สัมพันธ์ซาอุฯ-จีนชื่นมื่นกำหนดราคาน้ำมันสกุลเงินหยวน

สัมพันธ์ซาอุฯ-จีนชื่นมื่นกำหนดราคาน้ำมันสกุลเงินหยวน

ขณะที่สหรัฐ กำลังวุ่นวายอยู่กับการระดมพันธมิตรเข้าร่วมคว่ำบาตรรัสเซีย เพื่อลงโทษที่เปิดฉากทำสงครามกับยูเครน พันธมิตรสำคัญอย่างซาอุดีอาระเบียก็หันไปกระชับความสัมพันธ์กับจีนมากขึ้น โดยทั้งสองประเทศประกาศซื้อ-ขายน้ำมันบางส่วนด้วยสกุลเงินหยวน

ซาอุดีอาระเบีย ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก กำลังจะดึงสกุลเงินหยวนของจีนเข้าสู่ตลาดน้ำมันโลก ด้วยการกำหนดราคาน้ำมันบางส่วนที่ขายให้จีน ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ใช้น้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็น “สกุลเงินหยวน”      

นักวิเคราะห์มีความเห็นเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวนี้ว่า ซาอุดีอาระเบียกำลังเร่งเครื่องเจรจากับจีน และถ้าซาอุดีอาระเบียขายน้ำมันให้จีนเป็นเงินหยวน ก็จะถือเป็นการ “ลดทอน” อิทธิพลของสกุลเงินดอลลาร์ของสหรัฐ ที่มีต่อตลาดน้ำมันโลก และแสดงถึงการหันหน้าเข้าหาเอเชียของซาอุดีอาระเบียด้วย

การเจรจาเพื่อกำหนดราคาน้ำมันเป็นเงินสกุลหยวนในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ไม่ค่อยจะราบรื่นนัก แต่กลับมีความคืบหน้าที่รวดเร็วในปีนี้ จากการที่ซาอุดีอาระเบียไม่พอใจสหรัฐมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งเรื่องไม่สนับสนุนที่ซาอุดีอาระเบียเข้าไปแทรกแซงสงครามในเยเมน และสหรัฐยังพยายามรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน โดยเมินเสียงเรียกร้องของซาอุดีอาระเบียที่ต้องการมีนิวเคลียร์ของตัวเอง รวมไปถึงการถอนทหารแบบสายฟ้าแลบออกออกจากอัฟกานิสถาน
 

จีน ซื้อน้ำมันจากซาอุดีอาระเบียมากกว่า 25% ของจำนวนที่ซาอุดีอาระเบียส่งออกทั้งหมด ซึ่งถ้ากำหนดราคาเป็นหยวนก็จะช่วยเพิ่มสถานะสกุลเงินของจีน และเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมของซาอุดีอาระเบีย ที่จะกำหนดราคาการส่งออกน้ำมันดิบบางส่วน ประมาณ 6.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่สกุลเงินดอลลาร์ 

ขณะที่การขายน้ำมันส่วนใหญ่ราว 80% ดำเนินการในรูปของสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งซาอุดีอาระเบียดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2517 ภายใต้ข้อตกลงสมัยอดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ที่สหรัฐให้การรับประกันว่าจะปกป้องราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

จีน ต้องการให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินที่สามารถทำการซื้อขายได้ทั่วโลก ไม่ต้องได้รับผลกระทบจากการครอบงำตลาดน้ำมันของดอลลาร์สหรัฐ ส่วนความสัมพันธ์จีนกับซาอุดีอาระเบียเริ่มกระชับมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้

จากการที่จีนช่วยซาอุดีอาระเบียสร้างขีปนาวุธของตัวเอง ให้คำปรึกษาเรื่องโครงการนิวเคลียร์ และเริ่มเข้าไปในลงทุนในอภิมหาโครงการของมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เช่น เมืองอัจริยะ “นีออม”(Neom)และการเยือนซาอุดีอาระเบียของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อปี 2559
 

ขณะที่ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างซาอุดีอาระเบียและสหรัฐในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดนกลับย่ำแย่ลง นับตั้งแต่ไบเดน รณรงค์เลือกตั้งเมื่อปี 2563 ที่ไบเดนกล่าวว่าซาอุดีอาระเบียควรรับผิดชอบการตายของ“จามาล คาช็อกกี” ผู้สื่อข่าวชาวซาอุดีอาระเบียที่ถูกฆ่าตายเมื่อปี 2561 โดยข้อมูลข่าวกรองของสหรัฐระบุว่าเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน บงการสังหารคาช็อกกี

เมื่อเดือนที่แล้ว เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ปฏิเสธที่จะนั่งระหว่างไบเดนและกษัตริย์ซัลมาน องค์พระประมุขแห่งซาอุดีอาระเบีย ส่วนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและซาอุดีอาระเบียก็แย่ไม่แพ้ความสัมพันธ์ทางการเมือง

สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐ (อีไอเอ) ระบุว่า นับตั้งแต่ที่สหรัฐก้าวขึ้นมาอยู่ในกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก จากที่ครั้งหนึ่งสหรัฐต้องนำเข้าน้ำมันจากซาอุดีอาระเบียวันละ 2 ล้านบาร์เรลในช่วงต้นปี 1990 แต่พอมาถึงเดือนธ.ค.ปี 2564 ปริมาณนำเข้าน้ำมันจากซาอุดีอาระเบียของสหรัฐร่วงลงเหลือไม่ถึงวันละ 500,000 บาร์เรล

สวนทางกับจีน โดยข้อมูลจากสำนักงานด้านศุลกากรจีน ระบุว่า จีนนำเข้าน้ำมันจากซาอุดีอาระเบียเพิ่มขึ้นมากช่วง30ปีที่ผ่านมา อานิสงส์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้จัดหาน้ำมันดิบรายใหญ่ของจีนในปี 2564 โดยขายน้ำมันให้จีนวันละ 1.76 ล้านบาร์เรล ตามมาด้วยรัสเซียวันละ 1.6 ล้านบาร์เรล 

“ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและซาอุดีอาระเบียเปลี่ยนไปแล้ว จีนเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่สุดของโลก และจีนเสนอแรงจูงใจมากมายแก่ซาอุดีอาระเบีย”เจ้าหน้าที่วงในของซาอุดีอาระเบีย กล่าว