ถอดบทเรียนเพื่อนบ้านอาเซียน ‘ย้ายเมืองหลวง’

ถอดบทเรียนเพื่อนบ้านอาเซียน ‘ย้ายเมืองหลวง’

ขึ้นชื่อว่า “เมืองหลวง” ย่อมหมายถึงเมืองอันเป็นศูนย์กลางทุกสิ่งทุกอย่างของประเทศ การย้ายเมืองหลวงจึงเป็นเรื่องใหญ่แต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ เพื่อนบ้านอาเซียนก็เคยย้ายเมืองหลวงกันมานักต่อนักแล้ว ล่าสุดอินโดนีเซียที่เตรียมย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตาไปนูซันตารา

ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาวิชาการออนไลน์  “ถอดบทเรียนการย้ายเมืองหลวงในอุษาคเนย์: จากมาเลเซีย สู่พม่า และอินโดนีเซีย” เมื่อวันก่อนช่วยให้มุมมองถึงเหตุผลและข้อดีข้อเสียในเรื่องนี้ 

ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล ประธานศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา เปิดเวทีในประเด็น  นูซันตารา (Nusantara) เมืองหลวงใหม่ของอินโดนีเซีย คำๆ นี้เป็นภาษาชวา แปลว่า หมู่เกาะ  มาจากคำว่า nusa+antara แปลว่า เกาะรอบนอก 

“คำนี้ใช้มาตั้งแต่สมัยรัฐจารีต อาณาจักรมัชปาหิตช่วงศตวรรษที่ 14 ตอนแรกใช้เรียกพื้นที่ที่มัชปาหิตยังยึดครองไม่ได้ ซึ่งหมายถึงเกาะรอบนอกที่ไม่ใช่เกาะชวา เป็นคำที่ยึดชวาเป็นศูนย์กลาง สะท้อนนัยความไม่เท่าเทียมกันในทุกด้านเพราะอินโดนีเซียประกอบด้วยเกาะเล็กเกาะน้อยมากมาย แต่ชวาเป็นศูนย์กลาง” 

พรพิมลอธิบายด้วยว่า  ความคิดเรื่องย้ายเมืองหลวงไม่ใช่เรื่องใหม่ สมัยยุคอาณานิคมดัตช์ก็เคยคิดเรื่องนี้มาแล้ว มาย้ายจริงๆ ช่วงสงครามต่อสู้เพื่อเอกราช อินโดนีเซียประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 17 ส.ค.1945 (พ.ศ.2488) แต่ดัตช์ไม่ยอม กลับเข้ามาพร้อมทหารและกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตร ซูการ์โนเลยต้องย้ายเมืองหลวงจากจาการ์ตาไปยอกยาการ์ตา เมื่อวันที่ 3 ม.ค.1946 (พ.ศ.2489)

เมื่อได้เอกราชโดยสมบูรณ์ซูการ์โนก็เคยคิดย้ายเมืองหลวงไปเมืองปาลังคารายา บนเกาะกาลิมันตันทางตอนใต้ แต่พื้นที่ตรงนี้ดินค่อนข้างอ่อน ไม่เหมาะกับการสร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่ อีกทั้งยุคซูการ์โนมีปัญหาการเมืองเศรษฐกิจสังคมหนักมาก จึงไม่ได้ย้าย 

ปี 1997 (พ.ศ.2540) สมัยประธานาธิบดีซูฮาร์โตเริ่มคิดเรื่องการย้ายเมืองหลวง ไปเมืองจองกอล (Jonggol) ในโบกอร์ ไม่ไกลจากจาการ์ตานัก แต่ปี 1998 (พ.ศ.2541) ซูฮาร์โตถูกโค่นอำนาจ ต้องลาออกจากตำแหน่งเสียก่อน 

ถึงสมัยประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ได้รับเลือกตั้งกลับมาในวาระสอง ปี 2019 (พ.ศ.2562) ก็ประกาศย้ายเมืองหลวงไปที่เกาะกาลิมันตัน หลังจากพิจารณาทางเลือกอย่างละเอียดรอบคอบแล้ว ได้แก่  1) จัดการกรุงจาการ์ตาใหม่ แยกเขตราชการออกไปเป็นเมืองหลวงทางราชการแบบเดียวกับปุตราจายาของมาเลเซีย 2) ย้ายไปเมืองอื่นบนเกาะชวา 3)  ย้ายไปตั้งเมืองหลวงบนเกาะอื่นไปเลย 

สำหรับเหตุผลที่ประธานาธิบดีโจโกวีต้องย้ายเมืองหลวง นักวิชาการรายนี้อธิบายว่า  นานาชาติรับรู้กันทั่วว่ากรุงจาการ์ตาไม่ไหวแล้วจริงๆ  ประชากรหนาแน่น 10 ล้านคน รถติด มีมลพิษทางน้ำและอากาศ ใช้น้ำบาดาลเยอะ ทุกวันนี้เสียหายจากน้ำท่วมมากอยู่แล้ว และอีก 30 ปี กรุงจาการ์ตาจะต้องจมน้ำ 

