1ปีรัฐประหารเมียนมา‘สหรัฐ-ชาติตต.’คว่ำบาตรศก.

1ปีรัฐประหารเมียนมา‘สหรัฐ-ชาติตต.’คว่ำบาตรศก.

1ปีรัฐประหารเมียนมา‘สหรัฐ-ชาติตต.’คว่ำบาตรศก. ซึ่งภายใต้มาตรการลงโทษล่าสุด สินทรัพย์ในสหรัฐของบุคคลและองค์กรที่ถูกระบุชื่อไว้จะถูกจำกัดการเข้าถึงหรือปิดกั้นโดยอัตโนมัติ

สหรัฐ แคนาดา และอังกฤษ ออกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจชุดใหม่เมียนมา ในโอกาสครบรอบ1ปี รัฐประหารเมียนมา ขณะยูเอ็นเดินหน้าตรวจสอบพฤติกรรมกองทัพเมียนมา คดีก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรรมสงคราม หลังมีประชาชนถูกรัฐบาลทหารสังหารกว่า 1,000 คน

"ไบรอัน เนลสัน” ปลัดกระทรวงการคลังของสหรัฐ เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (31ม.ค.)ว่า สหรัฐรวมทั้งพันธมิตร เช่น สหราชอาณาจักรและแคนาดา ตัดสินใจยืนหยัดร่วมกันกับประชาชนชาวเมียนมาที่พยายามต่อสู้ให้ได้มาซึ่งเสรีภาพและประชาธิปไตย

พร้อมระบุว่า จะเดินหน้าใช้มาตรการลงโทษโดยพุ่งเป้าไปยังบรรดาผู้ที่รับผิดชอบต่อการก่อรัฐประหารและเหตุรุนแรงที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และผู้ที่สนับสนุนให้ประเทศนี้ทำการกดขี่ปราบปราบอย่างโหดร้าย รวมทั้งผู้ที่ให้การสนับสนุนทางการเงินต่างๆ ด้วย

รายงานข่าวระบุว่า ผู้ที่ถูกขึ้นชื่อในมาตรการลงโทษรอบใหม่นี้รวมถึง “ทิดา อู” อัยการสูงสุด และ“ตุน ตุน อู”ตุลาการสูงสุด รวมทั้ง "ติน อู" ประธานคณะกรรมการต่อต้านคอร์รัปชั่น 

ส่วนองค์กรสองแห่งที่ถูกรวมอยู่ในมาตรการล่าสุดนี้ ได้แก่ บริษัท KT Services & Logistics และคณะทำงานด้านการจัดซื้อจัดจ้างของผู้บัญชาการสูงสุดของบริการด้านกลาโหมของเมียนมา ซึ่งสหรัฐระบุว่า ให้การสนับสนุนรัฐบาลทหารมาโดยตลอด

ด้าน แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ แถลงว่า สหรัฐจะเดินหน้าร่วมมือกับหุ้นส่วนนานาชาติในการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และกดดันให้เมียนมายุติการใช้ความรุนแรง รวมทั้งปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังโดยไม่ยุติธรรม พร้อมกับอนุญาตให้มีการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปโดยไม่มีการกั้นขวางใดๆ และฟื้นฟูการเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยของประเทศด้วย

ภายใต้มาตรการลงโทษล่าสุด สินทรัพย์ในสหรัฐของบุคคลและองค์กรที่ถูกระบุชื่อไว้จะถูกจำกัดการเข้าถึงหรือปิดกั้นโดยอัตโนมัติ

วันเดียวกันนี้ คณะผู้สอบสวนของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า มีประชาชนจำนวนกว่า 1,000 คน ที่อาจเสียชีวิตในการกระทำ ที่เข้าข่ายเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรรมสงคราม นับตั้งแต่เกิดเหตุรัฐประหารในเมียนมาเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา

หน่วยงานสอบสวนอิสระของยูเอ็นกรณีเมียนมา (ไอไอเอ็มเอ็ม) ได้รวบรวมหลักฐานของการประกอบอาชญากรรมระหว่างประเทศที่ถือว่าร้ายแรงที่สุด และกำลังพิสูจน์ว่าใครที่จะต้องรับผิดชอบต่อการก่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้น

“นิโคลาส คูมเจียน” หัวหน้าไอไอเอ็มเอ็ม กล่าวว่า รายงานชิ้นนี้ เป็นรายงานที่เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเมียนมามาตลอดปีบ่งชี้ว่า มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่าพันคนในเหตุการณ์ที่อาจเข้าข่ายว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรรมสงคราม

