ถอดรหัส "ไทย - ซาอุฯ" สัมพันธ์การทูตเบอร์หนึ่ง

ถอดรหัส "ไทย - ซาอุฯ" สัมพันธ์การทูตเบอร์หนึ่ง

ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ซาอุฯกลับสู่ระดับปกติ นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565 ที่ต้องถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ด้านการต่างประเทศ

ก่อนหน้านี้เป็นระยะเวลา 30 กว่าปีที่มีการลดระดับความสัมพันธ์การทูตของไทย-ซาอุฯ โดยมีอุปทูตรักษาการแทนของทั้งสองฝ่าย เป็นช่วงที่มีข้อจำกัดในการส่งเสริมความสัมพันธ์และขีดขั้นของการติดต่อแลกเปลี่ยนมีจำกัด รวมทั้งมีช่องว่างการติดต่อคบหากันของประชาชนและการสนับสนุนกันในเวทีระหว่างประเทศ

การปรับความสัมพันธ์ทางการทูตกลับสู่ระดับปกติอย่างสมบูรณ์จึงย่อมจะเป็นการเปิดประตูสู่ศักราชใหม่และสร้างโอกาสทุกด้านรวมทั้งด้านเศรษฐกิจ การลงทุนและการพัฒนา ตลอดจนนวัตกรรมเทคโนโลยี และการส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชนของทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องเฟื่องฟูพิเศษในศตวรรษนี้

 

ถอดรหัส \"ไทย - ซาอุฯ\" สัมพันธ์การทูตเบอร์หนึ่ง

“ดอน ปรมัตถ์วินัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจว่า การพบปะกันของผู้นำไทยและเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีกลาโหมซาอุฯ ครบสมบูรณ์เกินกว่าที่คาดไว้ 

โอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้กราบบังคมทูลเชิญมกุฎราชกุมารซาอุฯ เสด็จฯ เยือนประเทศไทย ซึ่งพระองค์ทรงตอบรับคำเชิญ โดยกระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือกราบบังคมทูลเชิญเป็นลายลักษณ์อักษรส่งตามไปหลังจากนั้น และในระหว่างนี้กระทรวงการต่างประเทศ 2 ประเทศ จะต้องหารือกันต่อ เพื่อกำหนดแผนงานความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมและเตรียมการจัดตั้งกลไกความร่วมมือ ตามที่ผู้นำทั้งสองประเทศได้หารือกันไว้

ดอนเล่าว่า ในการเยือนของพล.อ.ประยุทธ์ได้รับการต้อนรับจากซาอุฯ อย่างสมเกียรติเต็มที่ สะท้อนถึงการเปิดรับไมตรีจิตและซาอุฯ ต้องการกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหลังการหารือทวิภาคีของผู้นำสองประเทศที่ครอบคลุมทุกประเด็นที่สำคัญ ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว พลังงาน แรงงาน อาหาร สุขภาพ ความมั่นคง การศึกษาและศาสนา การค้าการลงทุน และการกีฬา ในช่วงรับประทานอาหารกลางวันยังมีการสนทนาบนโต๊ะอาหารอย่างสนุกและต่อเนื่อง

 

ถอดรหัส \"ไทย - ซาอุฯ\" สัมพันธ์การทูตเบอร์หนึ่ง

ทั้งสองคุยกันสารพัดเรื่องทั้งการแข่งขันฟอร์มูล่าวัน ทีมสโมสรฟุตบอลนิวคาสเซิล การพัฒนาแอนิเมชั่น การดูแลสุขภาพ รวมถึงแตะเรื่องพลังงานเล็กน้อย และเพิ่มเติมอีกจากการสั่งการของมกุฎราชกุมารซาอุฯ ให้รัฐมนตรีพลังงานซาอุฯ จัดเวลาไปพบปะกับรัฐมนตรีพลังงานของไทยที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาดในตอนค่ำ

“การพูดคุยของมกุฎราชกุมารซาอุฯ กับพล.อ.ประยุทธ์บนโต๊ะอาหารออกรสออกชาติ จนผมต้องถามเจ้าชายฟัยศ็อล บินฟัรฮาน อัลซะอูด รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุฯ ว่าสิ่งเหล่านี้สะท้อนอะไรในวิถีของซาอุฯ ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศซาอุฯ บอกว่า มกุฎราชกุมารสนพระทัยทุกเรื่อง มีความจริงจัง เน้นผลลัพธ์ของทุกภารกิจให้เป็นรูปธรรม โดยภาพรวมการเยือนครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจตรงกัน คุยครบจบทุกเรื่อง

ดอน เล่าเสริมว่า ได้ถามล่ามที่แปลตลอดเหมือนกัน เขาบอกว่า เสียงหัวเราะคุยกันยิ้มแย้มในทุกเรื่องเป็นเหมือนคนในครอบครัวเดียวกันคุยกัน

ส่วนเบื้องหลังการปรับความสัมพันธ์ เกิดจากความพยายามของพล.อ.ประยุทธ์ที่ติดตามและกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสานสัมพันธ์ต่อเนื่องกับซาอุฯ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศทุกระดับ และสถานทูตฯ ที่ริยาดก็ทุ่มเทประสานสิบทิศ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ความสำเร็จ

