บ.จีนจูงใจพนง.มีลูกทั้ง'แจกโบนัส-ปล่อยกู้'

บ.จีนจูงใจพนง.มีลูกทั้ง'แจกโบนัส-ปล่อยกู้'

อัตราการเกิดใหม่ของประชากรจีนที่ลดฮวบจนแตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 70 ปี หรือนับตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนก้าวขึ้นมาปกครองประเทศเมื่อปี 2492 แม้ว่า รัฐบาลจะเริ่มผ่อนคลายการบังคับใช้นโยบายลูกคนเดียวแล้วก็ตาม ยังคงเป็นปัญหาปวดหัวของรัฐบาลปักกิ่ง

ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน บ่งชี้ว่า ประชากรจีนมีจำนวนทั้งหมด 1,400 ล้านคน นับจนถึงสิ้นปี 2564 โดยในปีที่แล้ว มีเด็กเกิดใหม่ราว 10.6 ล้านคน หรือ 7.52 คน ต่อประชากร 1,000 คน

ทำให้จีนต้องกระตุ้นให้ประชากรมีลูกกันมากขึ้น เพราะไม่อย่างนั้นจะส่งผลกระทบต่อแผนการอันทะเยอทะยานของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ต้องการเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ได้สองเท่าภายในปี 2578 แน่นอน

ซึ่งการจะทำให้ได้ตามเป้า รัฐบาลจีนต้องสั่งการลงไปยังทางการท้องถิ่นและภาคธุรกิจให้เพิ่มแรงจูงใจแก่ผู้หญิงให้ให้กำเนิดบุตรมากขึ้น ซึ่งแรงจูงใจที่ว่าก็มีทุกอย่างตั้งแต่แจกโบนัส มีส่วนลดในการกู้เงินซื้อบ้าน และเสนอให้ลาคลอดโดยยังได้ค่าจ้างแรงงานอยู่
 

ตั้งแต่เดือนพ.ค.ปีที่แล้ว ทางการจีนเริ่มอนุญาตให้ครอบครัวต่างๆมีลูกได้สามคน หลังจากใช้นโยบายมีลูกคนเดียวมานานหลายสิบปี ทำให้บรรดาเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น ตลอดจนบริษัทต่างๆ ต้องเร่งสร้างแรงจูงใจเพื่อให้พ่อแม่ชาวจีนเห็นถึงข้อดีของการมีลูกมากกว่าหนึ่งคน       

"ต้าเป่ยหนง กรุ๊ป" (Dabeinong Group)กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีด้านการเกษตรในกรุงปักกิ่ง ขานรับนโยบายใหม่ของจีนทันทีถือเป็นบริษัทที่ใจดีที่สุดในสายตาพนักงานที่กำลังจะเป็นพ่อคนแม่คน ด้วยการให้ผลประโยชน์แก่ว่าที่พ่อแม่เป็นเงินสดรวมจำนวน 90,000 หยวน (14,100 ดอลลาร์) และให้ลาคลอดได้นาน 12 เดือนสำหรับคุณแม่มือใหม่ และ 9 วันสำหรับคุณพ่อ ซึ่งตามกฏหมายของจีนคนเป็นแม่สามารถลาคลอดได้ 98 วันส่วนคุณพ่อไม่สามารถลาได้ในส่วนนี้

“เฉิน จงเจิ้ง” รองประธานต้าเป่ยหนง กล่าวไว้เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า บริษัทใช้นโยบายนี้เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายใหม่ของรัฐบาลปักกิ่งที่ต้องการกระตุ้นให้มีประชากรเกิดใหม่จำนวนมาก

ในส่วนของการแจกเงินของขวัญสำหรับคู่สามี-ภรรยาที่มีลูกคนแรกจะเริ่มต้นที่ 30,000 หยวน (4,740 ดอลลาร์)และหากมีลูกคนที่สองและคนที่สามจะได้เงินของขวัญเพิ่มขึ้นสองเท่าและสามเท่าตามลำดับ นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนเพิ่มวันลาคลอดแก่ผู้เป็นแม่ประมาณ 1 เดือน 3 เดือนและ12เดือนตามลำดับ

“เราเชื่อว่าผู้บริหารแผนกต่างๆ ควรเป็นแกนนำในการกระตุ้นให้พนักงานมีบุตรเพิ่มขึ้น” เฉิง กล่าวเมื่อครั้งให้สัมภาษณ์เซาท์ ไชนา มอร์นิ่ง โพสต์

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงและมีความสามารถจำนวนมาก มองว่าความพยายามของรัฐบาลปักกิ่งที่ต้องการกระตุ้นให้ชาวจีนมีบุตรมากขึ้นเป็นการดำเนินนโยบายที่มาช้าเกินไป และแรงจูงใจที่มอบให้ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

“การมีลูกหนึ่งคนทำให้พ่อแม่ไม่มีเวลา ไม่มีเงินและไม่มีอิสระ” คาวิตา หยาง  อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง อายุ 40 ปี กล่าวกับเว็บไซต์อัลจาซีราห์ โดยปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อจริงให้แต่นามแฝง

ทั้งนี้ หยาง ตัดสินใจเมื่อปีที่แล้วว่าจะไม่มีบุตรหลังจากคุมกำเนิดมานานหลายปี โดยเธอเห็นว่าการมีลูกหนึ่งคนทำให้เธอต้องลงทุนในเรื่องเวลา ทุ่มเทพลังงานและทุ่มเทเงินทอง ทำให้เธอตระหนักว่ายังไม่พร้อมที่จะมีลูก

การตัดสินใจของหยางเป็นผลมาจากการคาดหวังของสังคมที่ว่าผู้หญิงต้องทำงานบ้านและดูแลลูกแม้ว่าต้องทำงานที่ทำงานมาตลอดทั้งวัน ซึ่งความรับผิดชอบที่มากเกินไปนี้เทียบไม่ได้หรือไม่คุ้มกับสิทธิพิเศษต่างๆที่ทางการ หรือบริษัทจะมอบให้เมื่อมีลูก 

นอกจากนี้ ผลสำรวจล่าสุดยังบ่งชี้ว่า ผู้หญิงจีนยุคใหม่ไม่ต้องการแต่งงาน โดยผลสำรวจจัดทำโดยคอมมิวนิสต์ ยูธ ลีกเมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา บ่งชี้ว่าเกือบ 44% ของผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นผู้หญิงจำนวน 2,905 คนที่อาศัยอยู่ในเมืองและยังไม่ได้แต่งงานอายุระหว่าง 18 ถึง 26 ปี บอกว่าไม่ต้องการแต่งงาน หรือไม่มั่นใจว่าจะแต่งงาน

“ถ้าคุณแต่งงานในจีนตอนนี้ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายและสภาพสังคมที่เป็นอย่างทุกวันนี้ จะเหมือนการฆ่าตัวตายคุณกำลังเผชิญหน้ากับความเสี่ยงสูง และก้าวเข้าไปในเกมพนันขันต่อที่คุณไม่มีทางชนะได้เลย” รีเบกก้า หาน พนักงานวัย 28 ปี ของบริษัทด้านการศึกษาแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง กล่าว

ส่วน “มู่ เจิ้ง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวแก่อัลจาซีราห์ว่า "มาตรการจูงใจของจีนและบริษัทจีน สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางเพศในครอบครัวและต้นทุนด้านการศึกษาและการพัฒนาการมีบุตรที่เพิ่มขึ้นมาก