กูรูชี้! สหรัฐอาจไม่ขาย F-35 ให้ไทยเพราะใกล้ชิดจีน

กูรูชี้! สหรัฐอาจไม่ขาย F-35  ให้ไทยเพราะใกล้ชิดจีน

ตามที่ ผบ.ทอ. สนใจอยากซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35 จากบริษัทล็อกฮีดมาร์ตินของสหรัฐ ที่ ครม.มีมติอนุมัติงบก้อนใหญ่ 1.38 หมื่นล้านบาท ให้ซื้อมาทดแทน F-16 แต่นักวิจัยต่างประเทศวิเคราะห์ว่า งานนี้อาจไม่ง่าย

เมื่อวันที่ 14 ก.พ. เว็บไซต์ fulcru.sg เผยแพร่บทความของเอียน สตอรีย์ (Ian Storey)  นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (ไอเอสอีเอส) ในสิงคโปร์ สรุปได้ว่า ผบ.ทอ.ไทยต้องการซื้อเครื่องบินรบ F-35 ผลิตโดยสหรัฐจำนวน 8 ลำ แม้การซื้อขายจะช่วยส่งเสริมความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐกับไทย แต่รัฐบาลวอชิงตันอาจลังเลอนุมัติการขาย เพราะไทยมีสัมพันธ์ทางทหารกับจีนเพิ่มขึ้นทุกขณะ

เนื้อหาบทความกล่าวว่า นอกเหนือจากอุบัติเหตุใหญ่บนเครื่องบินอังกฤษและอเมริกันสองครั้ง ปี 2564 ถือเป็นปีที่ดีสำหรับการส่งออก F-35 Lightning II (หรือที่รู้จักกันในนาม Joint Strike Fighter) เครื่องบินรบทันสมัยที่สุดของสหรัฐ โดย ล็อกฮีดมาร์ติน บริษัทผู้ผลิต ส่งมอบ F-35 ให้ลูกค้าทั่วโลกแล้ว 142 ลำ ฟินแลนด์และสวิตเซอร์แลนด์ก็สั่งซื้อมาเสริมทัพ ขณะนี้เครื่องบินรบล่องหนรุ่นที่ 5 กว่า 750 ลำกำลังประจำการอยู่ในกองทัพ 9 ประเทศ

หากความปรารถนาของพล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผบ.ทอ. เป็นจริง ไทยจะเป็นลูกค้ารายต่อไปของล็อกฮีดมาร์ติน และเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สั่งซื้อ F-35 ต่อจากสิงคโปร์

เดือนที่แล้วมีรายงานว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการตามคำขอของพล.อ.อ.นภาเดช ซื้อ F-35 จำนวน 4 ลำในปีงบประมาณ 2566 ในราคา 1.38 หมื่นล้านบาท พล.อ.อ.นภาเดชชี้แจงว่า ฝูงบิน F-5 และ F-16 ผลิตโดยสหรัฐเก่าแล้วจำต้องหามาเปลี่ยน และราคาของ F-35 ก็ลดลงมากจากลำละ 147 ล้านดอลลาร์ในปี 2550 ตอนนี้เหลือลำละไม่ถึง 80 ล้านดอลลาร์

ยิ่งไปกว่านั้น ผบ.ทอ.กล่าวด้วยว่า ไม่จำเป็นต้องซื้อ F-35 ทั้งฝูง 12 ลำ ในทัศนะของเขาแค่ 8 ลำก็พอแล้วโดยเฉพาะเมื่อนำมาใช้คู่กับอากาศยานไร้คนขับ (ยูเอวี) ที่กำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้

ไม่น่าแปลกใจที่การตัดสินใจของ ครม.ถูกวิจารณ์อย่างหนัก คำขอของพล.อ.อ.นภาเดชเกิดขึ้นในช่วงที่เกิดความวิตกต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงผลจากโควิด-19 ระบาด ทั้งยังตอกย้ำเสียงวิจารณ์กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพไทยที่ไม่โปร่งใส

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ กองทัพเรือสั่งซื้อเรือดำน้ำจีน 3 ลำในปี 2560และเช่นเดียวกับเรือดำน้ำนักวิจารณ์ยังตั้งคำถามถึงความสมเหตุสมผลทางยุทธศาสตร์ในการซื้อเครื่องบินรบราคาแพง ไทยมีภัยคุกคามจากภายนอกต่ำ เพื่อนบ้านใหญ่สุดบนแผ่นดินใหญ่อาเซียนทั้งเมียนมาและเวียดนามกำลังวุ่นวายอยู่กับสงครามกลางเมืองและจีนตามลำดับ แล้วไทยจะต้องการเครื่องบินรบทันสมัยขนาดนั้นไปทำไม

งบประมาณที่พล.อ.อ.นภาเดชขอ 415 ล้านดอลลาร์ก็ถูกตั้งคำถามเช่นเดียวกัน F-35 มีสามรุ่น รุ่น A ขึ้น-จอดแบบเดิม รุ่น B ขึ้น-จอดระยะสั้น รุ่น C ใช้สำหรับเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐ กองทัพสหรัฐใช้ทั้งสามรุ่น

ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ใช้รุ่น A และ B อังกฤษซื้อเฉพาะรุ่น B ออสเตรเลียซื้อเฉพาะรุ่น A สิงคโปร์สั่งรุ่น B 4 ลำ แต่มีแนวโน้มซื้อเพิ่มภายหลัง

