หนังเล่าโลก: Panga 'เป็นแม่ก็มีสิทธิ์ฝัน'

หนังเล่าโลก: Panga  'เป็นแม่ก็มีสิทธิ์ฝัน'

ในชีวิตนี้ผู้เขียนเคยดูหนังอินเดียในหลายวาระ สมัยเด็กๆ ดูหนังกลางแปลงอย่าง “โชเลย์” “ช้างเพื่อนแก้ว” เป็นผู้ใหญ่ก็ขยับขึ้นมาดูในโรง หลังๆ ดูจากช่องสตรีมมิง แต่ล่าสุดได้ดูภาพยนตร์ “Panga” จากสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทยที่จัดฉายในวาระพิเศษ เฉลิมฉลอง 75 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-อินเดีย และ 75 ปีเอกราชอินเดีย

Panga ภาพยนตร์ปี 2563 ผลงานการกำกับของ Ashwiny Iyer Tiwari บอกเล่าเรื่องราวของจายา นิกัม อดีตกัปตันทีมชาติกาบัดดี้ (กีฬาโบราณของอินเดียอายุร่วม 4,000 ปี)  เธอโชคดีที่แม้แต่งงานสามีก็ยังอนุญาตให้เล่นกีฬาที่รักได้ แต่เมื่อคลอดลูกแล้วลูกน้อยไม่แข็งแรง จายาต้องลาจากวงการกีฬาในช่วงที่กำลังรุ่งโรจน์ที่สุดเพื่อดูแลลูก เธอก็ไม่ต่างจากผู้หญิงคนอื่นๆ ที่ต้องทำหน้าที่ทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบไม่ว่าจะเป็นแม่ เป็นเมีย หรือเป็นพนักงาน “คนเป็นแม่ไม่มีสิทธิฝัน” นี่คือสิ่งที่จายาคิด แต่แล้วลูกชายวัย 7 ขวบผู้สุขภาพไม่แข็งแรงและต้องพึ่งพาแม่แทบจะตลอดเวลา กลับจุดประกายให้เธอทำความฝันให้เป็นจริงอีกครั้ง ซึ่งการเคาะสนิมในวัย 32 ปีลงสนามกาบัดดี้แข่งกับเด็กวัยรุ่นเป็นสิ่งที่จายาต้องทำให้ได้ คำว่า Panga แปลว่า ปะทะ หรือ ความท้าทาย หมายถึงสิ่งที่จายาต้องเจอ 

สุจิตรา ดูไร เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย เล่าว่า ที่เลือกภาพยนตร์เรื่อง Panga มาฉายในวาระสำคัญนี้เพราะเป็นภาพยนตร์ระดับรางวัล เป็นภาพยนตร์ใหม่ออกฉายเมื่อปี 2563 และที่สำคัญคือทุกคนดูได้ แสดงถึงการเพิ่มพลังให้ผู้หญิง (empowerment) ท่ามกลางแรงกดดัน ทุกคนสนับสนุนให้นางเอกกลับไปเล่นกีฬาอีกครั้งซึ่งไม่ง่ายเลยที่จะไปเล่นกาบัดดี้ทีมชาติ ส่วนตัวจายาทุ่มเทก็จริงแต่ได้กำลังใจจากลูกชายตัวน้อยและสามีด้วย  อีกทั้งภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีอารมณ์ขัน มีความเป็นนานาชาติ เช่น ฉากการแข่งขันกาบัดดี้นานาชาติที่มีหลายทีมมาร่วม ซึ่งกาบัดดี้เป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมในหลายๆ ประเทศ เป็นกีฬาที่มีอัตลักษณ์ความเป็นอินเดีย 

 

นอกจากนี้ภาพยนตร์ยังนำเสนอกาบัดดี้ กีฬายอดนิยมของอินเดียสู่ผู้ชมนานาชาติ กาบัดดี้ได้รับการบรรจุในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ตั้งแต่ปี 2533 ไฮไลท์หนึ่งในเรื่องคือการแข่งขันกาบัดดี้ชิงแชมป์เอเชีย ทีมหนึ่งที่มาแข่งกับทีมหญิงอินเดียก็คือทีมจากประเทศไทย

“จะเป็นเรื่องน่ายินดีมากถ้าคนไทยชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้ และที่สำคัญเป็นผลงานการกำกับของผู้หญิงด้วย” 

เมื่อถามถึงค่านิยมจากหนังที่สะท้อนความเป็นอินเดีย ท่านทูตกล่าวว่า เป็นเรื่องของคนที่ใช้ความสามารถอย่างสุดกำลัง แต่บุคคลจะสำเร็จได้ครอบครัวมีส่วนสนับสนุนสำคัญนี่คือสิ่งที่หนังบอก 

สำหรับคนไทยวัย 50 อัพ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเคยสัมผัสความรุ่งเรืองของภาพยนตร์อินเดียมาก่อน แล้วอย่างนี้ท่านทูตมีแผนจะนำภาพยนตร์อินเดียกลับมายังตลาดไทยหรือไม่ 

"จริงๆ ก็มีคนนำหนังอินเดียใหม่ๆ กลับมาฉายอยู่นะคะ หนังอินเดียมาแล้ว เป็นตัวเลือกสำหรับคนที่อยากดู คนคุ้นเคยว่าหนังอินเดียออกแนวสนุกสนานแต่จริงๆ มีหลายแนว หนังก็มีชื่อไทยด้วยช่วยดึงดูดคนดูได้มากขึ้น เทคนิคหนังพัฒนาไปมาก น่าดูมากๆ และมีนักแสดงที่ดีหลายคน" 

ท่านทูตกล่าวต่อว่า อินเดียมีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ใหญ่สุดในโลกประเทศหนึ่ง บอลลีวูดเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งหมายถึงภาพยนตร์ที่ผลิตในมุมไบ จริงๆ แล้วแต่ละรัฐของอินเดียล้วนมีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของตนเอง ผลิตภาพยนตร์ในทุกภาษา เช่น เตลูกู มราฐี ปัญจาบี ภาพยนตร์อินเดียมีบทบาทสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งทางวัฒนธรรม และสายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนถึงประชาชนสู่ส่วนอื่นๆ ของโลก

ได้ยินจากปากท่านทูตแบบนี้ก็ต้องอดใจรอกันสักนิด อีกไม่นานคนรักหนังชาวไทยคงได้ชมหนังอินเดียระดับคัดสรรแล้วจากสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทยเพื่อเฉลิมฉลองวาระสำคัญระหว่างสองประเทศกันอีก