ดอนกล่าวว่า การฟื้นฟูความสัมพันธ์ของไทยและซาอุฯ เกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการร่วมกัน และเป็นผลจากการหารือ 3 ฝ่าย ที่พล.อ.ประยุทธ์ และเจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ บิน ซัลมาน อัลเคาะลีฟะฮ์ นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรบาห์เรน พร้อมด้วยนายอาดิล บิน อะหมัด อัลณูบีร รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุฯ ในขณะนั้น ได้พบปะในช่วงการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2559 ที่กรุงเทพฯ 

โดยในการประชุม ACD มีบางประเด็นที่ซาอุฯ พอใจในความร่วมมือที่ไทยในฐานะประธานได้ช่วยดูแลให้ก้าวข้ามไปอย่างเรียบร้อย กับทั้งมิตรไมตรีที่ดียิ่งระหว่าง พล.อ. ประยุทธ์กับเจ้าชายอัลเคาะลีฟะฮ์ นายกฯ บาห์เรน

และการที่ซาอุฯ มีความชัดเจนในแนวนโยบายใหม่ที่เริ่มใช้ในการพัฒนาประเทศ ( Saudi Vision 2030) เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน สร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ และเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ

 

ถอดรหัส \"ไทย - ซาอุฯ\" สัมพันธ์การทูตเบอร์หนึ่ง  

การประชุม 3 ฝ่ายนี้ถือเป็นการพบกันครั้งแรกระหว่างไทยกับซาอุฯ ในระดับสูงสุดที่หารือประเด็นปรับความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นไปด้วยดียิ่ง เมื่อจบการประชุม ก่อนกลับรัฐมนตรีต่างประเทศซาอุฯ เดินมาร่ำลาและสวมกอด ทั้งที่พบกันที่กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก นั่นย่อมแสดงถึงมิตรไมตรี และสร้างภาพจำมาถึงขณะนี้

ถัดมาผมได้พบกับรัฐมนตรีฯ อัลณูบีร อีกครั้งในช่วงต้นปี 2560 ที่กรุงวอชิงตัน ซึ่งบังเอิญพักอยู่โรงแรมเดียวกันจึงติดต่อขอพูดคุยกัน ซึ่งอัลณูบีรก็ตอบรับทันที เพราะการพบปะ 3 ฝ่ายที่กรุงเทพฯ หนก่อนเป็นไปด้วยดียิ่ง การพบกันอีกครั้งที่กรุงวอชิงตันจึงเป็นการหารือที่อบอุ่น และเขากล่าวโดยไม่ลังเลว่า ขอเชิญ พล.อ. ประยุทธ์ เยือนซาอุฯ และหากไปก่อนเข้าเดือนรอมฎอนก็จะดี รวมทั้งบอกชัดเจนว่าเป็นการเยือนที่จะปรับความสัมพันธ์เป็นปกติด้วย อย่างไรก็ดี การเยือนซาอุฯ ของนายกรัฐมนตรียังไม่ได้เกิดขึ้น เพราะมีหลายเรื่องราวเกิดขึ้นในแต่ละภูมิภาค ทำให้ซาอุฯ มีเรื่องอื่นที่จะต้องดำเนินการในช่วงปี 2560

เรื่องนี้กลับมาอีกครั้งในปี 2562 นายกฯประยุทธ์ ในฐานะประธานอาเซียนเดินทางไปร่วมการประชุมผู้นำจี 20 ที่โอซากา และได้พบปะกับมกุฎราชกุมารซาอุฯ ซึ่งถือว่าเป็นการพบในระดับสูงสุดของไทยและซาอุฯที่สำคัญที่สุด โดยผู้นำซาอุฯแจ้งว่าถึงเวลาแล้วสำหรับการปรับความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ เรื่องต่างๆ ในอดีตเราต้องก้าวข้าม และจากการสั่งการของ พล.อ. ประยุทธ์ให้ติดตามสานต่อเรื่องนี้ให้ลุล่วง จึงมีการติดต่อประสานกับฝ่ายซาอุฯในระดับ รมวกต.อีกหลายครั้งหลังจากนั้น

 

ถอดรหัส \"ไทย - ซาอุฯ\" สัมพันธ์การทูตเบอร์หนึ่ง

โดยเริ่มในเดือนก.ย. 2562 ผมได้ติดตามดำเนินการในเรื่องนี้กับอิบราฮิม อับดุลอาซิซ อัล-อัสซาฟ รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุฯ ที่มารับช่วงต่อในขณะนั้น

กระทั่งเดือน ม.ค.2563 ผมได้เดินทางเยือนซาอุฯ ตามคำเชิญของเจ้าชายฟัยศ็อล บิน ฟัรฮาน อัลซะอูด รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุฯ คนปัจจุบัน เป็นโอกาสได้ติดตามเรื่องนี้ แม้ว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทั้งไทยและซาอุฯ ต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็มีการประสานงานอย่างเข้มข้น นำไปสู่การเยือนระดับผู้นำอย่างเป็นทางการเมื่อ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา

 

ถอดรหัส \"ไทย - ซาอุฯ\" สัมพันธ์การทูตเบอร์หนึ่ง

ดอนกล่าวด้วยว่า ในเร็วๆนี้จะมีคณะนักธุรกิจไทยไปเยือนซาอุฯ ถือเป็นก้าวสำคัญของการเชื่อมการปฎิสัมพันธ์ยุคใหม่ของสองประเทศ ที่ทุกฝ่ายจำเป็นต้องช่วยกันดูแลเกื้อกูลให้สมประโยชน์ของทุกภาคส่วนบนพื้นฐานที่มั่นคงและยั่งยืน ซึ่งคณะเยือนดังกล่าวฯ น่าจะเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายเดือน ก.พ. นี้