ไทยต้องการ F-35A จำนวน 4 ลำ ซึ่งแพงน้อยที่สุดในบรรดาสามรุ่น พล.อ.อ.นภาเดช คิดว่าตนสามารถต่อรองราคาลงมาจากลำละราว 80 ล้านดอลลาร์ เหลือราว 70 ล้านดอลลาร์ ถูกกว่าเครื่องบินรบกริพเพนเจน 4.5 ของสวีเดนที่กองทัพอากาศใช้อยู่ในขณะนี้ที่ราคาลำละราว 85 ล้านดอลลาร์ แต่สุดท้ายแล้วราคาของเครื่องบินแต่ละลำย่อมขึ้นอยู่กับอาวุธและอุปกรณ์ที่ติดตั้ง

สวิตเซอร์แลนด์ต้องจ่ายลำละ 112 ล้านดอลลาร์ สำหรับ F-35A 36 ลำ ฟินแลนด์ซื้อ 64 ลำในราคาลำละ 83 ล้านดอลลาร์

บางที พล.อ.อ.นภาเดชกำลังเล็งข้อตกลงแบบเดียวกับฟินแลนด์ แต่สิ่งนี้ไม่ได้อธิบายว่าทำไมเขาถึงของบฯ ลำละ 104 ล้านดอลลาร์ ถ้าไม่ได้รวมอาวุธและยูเอวีเข้าไปด้วย ซึ่งเขาจำเป็นต้องชี้แจงแต่คำถามใหญ่คือ สหรัฐจะเห็นชอบขาย F-35 ให้ไทยหรือไม่

ในฐานะพันธมิตรของสหรัฐ ไทยมีโอกาสที่ดี รัฐบาลวอชิงตันอนุมัติขายเครื่องบิน F-35 ในพันธมิตรนาโต 7 ชาติ และพันธมิตรในอินโดแปซิฟิกอีกสามชาติ ได้แก่ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ขายให้สิงคโปร์ในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

หากการซื้อขายเดินหน้าจะเป็นตัวหนุนความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐกับไทยได้เป็นอย่างดี หลังจากติดหล่มมาตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็นเพราะไม่มีการรับรู้ภัยคุกคามร่วมกัน และกองทัพสหรัฐระงับความช่วยเหลือไทยหลังการรัฐประหารปี 2549 และ 2557

สมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ความสัมพันธ์ด้านกลาโหมกลับมาเป็นปกติ และนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างพันธมิตรสหรัฐให้แข็งแกร่ง

ถ้าไทยซื้อ F-35 จะเพิ่มระดับความร่วมมือระหว่างกองทัพอากาศสหรัฐกับไทย สิ่งนี้แสดงให้เห็นชัดเจนเมื่อปีก่อน ตอนที่ F-35 เทคออฟและลงจอดจากเรือรบอังกฤษและญี่ปุ่น

กระนั้น วอชิงตันก็ยังไม่อนุมัติ นักวางแผนกลาโหมสหรัฐจะตั้งคำถามว่า ไทยสามารถซื้อเครื่องบินหรือดูแลเครื่องที่จำเป็นต้องบำรุงรักษาอย่างดีได้จริงหรือไม่ (งบประมาณเรือดำน้ำจีน 2 จาก 3 ลำถูกระงับไปแล้ว)

แต่ที่สหรัฐกังวลที่สุดคือไทยมีสัมพันธ์ทางทหารใกล้ชิดกับจีนมากขึ้นทุกที นับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 จีนกลายเป็นผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่สุดให้กับไทย กองทัพไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศและเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ซ้อมรบประจำปีกับกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (พีแอลเอ) ทั้งสามเหล่าทัพ

แม้สหรัฐจะห้ามกองทัพอากาศไทยไม่ให้ใช้ F-35 ซ้อมรบร่วมกับกองทัพอากาศพีแอลเอ เพนตากอนจะยังกังวลต่อไปว่า สายสัมพันธ์ทางทหารที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับจีนอาจเข้าถึงเทคโนโลยีอันอ่อนไหวของ F-35 ได้

วอชิงตันไม่กลัวที่จะลงมือในสิ่งที่ตนกังวล เมื่อปี 2562 สหรัฐไม่ขาย F-35 ให้กับพันธมิตรนาโตอย่างตุรกี หลังจากตุรกีซื้อขีปนาวุธ S-400 ยิงจากพื้นสู่อากาศจากรัสเซีย ด้วยเกรงว่าจะไปลดทอนเทคโนโลยีของ F-35

เมื่อ 2-3 เดือนก่อน รัฐบาลไบเดนระงับการขายเครื่องบิน F-35 จำนวน 50 ลำให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่่มีสัมพันธ์กับจีนมากขึ้น ตอนที่F-35 ตกในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลจีนใต้ สหราชอาณาจักรและสหรัฐรีบเข้าไปกู้ เพื่อป้องกันไม่ให้เทคโนโลยีตกไปอยู่ในมือของรัสเซียและจีน

ปี 2563 อินโดนีเซียแสดงความสนใจอยากซื้อ F-35 แต่ด้วยความกังวลแบบเดียวกัน วอชิงตันปฏิเสธไปอย่างสุภาพแล้วเสนอ F-15 Eagle ให้แทน (การขายผ่านไปเมื่อสัปดาห์ก่อน) ตอนนี้สหรัฐยังไม่ได้ตอบรับความสนใจ F-35 ของไทย แต่น่าจะเสนอ F-15 ให้พล.อ.อ.นภาเดชแทนเช่นกัน เขาอาจยอมรับหรือไม่ก็ใช้ไม้แข็งบอกกับวอชิงตันว่า ถ้าปฏิเสธคำขอซื้อเครื่องบินล่องหนเขาจะหันไปหารัสเซีย (SU-57 Checkmate) หรือจีน(FC-31 Gyrfalcon) แทน และเมื่อนั้นการเจรจาต่อรองอย่างเข้มข้นจะเริ่มขึ้น