  อีกทั้งรัฐบาลต้องการผลักดันการพัฒนาในเขตอินโดนีเซียตะวันออก  เปลี่ยนวิธีคิดที่เน้นชวาเป็นศูนย์กลางไปสู่เน้นอินโดนีเซียเป็นศูนย์กลาง  ต้องการมีเมืองหลวงที่นำเสนออัตลักษณ์แห่งชาติคือ ความหลากหลาย ซึ่งเป็น 1 ใน 5 อุดมการณ์หลักแห่งชาติอินโดนีเซีย (ปัญจะศีลา) โดยพื้นที่เมืองหลวงใหม่ประชากรมีทัศนคติเปิดกว้าง 

นอกจากนี้การมีเมืองหลวงใหม่ยังยกระดับการจัดการบริหารส่วนกลางที่มีประสิทธิภาพและได้ผลดียิ่งขึ้น   มีเมืองหลวงที่มีแนวคิด smart, green และ beautiful city เพื่อศักยภาพในการแข่งขันทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก 

เหตุผลที่ต้องย้ายเมืองหลวงมาอยู่บนเกาะกาลิมันตัน (คนทั่วไปเรียกว่าเกาะบอร์เนียว) เพราะเป็นจุดกึ่งกลางประเทศจริงๆ  การเชื่อมโยงกับประเทศอื่นจะใกล้ขึ้น ซึ่งพื้นที่ใหม่ที่จะย้ายไปตั้งเมืองหลวง เรียกว่า อำเภอ Penajam Paser Utara ในกาลิมันตันตะวันออก มีข้อดีคือ  มีความเสี่ยงเกิดภัยพิบัติต่ำ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว สึนามิ ไฟป่า ภูเขาไฟระเบิด เป็นต้น  เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดี อยู่กึ่งกลางประเทศพอดี  อยู่ใกล้เมืองที่กำลังพัฒนา  โครงสร้างสาธารณูปโภคพร้อม และรัฐบาลมีที่ดินอยู่แล้ว 987,500 ไร่ 

ส่วนปัจจัยที่ทำให้การย้ายเมืองหลวงอินโดนีเซียเป็นไปได้ มาจากการมีแผนการที่เป็นรูปธรรมที่สุด ระหว่างปี 2022-2024 (พ.ศ.2565-2567) สร้างทำเนียบประธานาธิบดีและย้ายเจ้าหน้าที่รัฐปีละ 25,500 คน

ปี 2025-2035 (พ.ศ.2568-2578) สร้างเมืองและศูนย์กลางการลงทุน คาดว่าการย้ายเมืองหลวงจะเสร็จสิ้นในปี 2045 (พ.ศ.2578) 

ปัจจัยที่สำคัญอีกข้อคือ อินโดนีเซียกระจายอำนาจตั้งแต่หลังปี 1998 เริ่มใช้กฎหมายปี 2002 (พ.ศ.2545)  สลายความเป็นรัฐรวมศูนย์ แต่ละจังหวัดมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่า จัดสรรทรัพยากรของตนเองได้

ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา เล่าถึงการย้ายเมืองหลวงของพม่าจากย่างกุ้งไปเนปิดอว์ว่า มีหลายทฤษฎี 

 "บางคนบอกว่านายพลตาน ฉ่วยเชื่อหมอดู หมอดูบอกว่าไปอยู่ที่ใหม่เป็นมงคลกว่าย่างกุ้งที่มีแต่ศัตรูห้อมล้อม ไปเบิกนครใหม่เพื่อเพิ่มบารมีตนเองดีกว่า บ้างก็ว่าการย้ายเมืองหลวงไม่ใช่เรื่องแปลกในประวัติศาสตร์พม่า กษัตริย์พม่าย้ายเมืองหลวงเป็นว่าเล่น นักวิเคราะห์มองว่า ผู้นำทหารโดยเฉพาะตาน ฉ่วย ดึงพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์มาสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง หนึ่งในนั้นคือ การย้ายเมืองหลวง" 

แต่ในทัศนะของดุลยภาค เขามองว่า การย้ายเมืองหลวงของพม่า มี 3 ปัจจัยหลัก 9 ปัจจัยย่อย ได้แก่   1) การเมืองการทหาร ผู้นำกลัวผู้ประท้วงในย่างกุ้ง กลัวการบุกรุกของกองกำลังต่างชาติ ช่วงนั้นพม่าถูกประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐกล่าวหาบ่อยครั้งว่าเป็นอักษะแห่งความชั่วร้าย จึงต้องการตั้งศูนย์ควบคุมและสั่งการตรงใจกลางประเทศ 

