“ปักกิ่งโอลิมปิก”กีฬาการเมือง? “สี จิ้นผิง”ทวนกระแส“คว่ำบาตร”

“ปักกิ่งโอลิมปิก”กีฬาการเมือง? “สี จิ้นผิง”ทวนกระแส“คว่ำบาตร”

จีนมีบทบาทสำคัญในโอลิมปิกมาตั้งแต่เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2551 และโอลิมปิกฤดูหนาวที่จะเริ่มขึ้นเย็นพรุ่งนี้ โลกกำลังหันมามองจีนอีกครั้ง และจีนพร้อมแล้ว เราจะทำอย่างดีที่สุดจัดการแข่งขันที่คล่องตัว ปลอดภัย และเยี่ยมยอดให้โลกเห็น” สุนทรพจน์ตอนหนึ่งของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่เผยแพร่ผ่านคลิปวีดิโอสั้นต่อคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ก่อนที่โอลิมปิกฤดูหนาวจะเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการในวันนี้ (4 ก.พ.) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน

กรุงปักกิ่ง ถือเป็นเมืองแรกที่ได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกทั้งฤดูหนาวและฤดูร้อน แต่ระหว่างเตรียมการต้องเผชิญทั้งการคว่ำบาตรทางการทูต และการระบาดของโควิด-19 โดยสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และพันธมิตรบางประเทศไม่ส่งตัวแทนทางการทูตมาร่วมพิธีเปิด อ้างข้อกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชนในจีน

อีกทั้ง กลุ่มสิทธิมนุษยชนยังวิจารณ์ไอโอซีมาตลอด ที่ให้สิทธิจีนจัดโอลิมปิก ทั้งๆ ที่มีประเด็นการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์และชาวมุสลิมอื่นๆ สหรัฐถึงกับเรียกว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่จีนปฏิเสธการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ขณะที่นายโทมัส บาค ประธานไอโอซี ชี้แจงการตัดสินใจของไอโอซีเสมอมาว่า ไอโอซีไม่ใช่องค์การเมือง ไม่มีอำนาจเหนือรัฐอธิปไตย

วานนี้ บาคแถลงว่า สองปีก่อนถึงปักกิ่งเกมส์ เขาเห็น “เมฆดำของการทำกีฬาให้เป็นการเมืองอยู่บนขอบฟ้า เรายังเห็นผีบอยคอตในอดีตกลับมาหลอกหลอนในใจคนจำนวนหนึ่งอีกครั้ง”

ในอดีตยุคสงครามเย็น โอลิมปิกเคยถูกบอยคอตจากหลายประเทศเมื่อ พ.ศ. 2519, 2523 และ 2527 บั่นทอนความเป็นสากลและการเงินอย่างรุนแรง

“นี่คือเหตุผลที่เราต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อให้ภารกิจโอลิมปิกครอบคลุมถึงผู้นำ และรัฐบาลให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้”

ด้านนักวิเคราะห์มองว่า จีนพร่ำเตือนแทบทุกวันว่า อย่าทำโอลิมปิกฤดูหนาวปักกิ่งให้เป็นเรื่องการเมือง ทว่า สำหรับผู้ปกครองจีน เกมนี้ไม่ใช่แค่การแข่งขันกีฬาเพื่อคว้าเหรียญทอง แต่เป็นมากกว่านั้น

 ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ข้อกล่าวหาจากชาติตะวันตก เรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม การคว่ำบาตรทางการทูต การจัดโอลิมปิกเป็นศักดิ์ศรีเกียรติภูมิระดับโลกของจีน และพรรคคอมมิวนิสต์ เผลอๆ ความยากลำบากของปักกิ่ง 2022 อาจเพิ่มชื่อเสียงของจีนด้วยก็ได้ เพราะการเป็นเจ้าภาพเกมส์ที่ปลอดภัยและยอดเยี่ยมท่ามกลางโควิด จะช่วยหนุนข้ออ้างของจีนที่ว่า ประสบความสำเร็จในการควบคุมโควิด ด้วยวิธีการปกครองแบบท็อปดาวน์

สตีฟ ซาง ผู้อำนวยการสถาบันจีน วิทยาลัยบูรพคดีและแอฟริกาศึกษา (SOAS) มหาวิทยาลัยลอนดอน กล่าวว่า การวิจารณ์ชาติตะวันตกของจีน ว่าเอาเรื่องกีฬามาทำเป็นเรื่องการเมือง “ถ้าไม่ปากว่าตาขยิบสุดๆ อย่างน้อยก็ถือว่าย้อนแย้งมาก ข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขากำลังใช้โอลิมปิกเป็นงานการเมืองใหญ่ แสดงภาพลักษณ์ของจีนต่อนานาชาติ ซึ่งเป็นการกระทำทางการเมืองอีกอย่างหนึ่ง กำลังถูกละเลยไปโดยสิ้นเชิง”

เอเอฟพี ระบุว่า ที่ผ่านมาจีนแทบไม่เคยแยกกีฬากับการเมืองออกจากกันเลย หลังจากตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ไม่นาน จีนลงแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงเฮลซิงกิใน พ.ศ.2495 จากนั้นก็หายไป 25 ปี เพื่อประท้วงคณะกรรมการโอลิมปิกสากลที่อนุญาตให้นักกีฬาจากไต้หวันลงแข่งด้วย แม้ว่าปัจจัยสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศภายใต้เหมาเจ๋อตง

