จับตา'อุปทานพลังงาน'ท่ามกลางวิฤติยูเครน

จับตา'อุปทานพลังงาน'ท่ามกลางวิฤติยูเครน

จับตา'อุปทานพลังงาน'ท่ามกลางวิฤติยูเครน ขณะเกาหลีใต้ ระบุว่า ขณะนี้วิกฤตยูเครนยังไม่ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจของเกาหลีใต้แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อคาดว่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจเกาหลีผ่านช่องทางต่าง ๆ

วิกฤตยูเครนทวีความร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียและยูเครนอาจจุดชนวนความขัดแย้งในทวีปยุโรปและปัญหานี้ อาจส่งผลกระทบต่อเอเชียหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ต้องพึ่งพาน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินจากรัสเซีย

วานนี้ (23ก.พ.)รัฐบาลเกาหลีใต้ บอกว่ากำลังจับตาดูผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากวิกฤตยูเครน ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าจะทำให้อุปทานพลังงานชะงักงัน

เกาหลีใต้บอกว่าขณะนี้วิกฤตยูเครนส่งผลกระทบที่จำกัดต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่รัฐบาลก็จะยังคงเฝ้าระวังความเป็นไปได้ที่สถานการณ์ที่เลวร้ายลง อาจจะส่งผลกระทบต่ออุปทานพลังงาน และทำให้ตลาดผันผวนมากขึ้น

“ลี อ็อก-วอน” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของเกาหลีใต้ ระบุว่า แม้ความตึงเครียดจากวิกฤตยูเครนจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ แต่หากสถานการณ์ย่ำแย่ลงหรือยืดเยื้อ คาดว่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจเกาหลีผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น ภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานพลังงาน และทำให้ตลาดผันผวนมากขึ้น

รัฐบาลเกาหลีใต้ ระบุด้วยว่า เนื่องจากทางการได้จัดหาพลังงานและวัตถุดิบไว้เพียงพอจากการทำสัญญาระยะยาว และมีสต็อกน้ำมันดิบที่ใช้ได้เป็นเวลา 106 วัน ดังนั้นเกาหลีใต้จึงไม่มีปัญหาด้านปริมาณพลังงานในระยะสั้น
 

บรรดาผู้กำหนดนโยบายและผู้สังเกตการณ์ตลาดกำลังจับตาสถานการณ์เกี่ยวกับยูเครนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการปะทะกันทางทหาร อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น และเกาหลีใต้ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน

“ผมคิดว่าอันดับแรกคือเราต้องจับตามองการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเกาหลีใต้จำเป็นต้องนำเข้าพลังงานในสัดส่วนมากถึง 92% ระบบซัพพลายเชนในภาคการผลิตบางแห่งอาจได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์”เหยา ฮัน-กู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของเกาหลีใต้ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นบีซี

เหยา ยังกล่าวถึงปัญหาขาดแคลนชิพที่เกิดขึ้นทั่วโลกโดยเรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมมือกันแก้ปัญหานี้ โดยปัจจุบัน ซัมซุง ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสัญชาติเกาหลีใต้และทีเอสเอ็มซี ของไต้หวันเป็นสองผู้ผลิตชิพรายใหญ่สุดของโลก

“บริษัทเกาหลีใต้มีบทบาทสำคัญอย่างมากในระบบซัพพลายเชนเซมิคอนดักเตอร์ โดยเชื่อมั่นว่าไม่มีประเทศไหนที่เป็นเจ้าของระบบซัพพลายเชนทั้งระบบในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ และการขาดแคลนชิพที่เกิดขึ้นทั่วโลกส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนทุกคน"เหยา กล่าว
 

ปัญหาขาดแคลนชิพที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการผลิตทั่วทุกภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่อุตสาหกรรมรถยนต์ไปจนถึงถึงอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้บริโภค คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และสมาร์ทโฟน 

"เป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างจริงจังในการบริหารจัดการระบบซัพพลายเชนที่สำคัญของเซมิคอนดักเตอร์  แบตเตอรี หรือรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ล่าสุด เกาหลีใต้กำลังพัฒนา“เครือข่ายความเป็นหุ้นส่วน”ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และระบบซัพพลายเชนในภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญอื่นๆ

ในส่วนของราคาน้ำมันดิบ ปรับตัวพุ่งสูงขึ้นในรอบ 7 ปี หลังจากสถานการณ์ขัดแย้งรัสเซียกับยูเครนตึงเครียดยิ่งขึ้น ทำให้วิตกว่าจะกระทบต่อปริมาณน้ำมันในตลาดโลก โดยสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าเวสต์เท็กซัส ปิดวันอังคาร (22ก.พ.)พุ่งขึ้น 1.28 ดอลลาร์โดยได้แรงหนุนจากวิกฤตการณ์ในยูเครน

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือนมี.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาดไนเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 1.28 ดอลลาร์ ปิดที่ราคา 92.35 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับตัวขึ้น 1.45 ดอลลาร์ ปิดที่ราคา 96.84 ดอลลาร์/บาร์เรล 

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส และน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังรัสเซียรับรองสถานะของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ในภาคตะวันออกของยูเครน ที่ประกาศแยกตัวเป็นเอกราชเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ทั้งยังส่งทหารเข้าไปในภูมิภาคดังกล่าว

นักวิเคราะห์ มีความเห็นว่า มาตรการคว่ำบาตรอาจทำให้รัสเซียส่งออกน้ำมันดิบหรือก๊าซธรรมชาติได้น้อยลง และจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยอาจทำให้ราคาน้ำมันพุ่งเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยมีปัจจัยทั้งจากวิกฤตยูเครน ฤดูหนาวในสหรัฐ และการขาดการลงทุนด้านการผลิตน้ำมันและก๊าซทั่วโลก

นอกจากนี้ หากรัสเซียระดับการส่งออกน้ำมันให้ยุโรป ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่วันละ 3 ล้านบาร์เรล อาจทำให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นอีก 10-15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และจะทำให้น้ำมันดิบเบรนท์แตะระดับ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้

ขณะนี้นักลงทุนกำลังจับตาว่าสถานการณ์จะลุกลามกลายเป็นสงครามหรือไม่ และวิตกว่า ต้นทุนการขนส่งสินค้าที่สูงอยู่แล้ว จะพุ่งทะยานยิ่งขึ้นอีกเพราะการหยุดชะงักของอุปสงค์และอุปทาน

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวขึ้นกว่า 90 ดอลลาร์/บาร์เรลแล้วในขณะนี้ ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 20% จากระดับกว่า 80 ดอลลาร์/บาร์เรลช่วงต้นปี 2564