2) ยุทธศาสตร์การพัฒนา เมืองหลวงใหม่เป็นศูนย์กลางเกษตรกรรม โครงข่ายชลประทานเหมาะสม เข้าถึงแหล่งแร่ธาตุพลังงานรายรอบ เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ การตั้งเมืองหลวงใหม่ช่วยให้เกิดการไหลของประชากรจากศูนย์กลางที่ย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ ซึ่งหลังย้ายเมืองหลวงประชากรก็เพิ่มมากขึ้นเป็นหลายแสนคนแตะหนึ่งล้านคน 

3) สังคมวัฒนธรรม ในแง่มรดกทางประวัติศาสตร์ พม่าย้ายเมืองหลวงบ่อยผู้นำทหารจึงมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลก ด้านโหราศาสตร์ มีการคำนวณฤกษ์ย้ายเสร็จสรรพ ขณะเดียวกันย่างกุ้งเป็นเมืองหลวงที่สร้างโดยเจ้าอาณานิคมอังกฤษศัตรูเก่า การสร้างเมืองหลวงใหม่ก็เพื่อปลุกเร้าความภาคภูมิใจในชาติ 

ผศ.ดร.ชัยวัฒน์ มีสันฐาน ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา กล่าวถึงกรณีมาเลเซียที่มีปุตราจายาเป็นเมืองหลวงทางราชการ  ตั้งอยู่ระหว่างสนามบินนานาชาติกับกรุงกัวลาลัมเปอร์  เกิดขึ้นในยุคนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด ที่ต้องการสร้างเมืองหลวงใหม่ไม่ไกลกับกัวลาลัมเปอร์ที่เป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจ  

  "เมื่อก่อนปุตราจายาเป็นพื้นที่รัฐสลังงอร์ มหาเธร์ไปเจรจากึ่งบังคับ พื้นที่ 28,600 กว่าไร่ ขอให้รัฐบาลกลางเป็นผู้บริหาร มหาเธร์ยังมีแผนสร้าง Cyber Jaya ควบคู่กัน เป็นการมองอย่างล้ำมาก มีแผนการชัดเจน มาเลเซียมีแผนย้ายเมืองหลวงมาตั้งแต่ พ.ศ.2518-2519 แต่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ"  

การสร้างเมืองหลวงใหม่ของมหาเธร์แบ่งออกเป็น 3 เฟสขณะนี้ทำครบแล้วทั้ง 3 เฟส ซึ่งปุตราจายาไม่ได้เป็นแค่เมืองหลวงด้านการบริหารแต่ยังเป็นแลนด์มาร์คด้านการท่องเที่ยวด้วย 

 "ตอนแรกก็ถูกวิจารณ์ว่าการสร้างเมืองหลวงใหม่สิ้นเปลือง ใหญ่เกินไป ต้องยอมรับวิสัยทัศน์ของมหาเธร์ที่ทำให้เป็นเมืองท่องเที่ยว รายได้คืนให้กับสิ่งที่ลงทุน ถึงตอนนี้เงินที่ลงทุนกับรายได้จากการท่องเที่ยวอาจคุ้มแล้ว" ชัยวัฒน์ กล่าวและว่า ปุตราจายาทำงานสมบูรณ์แบบมาตั้งแต่ พ.ศ.2553   กระทรวง ทบวง กรมทั้งหมดอยู่ที่นี่ บ้านพักข้าราชการตั้งแต่ชั้นผู้น้อยถึงชั้นผู้ใหญ่ มีคอนโดมิเนียมไปจนถึงบ้านเดี่ยว ห้างสรรพสินคา มัสยิด โรงเรียนสำหรับบุตรหลานราชการ แบ่งผังเมืองชัดเจน ขุดสระน้ำกั้นโซน ไม่ปะปนกันกับการอยู่อาศัย  การเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที 

ข้อดีของการตั้งปุตราจายาคือ ดึงออกจากความแออัดในการบริหารเมืองหลวง ปล่อยให้กัวลาลัมเปอร์ทำหน้าที่บริหารเศรษฐกิจการค้า ส่วนข้าราชการมาอยู่ที่ปุตราจายาไม่ต้องเข้าไปวุ่นวายในกัวลาลัมเปอร์ 

ชัยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า มาเลเซียวางตนเองเป็นศูนย์กลางการประชุมนานาชาติ ปุตราจายามีศุนย์ประชุมใหญ่จากการเจาะภูเขา จัดการประชุมนานาชาติมากมาย มหาวิทยาลัยเอกชนจัดงานรับปริญญา การประชุมไม่ต้องทำในเมืองให้วุ่นวาย ถือเป็นเมืองที่ทำหน้าที่ได้ดีมาก เป็นแหล่งรายได้จากการท่องเที่ยวหารายได้เข้ามาแตกต่างจากการย้ายเมืองหลวงอื่นๆ 

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์