ถึงเวลาปรับตัว! ประชากรโลกลดต่อเนื่อง

ถึงเวลาปรับตัว! ประชากรโลกลดต่อเนื่อง

ประชากรโลกในแต่ละประเทศถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เป็นกำลังแรงงานสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่เช่นนั้นแล้วคงไม่มีคำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” แต่ปัญหาที่ประเทศส่วนใหญ่เผชิญอยู่ในขณะนี้คือ อัตราการเกิดลด จำนวนประชากรลดที่จะสร้างปัญหาตามมาในอนาคต

เว็บไซต์ยูโรมอนิเตอร์อินเตอร์เนชันแนลรายงานว่า อัตราการเกิดทั่วโลกตกต่ำลงในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งเคยคาดว่าข้อจำกัดการเดินทางของผู้คนเพื่อป้องกันโควิด-19 อาจทำให้อัตราการเกิดสูงขึ้น แต่กลับไม่เป็นตามนั้นในปี 2563 เมื่ออัตราการเกิดทั่วโลกลดฮวบ 3%

หากมองย้อนไปในอดีต เศรษฐกิจตกต่ำมักทำให้อัตราการเกิดลด ตัวอย่างเช่น วิกฤติเศรษฐกิจปี 2551 ส่งผลอัตราการเกิดลดลง 1% เป็นเวลาสามปีติดต่อกัน ส่วนปี 2563 อัตราการเกิดดิ่งลงกว่า 3% ในรอบหนึ่งปีเนื่องจากหลายปัจจัยผสมผสานกัน ทั้งความไม่มั่นคงทางการเงินเพิ่มมากขึ้น คนตกงานมากขึ้น บริการสาธารณสุขจำกัด พ่อแม่เหนื่อยล้ากับการงานอาชีพและชีวิตครอบครัวเนื่องจากลูกๆ ต้องมาเรียนออนไลน์

หากพิจารณาว่าการตั้งท้องต้องใช้เวลาราวเก้าเดือน ผลกระทบเต็มตัวจากโควิดจะรู้สึกได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 อัตราการเกิดที่ลดลงสูงกว่าค่าเฉลี่ยคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2564-2565 ด้วย หากพิจารณาเป็นรายภูมิภาค เอเชียแปซิฟิกและละตินอเมริกามีเด็กเกิดต่อประชากรหนึ่งพันคนลดลง 5% จีนนำโด่งลดลง 19% ในปี 2563 ผลจากโควิดระบาดและนโยบายลูกคนเดียวที่ใช้มานาน แม้ว่าในปี 2559 รัฐบาลจะอนุญาตให้มีลูกสองคน  และขยายเป็นสามคนในปี 2564 แต่จีนต้องประสบปัญหากับดักการเจริญพันธุ์ต่ำอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะเป็นเช่นนั้นต่อไป
 

อัตราการเกิดลดลงทั่วโลกเป็นความท้าทายระยะยาว

การวิเคราะห์ข้อมูลในอดีตยิ่งแน่ชัดว่าการระบาดของโควิดทำให้แนวโน้มโครงสร้างประชากรระยะยาวรุนแรงขึ้น ปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังพลวัตนี้ได้แก่ เมืองขยายตัว การเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ดีขึ้น ผู้หญิงสนใจการศึกษาและการทำงานมากขึ้น เห็นความสำคัญของการคุมกำเนิดมากขึ้น และการมีลูกช้าลง

ระหว่างปี 2543-2563 อัตราการเกิดทั่วโลกลดลง 21% นำโดยละตินอเมริกาและเอเชียแปซิฟิก ที่จำนวนทารกต่อประชากรพันคนลดลงหนึ่งในสาม แม้อัตราการเกิดในยุโรปตะวันออกคาดว่าคงที่ แต่ภูมิภาคอื่นน่าจะมีเด็กเกิดน้อยลงระหว่างปี 2563-2583 ภายในสิ้นศตวรรษหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น อิตาลี สเปน โปรตุเกสและเกาหลีใต้อาจมีประชากรเหลือแค่ครึ่ง

เพื่อส่งเสริมการเติบโตของประชากร นานาประเทศพยายามเพิ่มอัตราการเจริญพันธุ์สู่ระดับทดแทน เด็ก 2.1 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคนด้วยการให้แรงจูงใจส่งเสริมการเจริญพันธุ์ เช่น ฝรั่งเศสใช้นโยบายทางสังคมนานัปการ อาทิ สนับสนุนการดูแลบุตรและให้สิทธิประโยชน์เป็นวงกว้าง จนสามารถรักษาอัตราเจริญพันธุ์สูงสุดประเทศหนึ่งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วไว้ได้

ขณะเดียวกันกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียก็รักษาอัตราเจริญพันธุ์ในระดับค่อนข้างดีไว้ได้ เนื่องจากมีอัตราผู้หญิงและคุณแม่ทำงานสูงสุดในกลุ่มสหภาพยุโรป ควบคู่กับมีบริการดูแลเด็กไว้พร้อม
 

สถานการณ์ในประเทศมหาอำนาจน่าห่วง 

สำนักงานสถิติรัสเซียรายงานเมื่อปลายเดือน ม.ค.ว่า ปี 2564 ประชากรรัสเซียลดลงกว่าหนึ่งล้านคน มากที่สุดนับตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลาย ตัวเลขดังกล่าวเป็นแนวโน้มขาลงต่อเนื่องจากปี 2563 ที่ประชากรรัสเซียลดลงกว่า 500,000 คน ยิ่งโควิดระบาดยิ่งทำให้สถานการณ์ด้านประชากรเลวร้ายยิ่งขึ้น นับตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อโควิดรายแรกของประเทศ รัสเซียมีผู้เสียชีวิตกว่า 660,000 คนซ้ำเติมวิกฤติประชากรอันเป็นผลจากอัตราการเกิดต่ำและอายุคาดหวังสั้นที่รัสเซียประสบมาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา 

อัตราการเกิดที่ลดลงเป็นผลจากคนเป็นพ่อแม่รุ่นนี้เกิดในทศวรรษ 90 ที่อัตราการเกิดดิ่งลงเนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย จำนวนการเกิดต่อผู้หญิงหนึ่งคนอยู่ที่ราว 1.5 ต่ำมากเมื่อเทียบกับอัตรการทดแทนที่ 2.1

ตั้งแต่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ขึ้นสู่อำนาจเมื่อ 20 ปีก่อน นโยบายภายในประเทศของเขาให้ความสำคัญกับการเพิ่มประชากรเป็นอันดับแรก เมื่อแถลงกับประชาชนปูตินมักกระตุ้นให้ชาวรัสเซียมีลูกเพิ่มและดูแลสุขภาพให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มอายุคาดหวัง รัฐบาลเองก็ใช้มาตรการจูงใจทางการเงินให้พ่อแม่มีลูกมากกว่าหนึ่งคน เช่น ให้โบนัสและสินเชื่อจำนองดอกเบี้ยพิเศษ

ในการแถลงข่าวประจำปีเมื่อเดือน ธ.ค.2564 ปูตินย้ำว่า ประชากร 146 ล้านคนไม่พอสำหรับรัสเซียในแง่จุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์และทำให้ขาดแคลนแรงงาน การมีความสุขในการมีลูกเป็นเรื่องสำคัญมาก “ไม่มีความสุขใดในชีวิตและในโลกนี้ยิ่งใหญ่ไปกว่าการมีลูกอีกแล้ว” ประธานาธิบดีรัสเซียย้ำ

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานว่า ในปี 2564 จีนที่เศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก มีอัตราการเกิดลดลงมาอยู่ที่ 7.52 ต่อประชากร 1,000 คน จาก 8.52 ในปี 2563 ต่ำสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน

แม้ว่าทางการผ่อนปรนนโยบายลูกคนเดียวในปี 2559 ก็ไม่ได้ช่วยให้เด็กเพิ่มมาก ปี 2564 จึงขยายนโยบายอนุญาตให้คู่สมรสมีบุตรได้สามคน แต่ปี 2564 มีเด็กเกิด 10.62 ล้านคน ส่งผลประชากรจีนโดยรวมที่ 1.41 พันล้านคน ขณะที่อัตราการเติบโตของประชากรโดยธรรมชาติร่วงลงจาก 1.45 ต่อประชากร 1,000 คน มาอยู่ที่ 0.34

จาง จี้เหว่ย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทพินพอยท์แอสเสทแมเนจเมนท์ ระบุ “ความท้าทายด้านประชากรเป็นเรื่องที่ทราบกันดีอยู่แล้ว แต่สังคมสูงอายุเห็นได้ชัดว่ามาเร็วกว่าที่คาด ชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจีนชะลอตัวเร็วกว่าคาดเช่นกัน”

