'อาวุธนิวเคลียร์'ตัวเปลี่ยนเกมศึก'รัสเซีย-ยูเครน'

'อาวุธนิวเคลียร์'ตัวเปลี่ยนเกมศึก'รัสเซีย-ยูเครน'

มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกยิ่งผลักดันให้รัสเซียเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 หลังจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย สั่งกองทัพนิวเคลียร์เตรียมพร้อมในระดับสูง

คำสั่งของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่ให้กองทัพนิวเคลียร์เตรียมพร้อมระดับสูง สร้างความวิตกว่า สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะลุกลาม เพราะถ้าหากมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ก็อาจดึงสหรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย สภาพของการสู้รบก็จะไม่แตกต่างไปจากสงครามโลกครั้งที่ 2

ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ของเบลารุส เตือนว่า มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก จะยิ่งผลักดันให้รัสเซียเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 หลังจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย สั่งกองทัพนิวเคลียร์เตรียมพร้อมในระดับสูง โดยอ้างถึงความเห็นที่ก้าวร้าวจากองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) แถมยังเตือนด้วยว่าความรุนแรงของสงครามที่เกิดขึ้นจะเป็นเหมือนเครื่องบดเนื้อเมื่อเบลารุสส่งกองกำลังชุดปฏิบัติการพิเศษเข้าช่วยรัสเซียในการเข้ายึดกรุงเคียฟ

การสู้รบในยูเครนมีความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากประธานาธิบดีปูตินแถลงผ่านโทรทัศน์ว่าประเทศตะวันตก ไม่เพียงแต่ดำเนินการอย่างไม่เป็นมิตรกับประเทศรัสเซียในด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของชาติสมาชิกระดับหัวแถวของนาโตยังออกแถลงการณ์ที่ก้าวร้าวต่อประเทศรัสเซีย และในการประชุมหารือกับรัฐมนตรีกลาโหม และเสนาธิการทหาร  ปูตินสั่งการให้กองกำลังนิวเคลียร์ของรัสเซียยกระดับการเตรียมความพร้อมให้อยู่ในสถานะพร้อมรบ เป็นการตอบโต้ ถ้อยแถลงที่ก้าวร้าวของนาโตและการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นมิตรที่เล่นงานทั้งรัสเซียและตัวปูติน
 

“เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก” เลขาธิการนาโตกล่าวว่า ถ้อยแถลงของผู้นำรัสเซีย และการยกระดับกองกำลังนิวเคลียร์ให้อยู่ในสถานะพร้อมรบ เป็นเรื่องที่อันตราย เพราะหมายความถึงการที่อาวุธนิวเคลียร์อยู่ในสถานะพร้อมยิง ทำให้เกิดความวิตกว่าการสู้รบในยูเครนจะรุนแรงและกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์

นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ความหมายในทางปฏิบัติตามคำสั่งของปูตินยังไม่มีความชัดเจนว่าครอบคลุมการใช้อาวุธนิวเคลียร์มากน้อยแค่ไหน โดยปกติแล้ว รัสเซียและสหรัฐมีกองกำลังนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ทั้งทางบกและใต้น้ำในการแจ้งเตือนและเตรียมพร้อมสำหรับการสู้รบตลอดเวลา แต่คำสั่งของปูติน อาจเป็นการยกระดับให้เครื่องบินทิ้งระเบิดที่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ อยู่ในสภาวะเตรียมความพร้อมด้วย
 

“ฮันส์ คริสเตนเซน” นักวิเคราะห์ด้านนิวเคลียร์จากสมาพันธุ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน(Federation of American Scientists) ให้ความเห็นว่า ยังไม่ชัดเจนว่า ปูตินสั่งให้หน่วยรบนิวเคลียร์เตรียมความพร้อมให้กับเครื่องบินทิ้งระเบิด หรือสั่งให้เรือดำน้ำติดขีนาวุธหัวรบนนิวเคลียร์ออกปฏิบัติการในทะเลด้วยหรือเปล่า ซึ่งเรือดำน้ำมีขอบเขตการยิงนิวเคลียร์ที่กว้างมาก สามารถยิงได้จากทะเลแทบจะทุกที่ทั่วโลก ซึ่งถ้าเป็นขั้นนั้น อาจกระตุ้นให้สหรัฐ เกิดความรู้สึกว่าตัวเองก็อยู่ในอันตรายเหมือนกัน และต้องตอบโต้ซึ่งจะเป็นการยกระดับวิกฤตให้รุนแรงและลุกลามมากขึ้น

เรื่องนี้ ทำให้หลายฝ่ายสะท้อนเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนที่ญี่ปุ่น ทิ้งระเบิดถล่มเพิร์ล ฮาร์เบอร์ และกลายเป็นการดึงสหรัฐเข้าสู่สงคราม และตอบโต้ญี่ปุ่นด้วยการทิ้งระเบิดปรมาณู ถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิ ซึ่งท่าทีล่าสุดของรัสเซียที่มีการสั่งให้กองกำลังนิวเคลียร์เตรียมความพร้อมขั้นสูงสุด อาจจะทำให้สหรัฐรู้สึกว่าตัวเองเป็นภัยและเป็นการดึงสหรัฐให้เข้าร่วมสงครามซึ่งอาจจะลุกลาม กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด เพราะคือสงครามนิวเคลียร์

เมื่อวันอาทิตย์(27ก.พ.)ทำเนียบประธานาธิบดียูเครนตกลงที่จะส่งตัวแทนเข้าร่วมการเจรจากับตัวแทนระดับสูงของรัสเซีย โดยไม่ใช่การเจรจาระดับผู้นำประเทศ หลังจากที่ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี หารือทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีลูกาเชนโกของเบลารุส ซึ่งเป็นพันธมิตรกับผู้นำรัสเซีย

เมื่อวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการบุกโจมตียูเครนโดยกองกำลังรัสเซีย กำลังพลของรัสเซียได้เข้าตีเมืองคาร์คีฟ (Kharkiv)ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของยูเครน หลังจากที่ก่อนหน้านี้รุกคืบเข้าถึงพื้นที่ชานกรุงเคียฟ เมืองหลวง ได้แล้ว

นอกจากนี้ กองทัพรัสเซียยังเข้าโจมตีสนามบินหลายแห่ง รวมทั้งคลังเก็บเชื้อเพลิงของยูเครน ขณะที่ทหารยูเครนตรึงกองกำลังรักษากรุงเคียฟอย่างสุดความสามารถ พร้อมทั้งมีคำสั่งให้ประชาชนในกรุงเคียฟอยู่แต่ในอาคารบ้านเรือนของตนเองจนกว่าจะถึงเช้าวันจันทร์ (28 ก.พ.)ตามเวลาท้องถิ่น เนื่องจากมีการปะทะระหว่างทหารรัสเซียที่แฝงตัวเข้ามากับฝ่ายทหารและอาสาสมัครป้องกันประเทศของยูเครน 

ทั้งยังมีการระดมยิงถล่มเมืองหลวง ซึ่งกองทัพยูเครนระบุว่า ฝ่ายรัสเซียยิงจรวดนำวิถีมาจากเบลารุส ซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรกับรัสเซีย โดยมีเป้าหมายพุ่งมาที่กรุงเคียฟ แต่ถูกสกัดไว้ได้โดยระบบต่อต้านการโจมตีทางอากาศของยูเครน