อีกทั้งกองกำลังฝ่ายความมั่นคงได้ควบคุมตัวพลเรือนหลายพันคนในสถานการณ์ต่างๆ และมีข้อกล่าวหาที่น่าเชื่อถือว่ามีการควบคุมตัวตามอำเภอใจ การทรมาน การใช้ความรุนแรงทางเพศ รวมถึงการสังหารขณะถูกคุมขัง

คูมเจียน กล่าวด้วยว่า ไอไอเอ็มเอ็มกำลังทำงานอย่างเต็มที่เพื่อยืนยันด้วยพยานหลักฐาน พร้อมทั้งจัดทำเอกสารข้อเท็จจริงที่เพื่อใช้เป็นพื้นฐานของรายงานว่ามีการก่ออาชญากรรมดังกล่าวขึ้นจริงหรือไม่ ซึ่งหากมีการดำเนินการจริง ใครคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบและเตรียมยื่นคำร้องเพื่อให้มีการดำเนินคดีต่อไป

ในช่วงที่รวบรวมหลักฐานนั้น นายคูมเจียน บอกว่า มีผู้คนจำนวนหลายพันคนและองค์กรต่างๆ มากมายที่แบ่งปันหลักฐานต่างๆ มาให้ ขณะที่ทีมสอบสวนก็รวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ได้รับข้อมูลเพิ่มมากขึ้น

เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ศาลเมียนมา ประกาศกำหนดการพิจารณาคดีนางอองซาน ซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา วัย 76 ปี ในข้อหาฉ้อโกงการเลือกตั้ง ในวันที่ 14 ก.พ. นี้ หลังจากนางซูจี ถูกกล่าวหาว่ามีอิทธิพลต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งในระหว่างการเลือกตั้งปี 2563 เพื่อคว้าชัยในสมัยที่สอง

นอกจากนี้ อดีตประธานาธิบดีวิน มินต์ และนายวิน ตู อดีตคณะรัฐมนตรี ก็ถูกกล่าวหาในข้อหาเดียวกัน ซึ่งคดีดังกล่าวมีอัตราโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี รวมทั้งโทษปรับ และที่ผ่านมานางซูจีถูกตั้งข้อหาต่างๆเกินกว่า 12 คดี มีโทษจำคุกรวมกันเกิน 100 ปี และจนถึงขณะนี้ ถูกศาลพิพากษาให้จำคุกแล้วรวม 6 ปีด้วยกัน

ขณะที่สภาความมั่นคงและป้องกันตนเองของเมียนมา ออกแถลงการณ์ว่า รัฐบาลกองทัพเมียนมาได้ประกาศขยายภาวะฉุกเฉินออกไปอย่างเป็นทางการจนถึงวันที่ 31 ก.ค.นี้

นายมินต์ ส่วย รักษาการประธานาธิบดีได้อนุมัติการขยายเวลาดังกล่าวตามคำขอของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา โดยให้เหตุผลว่าเพื่อรักษาเสถียรภาพของประเทศ ความปลอดภัยของประชาชน และสร้างสันติภาพซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญ 

ด้านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติเมียนมา (เอ็มอาร์ทีวี) รายงานโดยอ้างคำพูดของผู้นำกองทัพเมียนมาว่า ความรุนแรงยังคงมีอยู่ในบางพื้นที่ เช่น รัฐคะยา รัฐชิน และเขตภูมิภาคสะกาย กองทัพกำลังพยายามเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหาอยู่

ตามรัฐธรรมนูญปี 2551 กำหนดให้ผู้นำกองทัพต้องขอความเห็นชอบจากประธานาธิบดีในที่ประชุมสภาก่อนที่จะขยายเวลาประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งก่อนหน้านี้ ผู้นำกองทัพของเมียนมาได้ให้คำมั่นว่า จะจัดการเลือกตั้งในเดือนส.ค. ปี 2566

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้กล่าวสุนทรพจน์วานนี้ (1ก.พ.) เนื่องในโอกาสครบรอบหนึ่งปีที่ก้าวขึ้นมาปกครองประเทศ ขณะเดียวกัน ก็มีการคาดการณ์ว่า ผู้นำทหารเมียนมาจะยังคงเผชิญปัญหาเศรษฐกิจที่ผันผวนในปีที่สองจากแรงกดดันของนานาชาติ

ด้านองค์กรช่วยเหลือนักโทษการเมือง (เอเอพีพี) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เหตุรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ปีที่แล้ว กองทัพเมียนมาได้สังหารประชาชนไปแล้วกว่า 1,500 คน และมีประชาชนถูกจับกุมไปเกือบ 12,000 คน