ทั้งนี้ เหตุผลที่จำนวนเด็กจีนเกิดใหม่น้อยมีทั้ังค่าครองชีพสูงขึ้นและวัฒนธรรมเปลี่ยน คนจีนตอนนี้นิยมอยู่กันเป็นครอบครัวเล็ก

ส่วนในสหรัฐเว็บไซต์ npr.org รายงานเมื่อเดือน พ.ค.2564 ว่า จำนวนเด็กเกิดใหม่ในสหรัฐปี 2563 ลดลง 4% จากปี 2562 อัตราการเจริญพันธุ์ทั่วไปอยู่ที่ 55.8 คนต่อผู้หญิง 1,000 คน อายุระหว่าง  15-44 ปี  ถือเป็นสถิติต่ำสุดอีกครั้ง

ศูนย์สถิติสุขภาพแห่งชาติสหรัฐเผยว่า ปี 2564 เป็นปีที่อัตราการเกิดลดลงเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน จากที่เคยเพิ่มขึ้นในปี 2557 โดยลดลงเฉลี่ย 2% ต่อปี จำนวนการเกิดต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2522 อัตราการเจริญพันธุ์โดยรวมยังคงต่ำกว่าอัตราทดแทนอยู่มาก เท่ากับว่าไม่มีเด็กเกิดใหม่เพียงพอมาทดแทนคนรุ่นพ่อแม่

อัตราทดแทนในทางสถิติคือ 2,100 ต่อผู้หญิง 1,000 คน แต่ในปี 2563 อัตราเจริญพันธุ์โดยรวมของสหรัฐลดลงเหลือ 1,637.5 ต่อผู้หญิง 1,000 คน ในปี 2562 อยู่ที่ 1,700 เศษต่อผู้หญิง 1,000 คน

โลกต้องปรับตัว

ยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชันแนลระบุว่า แม้อัตราการเกิดลดลงสัมพันธ์อย่างมากกับแนวโน้มเชิงบวกในบางเรื่อง เช่น การดูแลสุขภาพมารดาดีขึ้น ผู้หญิงมีการศึกษามากขึ้น แต่อัตราการเกิดลดลงไม่ได้นำไปสู่พัฒนาการทางเศรษฐกิจ เพราะหมายถึงการเก็บภาษีได้น้อยลงในอนาคต ซึ่งเมื่อผสมกับอัตราการเกษียณสูงและผลประโยชน์ด้านความมั่นคงทางสังคม ส่งผลให้งบประมาณรัฐไม่สมดุล ยิ่งไปกว่านั้นอัตราการเกิดที่ลดลงในหลายประเทศนำไปสู่การขาดแคลนแรงงานไปแล้ว

บางประเทศจึงต้องใช้มาตรการเชิงรุกลดความเสียหายด้วยการส่งเสริมการย้ายถิ่น เช่น แคนาดาต้อนรับผู้มีถิ่นพำนักถาวรรายใหม่กว่า 400,000 คนในปี 2564 หรือกว่า 1% ของประชากรแคนาดา อย่างไรก็ตาม การย้ายถิ่นในระดับโลกเป็นเกมที่มีคนแพ้คนชนะชัดเจน ขณะที่บางประเทศได้ประโยชน์จากอัตราการย้ายถิ่นสูง ประเทศอื่นๆ ต้องประสบปัญหาจากการที่ประชากรย้ายออก

บริษัทก็ต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงนี้ เมื่อสิบปีก่อนผู้สมัครงานต้องเจอการแข่งขันสูงมากในแต่ละตำแหน่ง แต่ตอนนี้บริษัทกำลังแข่งกันหาคนทำงาน อีกทั้งการแข่งขันยังขยับขึ้นไปอีกระดับเพิ่มเติมจากเงิน ผู้สมัครต้องการสถานประกอบการที่น่าดึงดูดใจในภาพรวม สามารถทำงานทางไกลได้ มีวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะสม และผลประโยชน์ตอบแทนอีกมากมาย

ท้ายที่สุดเมื่ออัตราการเกิดลดลงอย่างต่อเนื่องและประชากรสูงอายุ บริษัทต้องเผชิญการแข่งขันมากขึ้นทำให้ต้องปรับและเปลี่ยนโมเดลธุรกิจจากที่เคยทำสินค้าเน้นที่ครอบครัวต้องเปลี่ยนไปทำสินค้าเน้นผู้บริโภคสูงอายุแทน