‘ญี่ปุ่น’ ส่งสัญญาณหนุนไทย 'ฮับ' ผลิตรถยนต์อีวีโลก

‘ญี่ปุ่น’ ส่งสัญญาณหนุนไทย 'ฮับ' ผลิตรถยนต์อีวีโลก

ญี่ปุ่นมุ่งสานความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในทุกด้าน และกระชับความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ในด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่นให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น

แนวโน้มการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นถึง 79.6% ของประชากรทั้งประเทศ และการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของญี่ปุ่นที่สูงถึง 54,000 ล้านดอลลาร์ ช่วยให้เศรษฐกิจคลายจากภาวะช็อก หลังเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 หนักหน่วงมานานกว่า 2 ปี ท่ามกลางความท้าทายด้านการลงทุน เทคโนโลยี และการฝึกอบรมอาชีพ เพื่อปรับตัวให้ทันตามนโยบายฟื้นฟูประเทศที่เน้นความเป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ หวังช่วยกระตุ้นการเติบโตภาคการผลิตของเอกชนญี่ปุ่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

“ญี่ปุ่น” ประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรม กำลังเบนเข็มมุ่งเป้าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ที่เน้นการปฏิรูปประเทศเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และเสริมทักษะด้านแรงงาน แม้ขณะนี้ ญี่ปุ่นยังปิดประเทศ และไม่รับแรงงานต่างชาติ แต่ญี่ปุ่นต้องการรักษามาตรฐานการครองชีพในระยะยาวไว้ โดยมุ่งเป้าเศรษฐกิจมายังประเทศในเอเชีย ตามข้อริเริ่มด้านการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานแห่งเอเชีย (Asia Energy Transition Initiative: AETI)
 

ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน )รวมถึงไทย ซึ่งเป็นฐานการลงทุนและการผลิตที่สำคัญ โดยญี่ปุ่นเสนอให้อาเซียนร่วมจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจเรื่องการเติบโตด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำนวัตกรรมและแนวทางการเติบโตอย่างยั่งยืนมาช่วยยกระดับการพัฒนาใน 3 ด้าน ได้แก่ อุตสาหกรรม การพัฒนาเขตชนบท และการพัฒนาเขตเมือง เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจให้พ้นวิกฤติโควิค-19 เร็วยิ่งขึ้น

“ฮากิอูดะ โคอิจิ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น(Minister of Economy, Trade and Industry) หรือเมติ เดินทางเยือนภูมิภาคอาเซียนที่ประกอบด้วยไทย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เมื่อปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็น 3 ประเทศหลักที่มีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมการผลิตชั้นสูงของภาคเอกชนญี่ปุ่นในอาเซียน

ในการเยือนประเทศไทยของรัฐมนตรีกระทรวงเมติของญี่ปุ่น มุ่งสานความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในทุกด้าน และกระชับความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ในด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่นให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในโอกาสการครบรอบ 135 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น และการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565
 

รัฐมนตรีกระทรวงเมติได้เข้าพบ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี และเล่าถึงแนวทางการลงทุนใหม่ๆ ที่เป็นไปตาม Asia-Japan Investing for the Future พร้อมกับพูดคุยถึงยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียวของญี่ปุ่นที่สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ของไทย ตลอดจนความร่วมมือในภาคพลังงานและอุตสาหกรรม 

หลังจากนั้นได้พบปะกับ "สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์" รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน เพื่อหารือใน 2 เรื่องหลักๆ คือ

1.ด้านพลังงาน เช่น ไทยมุ่งเน้นดำเนินนโยบายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงาน และมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดในอนาคต โดยญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเทคโนโลยีด้านพลังงานกับไทย ผ่านกลไกข้อริเริ่ม AETI ที่ได้ดำเนินการร่วมกันอยู่แล้ว พร้อมทั้งเสนอแนะให้ไทยส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริดในช่วงเปลี่ยนผ่าน

2.ด้านการค้าการลงทุน เช่น 1) ปัจจุบันบริษัทญี่ปุ่นสนใจลงทุนในไทยจำนวนมาก เนื่องจากไทยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนบริษัทญี่ปุ่นเป็นอย่างดี โดยแนวคิดข้อริเริ่ม (Asia-Japan Investment for The Future Initiative : AJIF) จะช่วยส่งเสริมการลงทุนให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น 2) ญี่ปุ่นมีแผนการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และการลงทุนด้านอุตสาหกรรมอื่นๆ ในไทย โดยบริษัทญี่ปุ่นในไทยให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ส่งเสริมนโยบายการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และแนวคิดเศรษฐกิจ BCG

ทั้งสองยังได้ลงนามเอกสารสำคัญๆ ได้แก่ ฉบับที่ 1 บันทึกความร่วมมือว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนด้านพลังงาน ระหว่างกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น เพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างสองประเทศ

ฉบับที่ 2 บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นในไทย สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และพัฒนาอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ และฉบับที่ 3 บันทึกแสดงเจตจำนงด้านความร่วมมือ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากบริษัทญี่ปุ่น ในพื้นที่ EEC

ไทยเป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์แห่งใหญ่ในภูมิภาค ซึ่งรัฐบาลประยุทธ์ได้ประกาศส่งเสริมการใช้ และผลิตรถยนต์อีวี ปักหมุดการเป็นตลาดระดับโลก ขณะเดียวกันไทยเป็นฐานการลงทุนขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ที่ทันสมัย

รัฐมนตรีเมติยังได้พบกับ"ดอน ปรมัตถ์วินัย" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อยืนยันการสนันสนุนแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่มุ่งเป้าให้เกิดการเติบโตในกลุ่มความร่วมมือเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพปี 2565 ภายใต้หัวข้อหลัก "เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล" นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ด้วย

นอกจากนี้ โคอิจิได้เยี่ยมชมโรงงานการผลิตรถยนต์โตโยต้าที่ตำบลสำโรง จ.สมุทรปราการ เปิดดำเนินงานตั้งแต่ปี 2500 เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกับภาคเอกชนต่อทิศทางยานยนต์ในปัจจุบัน และห่วงโซ่อุปทานเพื่อตอบสนองต่อรัฐบาลไทย ที่มุ่งความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยเฉพาะไทยตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์อีวี ที่กำลังเป็นเทรนด์ใหญ่เข้ามาตอบโจทย์เทคโนโลยีที่ลดภาวะโลกร้อน

การเยือนไทยของรัฐมนตรีเมติเป็นการเยือนเชิงสัญลักษณ์ที่เสริมสร้างความเชื่อมโยงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง โดยญี่ปุ่นจัดให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายสำคัญของข้อริเริ่ม AJIF เพื่อร่วมสร้างสรรค์ (co-creation) ระหว่างภาคเอกชนไทยกับญี่ปุ่นจะนำไปสู่การลงทุนสำหรับอนาคต จะเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนของทั้งสองประเทศและภูมิภาคเอเชีย

งานสัมมนา “Fast Track to the Net Zero” วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2565 เวลา 13.00 – 17.30 น. ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนภายในวันที่ 4 มีนาคม 2565 ได้ที่ www.bangkokbiznews.com/seminar/netzero3 เพื่อรับลิงก์ชมการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-338-3000 กด 1