่ 11 มี.ค. เห็นชอบเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมอีกมากและพัฒนาขีดความสามารถในการป้องกันประเทศร่วมกันภายในอียู

จบอย่างไรยังไม่เห็นหนทาง

ทางออกของสงครามนี้ช่างยากเย็น ยูเครนและรัสเซียเคยส่งสัญญาว่าอาจใกล้บรรลุข้อตกลงเมื่อวันที่ 16 มี.ค. เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า ได้หารือเรื่องสถานะความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดด้วยการรับรองความมั่นคงให้ ในทัศนะตนมองว่าใกล้บรรลุข้อตกลงเต็มที

แต่การเจรจาถูกลากออกไป สะท้อนถึงความยากลำบากของยูเครนหากต้องละทิ้งการตัดสินใจอนาคตของตนเอง เช่น การเข้าร่วมอียูหรือนาโต และละทิ้งส่วนหนึ่งของอธิปไตยเหนือดินแดน เช่น ภูมิภาคดอนบาสและไครเมียที่ผนวกเข้ากับรัสเซีย

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น

-รัสเซียจมปลักอยู่ในยุโรป

-สหรัฐ แคนาดา และสหราชอาณาจักรเพิ่มต้นทุนการทำสงครามของรัสเซีย

-โลกกำลังแบ่งขั้วมากขึ้นระหว่างค่ายเสรีประชาธิปไตยของตะวันตกกับค่ายอื่น เช่น จีน ที่ไม่ประณามการโจมตียูเครนของรัสเซีย

-การตัดสินใจในองค์กรพหุภาคี เช่น สหประชาชาติ ยากจะบรรลุข้อตกลงกันได้