'ซาลิมกรุ๊ป'พัวพันกักตุนดันราคาน้ำมันพืชในอินโดนีเซีย

'ซาลิมกรุ๊ป'พัวพันกักตุนดันราคาน้ำมันพืชในอินโดนีเซีย

รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังเร่งปราบปรามผู้กักตุนน้ำมันพืชเพื่อปั่นราคาให้สูงขึ้นส่งกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนในประเทศ ขณะพบหลายบริษัทมีเอี่ยวกับการกักตุน รวมทั้งบริษัทในเครือซาลิม กรุ๊ป หนึ่งในกลุ่มบริษัทรายใหญ่สุดของประเทศ

“ซาลิม อินโวมาส ปราทามา”หน่วยงานย่อยด้านน้ำมันปาล์มในเครือกลุ่มบริษัทซาลิม กรุ๊ป หนึ่งในผู้ผลิตบะหมี่สำเร็จรูปรายใหญ่สุดของโลกอยู่ในความสนใจของผู้คนหลังจากหน่วยงานตรวจสอบของรัฐบาลตรวจพบน้ำมันพืช 1,100 ตันในช่วงรุดตรวจค้นโกดังของบริษัทในเขตเดลิ เซอร์แดงทางตอนเหนือของจังหวัดสุมาตรา ซึ่งตำรวจตั้งข้อสงสัยว่าอาจเป็นการกักตุนน้ำมันเพื่อรอจังหวะปล่อยออกมาขายในราคาสูง หากผลสอบสวนบ่งชี้ว่าเป็นจริงตามข้อกล่าวหา บริษัทและผู้ที่เกี่ยวข้องอาจมีความผิดถูกจำคุก 5ปีและถูกปรับเงิน 50,000 ล้านรูเปี๊ยะ (3.5 ล้านดอลลาร์)

ซาลิม อินโวมาส ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ในเอกสารที่ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันเสาร์ (19ก.พ.)โดยระบุว่าน้ำมันพืชในปริมาณดังกล่าวเป็นน้ำมันที่บริษัทเตรียมจัดส่งในอีกสองสามวันข้างหน้า

และส่วนใหญ่เป็นน้ำมันที่ต้องจัดส่งให้นำไปใช้ในการผลิตบะหมี่สำเร็จรูปให้แก่หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของซักเซส มักเมอร์ และอินโดฟู้ด ซีบีพี ซักเซส มักเมอร์ หน่วยงานในเครือรายใหญ่สุดของซาลิม กรุ๊ปที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
 

น้ำมันพืชที่ผลิตที่โรงงานของเราในเดลิ เซอร์แดงส่วนใหญ่ส่งไปที่โรงงานผลิตบะหมี่สำเร็จรูปของอินโดฟู้ดในส่วนต่างๆของสุมาตรา ซึ่งจำเป็นต้องใช้น้ำมันพืชในปริมาณ 2,500ตันต่อเดือน และการเก็บน้ำมันไว้ที่โกดังก็ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฏหมายของอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีข่าวนี้แพร่ออกไป ราคาหุ้นของบริษัทในเครือซาลิม กรุ๊ปทั้งสามแห่งปรับตัวร่วงลงในการซื้อขายเมื่อวันจันทร์ (21ก.พ.)โดยราคาหุ้นของซาลิม อินโวมาสร่วงลง 1.2% เหลือหุ้นละ 486 รูเปี๊ยะห์ ราคาหุ้นอินโดฟู้ด ซักเซส ร่วงลง 1.6% อยู่ที่หุ้นละ 6,275 รูเปี๊ยะห์และราคาหุ้นอินโดฟู้ด ซีบีพี ร่วงลง 0.29% อยู่ที่ราคาหุ้นละ 8,500 รูเปี๊ยะห์ 

ขณะที่ดัชนีคอมโพสิตจาการ์ตาปรับตัวขึ้น 0.15% และในช่วงเช้าของวันอังคาร(22ก.พ.)ราคาหุ้นซาลิม อินโวมาส ร่วงลงต่อ 1.2% แต่ดีดตัวขึ้น 5.3% นับตั้งแต่ต้นปีมานี้
 

ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกทะยานขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่โรคโควิด-19ยังคงระบาดและหลายประเทศใช้มาตรการคุมเข้มด้านการเดินทางและการเคลื่อนย้ายสินค้า ขณะที่ความต้องการน้ำมันพืชปรับตัวเพิ่มขึ้น

ราคาน้ำมันปาล์มตลาดล่วงหน้าของมาเลเซีย ส่งมอบเดือนพ.ค.เพิ่มขึ่้นเป็น 5,675 ริงกิต(1,356 ดอลลาร์)ต่อตันในวันจันทร์(21 ก.พ.)เพิ่มขึ้น 60% จากเดือนมิ.ย.ปี 2564  

ส่วนราคาน้ำมันพืชค้าปลีกในอินโดนีเซีย ที่ส่วนใหญ่ทำมาจากน้ำมันปาล์ม ปรับตัวขึ้นเกือบสองเท่าในไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ประกอบกับน้ำมันพืชหายไปจากตลาดทั้งตลาดทั่วไปและเอาท์เล็ทค้าปลีกสมัยใหม่

จึงปรากฏเป็นภาพที่ผู้คนจำนวนมากพากันไปเข้าคิวตามร้านสะดวกซื้อเพื่อซื้อน้ำมันพืชตามโควต้าการจัดสรรของรัฐบาลและภาพชั้นจำหน่ายน้ำมันพืชตามซูเปอร์มาร์เก็ตว่างเปล่า ซึ่งเหมือนเป็นเรื่องตลกร้ายที่ปัญหานี้เกิดขึ้นในประเทศที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่สุดของโลก

สำนักงานสถิติของรัฐบาลอินโดนีเซีย ระบุว่า ราคาน้ำมันปาล์มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อของประเทศในเดือนม.ค.ที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 20 เดือน และเพื่อสกัดราคาน้ำมันพืชไม่ให้สูงมากกว่านี้ รัฐบาลจึงพยายามแก้ปัญหาการกักตุนน้ำมันผ่านการสอดส่องดูแลของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น  

สมาคมน้ำมันปาล์มอินโดนีเซีย หรือกาปกิ กล่าวว่าผลผลิตน้ำมันปาล์มทั่วประเทศอยู่ที่ 46,89ล้านตันในปี 2564 ลดลงจากปี 2563 เพียง 0.31%  แต่การบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น 6% เป็น 18.4 ล้านตัน นำโดยการบริโภคโอเลโอเคมีที่เพิ่มขึ้นมากถึง 25% 

ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม ที่รวมถึงน้ำมันปาล์มและโอเลโอเคมี ปรับตัวขึ้น 0.6% หรือในปริมาณ 34.2 ล้านตันในปีที่แล้วโดยน้ำมันปาล์มเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ส่งออกใหญ่สุดของอินโดนีเซียนอกเหนือจากถ่านหิน โดยลูกค้าส่วนใหญ่คืออินเดียและจีน ตามมาด้วยบางประเทศในแอฟริกาและยุโรป