จีนกลับมาร่วมโอลิมปิกฤดูหนาวใน พ.ศ.2523 ที่เมืองเลคแพลซิด สหรัฐ แต่ต่อมาในปีนั้นจีนร่วมกับอีกหลายสิบประเทศไม่เข้าร่วมโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงมอสโก หลังจากสหภาพโซเวียตรุกรานอัฟกานิสถาน ตั้งแต่นั้นพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ใช้โอลิมปิกเป็นเครื่องมือแสดงบทบาทระดับโลก ปักกิ่งขอเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก พ.ศ.2543 แต่ต้องพ่ายให้กับซิดนีย์ หลังจากสหรัฐและพันธมิตรแสดงความกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชน และอื่นๆ แต่กรุงปักกิ่งก็สู้ต่อจนประสบความสำเร็จ ได้สิทธิเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันใน พ.ศ.2551

เมื่อโลกจับตามอง โอลิมปิกจึงเป็นงานใหญ่ของจีนที่สร้างความฮือฮาคว้าทั้งเหรียญ และชื่อเสียงระดับนานาชาติ

รัฐบาลใช้ประโยชน์จากทุกโอกาสในเกม ทั้งปิดกรุงปักกิ่ง ใช้นักร้องลิปซิงตระการตา จุดพลุจากคอมพิวเตอร์อย่างอลังการในพิธีเปิด ขับแรงงานย้ายถิ่น และคนที่มองว่าไม่น่าพึงปรารถนาให้พ้นสายตา

ถึงโอลิมปิกฤดูหนาวรอบนี้ ยิ่งเข้มงวดขึ้นไปอีก ด้วยมาตรการคุมโควิด-19 อย่างเข้มงวดที่สุด และจีนเตือนนักกีฬาต่างชาติ อย่าแสดงท่าทีทางการเมือง

การเมืองกับโอลิมปิกคือคู่เรียงเคียงหมอนที่คุ้นเคย ประเทศเจ้าภาพเองก็มักใช้เกมส์ส่งสารเป็นวงกว้าง เช่น โตเกียวโอลิมปิก พ.ศ.2507 และโซลโอลิมปิก พ.ศ.2531 ส่งสารถึงการกลับมาของประเทศที่เคยพังเพราะสงคราม ฮิตเลอร์ก็เคยใช้โอลิมปิก พ.ศ.2479 แสดงการมาถึงของลัทธินาซี

ทว่า ในฐานะเมืองเดียวที่ได้เป็นเจ้าภาพทั้งโอลิมปิกฤดูร้อนและฤดูหนาว การกลับมาเป็นเจ้าภาพของปักกิ่งยิ่งเพิ่มชื่อเสียงให้มากขึ้น

 จัง วู ลี นักวิจัยนโยบายกีฬา มหาวิทยาลัยเอดินบะระ กล่าวว่า โอลิมปิกฤดูหนาวถูกมองว่า เป็นสโมสรของเจ้าภาพที่ก้าวหน้าและมั่งคั่งเพียงไม่กี่แห่ง

“การจัดโอลิมปิกฤดูหนาวในเมืองหลวง อาจเป็นสัญลักษณ์ว่า จีนไม่ได้ล้าหลังประเทศประชาธิปไตยตะวันตกในแง่ศักดิ์ศรีเกียรติภูมิระหว่างประเทศ” นักวิจัยนโยบายกีฬากล่าว ไม่เพียงเท่านั้น เกียรติภูมิในประเทศของรัฐบาลจีนก็เพิ่มขึ้นด้วย

เหล่านักวิเคราะห์กล่าวด้วยว่า แม้ได้ชื่อว่าควบคุมภาพลักษณ์ได้ทั้งหมด แต่ดูเหมือนว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังรู้สึกไม่มั่นคงอย่างไม่น่าเชื่อ มุ่งมั่นแสดงภาพความสำเร็จต่อชาวจีน ขณะที่ซุกความล้มเหลวไว้ใต้พรม

“สารที่แท้จริงคือส่งไปถึงประชาชนในจีน บอกให้รู้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์สามารถทำให้จีนสูงส่ง และทำให้ชาวจีนภาคภูมิใจได้มากขนาดไหน” ซาง กล่าว

ริชาร์ด บากา ผู้อำนวยการร่วมเครือข่ายวิจัยโอลิมปิก มหาวิทยาลัยวิกตอเรีย ในเมลเบิร์น กล่าวว่า แม้การเป็นเจ้าภาพของจีนอาจพ่วงด้วยการถูกจับตาอย่างละเอียดจากโลก ผู้นำจีนก็อาจทำแบบนี้อีก เพราะนั่นหมายความว่า จีนมีความสำคัญในโลกสมัยใหม่ที่ควรมายุ่งเกี่ยวด้วย แม้ว่าต้องใช้เวลาสักพักกว่าจีนจะได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกอีก แต่ไม่อาจหยุดยั้งจีนไม่ให้จัดการแข่งขันกีฬารายการใหญ่ได้ และเป้าหมายต่อไปจีนอาจเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก