'โควิด-เงินเฟ้อ-รัสเซียบุกยูเครน' เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย

'โควิด-เงินเฟ้อ-รัสเซียบุกยูเครน' เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย

เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2564 แต่มาอ่อนแรงช่วงครึ่งปีหลังเมื่อสายพันธุ์โอมิครอนปรากฏขึ้นในเดือน พ.ย. แต่จู่ๆ รัสเซียก็รุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. กลายเป็นหนึ่งปัจจัยที่ต้องพิจารณา

เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2564 แต่มาอ่อนแรงช่วงครึ่งปีหลังเมื่อสายพันธุ์โอมิครอนปรากฏขึ้นในเดือน พ.ย. ดังนั้นในปี 2565 โลกยังคงจับตาการระบาดของโควิดและเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ถือเป็นสองปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก แต่จู่ๆ รัสเซียก็รุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. กลายเป็นหนึ่งปัจจัยที่ต้องพิจารณา 

เมื่อเดือน ม.ค.ธนาคารโลกหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจโลกประจำปี 2565 และ 2566 โดยเตือนให้ระวังเงินเฟ้อ หนี้ และความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นอาจบั่นทอนการฟื้นตัวในเขตเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนา

รายงาน คาดการณ์เศรษฐกิจโลกคาดว่า ปี 2565 เศรษฐกิจโลกเติบโตชลอตัวลงสู่ระดับ 4.1% และ 3.2% ในปี 2566 เนื่องจากหลายชาติเริ่มลดมาตรการกระตุ้นทางการเงินและการคลังที่ทำไปมากก่อนหน้านี้ เพื่อสกัดผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

ธนาคารโลกมองว่า ปีนี้เขตเศรษฐกิจใหญ่อย่างสหรัฐ จีน และประเทศในเขตยูโรโซนจะชลอตัวลง การติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นผลจากสายพันธุ์ที่ติดต่อง่ายอย่างโอมิครอนมีแนวโน้มป่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะใกล้ และถ้าโอมิครอนยังไม่ลดน้อยถอยลงก็อาจทำให้แนวโน้มการเติบโตแย่ลงไปอีก

ธนาคารโลกเตือนด้วยว่า ปัญหาคอขวดซัพพลายเชนที่กำลังดำเนินอยู่ แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มสูง และระดับความเสี่ยงทางการเงินที่เพิ่มขึ้นในหลายส่วนของโลก อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เศรษฐกิจกโลก “ฮาร์ดแลนดิง” หรือเศรษฐกิจชลอตัวอย่างรวดเร็วจากที่เคยเติบโตมานาน

นายเดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลกกล่าวว่า โควิด-19 ยังคงบดบังแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกต่อไป ถ้าสายพันธุ์โอมิครอนยืดเยื้อเศรษฐกิจอาจโตน้อยกว่าที่คาด

ไม่นานหลังจากรายงานของธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็ออกรายงานของตนว่า เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ปี 2565 อย่างอ่อนแรงกว่าที่คาดเนื่องจากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้หลายประเทศต้องออกข้อจำกัดการเดินทางอีกรอบประกอบกับราคาพลังงานสูงขึ้นและอุปทานติดขัดส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นกว่าที่ตั้งรับกันไว้

โดยเฉพาะในสหรัฐ เขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่หลายแห่ง การลดค่าใช้จ่ายในภาคอสังหาริมทรัพย์จีน การบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาดส่งผลให้แนวโน้มการเติบโตลดลงด้วย

ไอเอ็มเอฟคาดการณ์เศรษฐกิจโลกขยายตัวในระดับปานกลางจาก 5.9% ในปี 2564 มาอยู่ที่ 4.4% ในปี 2565 ลดลง 0.5% จากที่คาดไว้เมื่อเดือน ต.ค.และชลอต่อสู่ระดับ 3.8% ในปี 2566

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ กล่าวในงานที่จัดโดยสำนักข่าววอชิงตันโพสต์ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดต่อเศรษฐกิจโลก และมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ 

นางจอร์เจียวาเรียกร้องให้เพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าเพื่อฉีดวัคซีน และเพิ่มการป้องกันโรคโควิด-19 โดยระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวควบคู่ไปกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางหลายแห่งกำลังวางแผนหรือดำเนินการไปแล้วนั้น จะช่วยผ่อนคลายปัญหาติดขัดของห่วงโซ่อุปทานและรับมือกับเงินเฟ้อได้

“นโยบายการแพร่ระบาดคือนโยบายเศรษฐกิจ ความเสี่ยงใหญ่ที่สุดสำหรับเศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปีนี้ และภาวะชะงักงันต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น”

นางจอร์เจียวา ยอมรับว่า เงินเฟ้อได้กลายเป็น “ปัญหาต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีนัยสำคัญมากกว่าที่คาด” และนักเศรษฐศาสตร์หลายคนประเมินต่ำเกินไปเกี่ยวกับผลกระทบของการบริโภคที่ชะลอตัว และผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่มีต่อราคาอาหาร

ความเสี่ยงเงินเฟ้อ
เว็บไซต์ ihsmarkit.com รายงานว่าเมื่อเดือน พ.ย. และ ธ.ค.เงินเฟ้อโลกทะลุ 5.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี สูงสุดตั้งแต่เดือน ก.ย.2551 (ไม่รวมเวเนซุเอลาและซิมบับเวที่เงินเฟ้อสูงมากไม่ได้สัดส่วน)

เงินเฟ้อทั่วโลกคาดว่าจะอยู่ที่ใกล้ 5.0% ต่อไปช่วงต้นปี 2565 ก่อนจะค่อยๆ ลดลงตอบรับกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรและอุตสาหกรรมที่ลดลง
หากเทียบเป็นรายปีเงินเฟ้อราคาผู้บริโภคทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 2.2% ในปี 2563 มาอยู่ที่ 3.8% ในปี 2564 และจะเฉลี่ย 4.1% ในปีนี้ก่อนอ่อนตัวลงเหลือ 2.8% ในปี 2566

รัสเซียรุกรานยูเครน
ปัจจัยใหม่ที่เพิ่มเข้ามาคือการที่รัสเซียรุกรานยูเครน สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่าเพียงหนึ่งสัปดาห์ของสงครามในยูเครนก็ส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลก เมื่อชาติตะวันตกระดมคว่ำบาตรเพื่อโดดเดี่ยวรัสเซีย สกุลเงินรูเบิลและสินทรัพย์ทางการเงินร่วง ราคาอาหารพุ่งแรง

ข้อมูลจากธนาคารโลกขนาดเศรษฐกิจรัสเซีย 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ ใหญ่อันดับ 11 ของโลก เศรษฐกิจรัสเซียสำคัญต่อส่วนที่เหลือของโลกเพราะมีทรัพยากรพลังงานมหาศาล แม้การส่งออกน้ำมันและก๊าซของรัสเซียจะไม่ได้เป็นเป้าหมายโดยตรงของรัฐบาลชาติตะวันตก แต่ราคาก็พุ่งพรวดภายในเวลาไม่กี่วัน อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบรัสเซียซื้อขายด้วยส่วนลดสูงสุดในรอบกว่า 30 ปี

รัฐบาลมอสโก พบว่าตนเองขายน้ำมันให้ผู้ซื้อต่างชาติยากขึ้น ด้วยความกังวลเรื่องการคว่ำบาตรทางการเงิน ผู้ให้บริการเรือบรรทุกน้ำมันวิตกเรื่องความเสี่ยงของการเข้าไปในทะเลดำ บริษัทน้ำมันรายใหญ่ระดับโลกละทิ้งปฏิบัติการในรัสเซีย

น้ำมันดิบเบรนท์สัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งเป็นราคาอ้างอิงโลกเพิ่มขึ้นราว 20% นับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครน ราคาอยู่ที่เกือบ 115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันสหรัฐเพิ่มสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 ในยุโรปราคาค้าส่งก๊าซธรรมชาติพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันที่ 2 มี.ค. กว่าสองเท่าจากวันที่ 25 ก.พ.

ราคาที่เพิ่มขึ้นมากเช่นนี้ส่งผลให้น้ำมันแพงขึ้นทั่วโลก เพิ่มต้นทุนการเดินทางและขนส่ง รวมถึงทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นซึ่งอาจฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ จุดประกายความกังวลถึง stagflation อีกครั้ง อันหมายถึงภาวะที่เกิดความผิดปกติทางเศรษฐศาสตร์คือการที่เงินเฟ้อ (Inflation) และ ภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจากการว่างงานสูง (Stagnation) เกิดขึ้นพร้อมกันยิ่งทำให้การตัดสินใจของธนาคารกลางทั่วโลกยุ่งยากขึ้นในการรับมือราคาสินค้าพุ่งสูง

วิกฤตินี้ยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อซัพพลายเชนโลกที่ตึงตัวอยู่แล้ว ยูเครนและรัสเซียผลิตข้าวสาลีราว 14%ของทั้งโลก และส่งออก 29% สัญญาซื้อขายข้าวสาลีล่วงหน้าราคาพุ่งไปแล้ว ผู้ผลิตอาหารจึงมีแนวโน้มผลักต้นทุนไปให้ผู้บริโภค

ราคาน้ำมันปาล์มก็สูงด้วยเมื่อตลาดพยายามหาทางเลือกอื่นแทนน้ำมันดอกทานตะวันที่ออกจากท่าเรือทะเลดำไม่ได้

สถานการณ์อาจเลวร้ายลงอีก หากการสู้รบในยูเครนลากยาวไปถึงปี 2566 และรัสเซียตัดการส่งออกก๊าซธรรมชาติให้ยุโรปเป็นเวลาหกเดือนตอบโต้การคว่ำบาตรเพิ่มเติมเงินเฟ้อยูโรโซนจะสูงกว่า 7% ในไตรมาสสามของปีนี้ และเงินเฟ้อสหราชอาณาจักรจะเกิน 10%

ทั้งนี้ รัสเซียสามารถแบกรับความเสียหายทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ไว้ได้ ฉากทัศน์ที่บริษัทวิจัยออกซ์ฟอร์ดอีโคโนมิกวางไว้ เศรษฐกิจรัสเซียปี 2566 จะต่ำลง 7% จากระดับที่ควรเป็นหากไม่ได้รุกรานยูเครน ขณะที่เศรษฐกิจโลกปีหน้าจะลดลง 1.1%