วัคซีนเข็มกระตุ้นที่พึ่งบ.อเมริกันยุคโอมิครอน

วัคซีนเข็มกระตุ้นที่พึ่งบ.อเมริกันยุคโอมิครอน

‘แอ๊ปเปิ้ล อิงค์’บังคับพนักงานเข้าออฟฟิศต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อรับมือกับโอมิครอน เช่นเดียวกับเมทา บริษัทแม่ของเฟซบุ๊ค ส่วน"กูเกิล" บังคับพนักงานทุกคนที่เข้าทำงานในออฟฟิศต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทุกสัปดาห์

แอ๊ปเปิ้ล อิงค์ ยักษ์ใหญ่บริษัทเทคโนโลยีสหรัฐ ประกาศสู้ศึกโควิด-19 ขั้นเด็ดขาดด้วยการกำหนดกฏเหล็กให้พนักงานที่จะเข้าออฟฟิศต้องแสดงหลักฐานว่าได้ฉีดวัคซีนเข็มสาม หรือวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว ภายใน 24 ม.ค.นี้

บริษัทแอ๊ปเปิ้ล ประกาศนโยบายใหม่ให้พนักงานในร้านค้าและสำนักงาน ต้องแสดงหลักฐานว่าเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิ หรือวัคซีนเข็มสาม ส่วนพนักงานยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิดเข็มกระตุ้นภูมิ จะต้องรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และแสดงผลเป็นลบ ก่อนที่จะเข้าร้านค้าปลีกของแอ๊ปเปิ้ล ส่วนร้านค้าของบริษัทที่เป็นหุ้นส่วนของแอ๊ปเปิ้ล ก็ต้องมีแนวทางการปฏิบัติแบบเดียวกัน

แอ๊ปเปิ้ล ออกจดหมายเวียนให้พนักงานได้รับทราบเกี่ยวกับนโยบายนี้ โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่าเนื่องจากประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มแรก ๆที่จะค่อยๆลดน้อยลง และการแพร่ระบาดที่พุ่งขึ้นอย่างมากของสายพันธุ์ใหม่ๆอย่างโอมิครอน วัคซีนเข็มกระตุ้น จึงเป็นส่วนหนึ่งของการฉีดวัคซีนที่จะเท่าทันกับสถานการณ์ปัจจุบันในการปกป้องผู้คนจากโรคร้ายนี้

 ช่วงปลายปีที่ผ่านมา แอ๊ปเปิ้ลขอให้พนักงานในสำนักงานที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทุกวันก่อนเข้าทำงานในสำนักงาน

ขณะที่พนักงานตามร้านค้าปลีกของแอ๊ปเปิ้ลต้องตรวจโควิด 2 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ดูเหมือนว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงขึ้นมาก และมีการติดเชื้อแม้ในหมู่ผู้ที่ได้ฉีดวัคซีนเข็ม 1 และ 2 ไปแล้ว ทำให้บริษัทตัดสินใจใช้นโยบายสกัดกั้นการแพร่ระบาดที่มีความเข้มงวดมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยของพนักงานและลูกค้าของบริษัท

นอกจากแอ๊ปเปิ้ล แล้ว ยังมีบริษัทอีกหลายแห่งในสหรัฐที่เพิ่มความเข้มงวดในลักษณะเดียวกัน โดยส่วนใหญ่บังคับพนักงานต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิดก่อนกลับเข้าทำงาน หรือบางแห่งก็ขยายเวลาการทำงานจากบ้านให้ยาวนานออกไป

เว็บไซต์ข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทเมทา ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเฟซบุ๊ค ออกกฎข้อบังคับให้พนักงานทุกคนที่จะกลับเข้าทำงานในออฟฟิศจะต้องฉีดวัคซีนบูสเตอร์

นอกจากนี้ ยังประกาศขยายเวลาการเปิดสำนักงานเพื่อให้พนักงานกลับเข้าทำงานตามปกติ จากกำหนดเดิมสิ้นเดือนนี้ (31 ม.ค.) ให้เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 28 มี.ค.

ส่วนบริษัทกูเกิล ในเครืออัลฟาเบท อิงค์ ประกาศเมื่อวันศุกร์ (14 ม.ค.) บังคับให้พนักงานทุกคนที่เข้าทำงานในออฟฟิศต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิดทุกสัปดาห์ ส่วนบริษัทอเมซอนดอทคอม เสนอมอบเงินพิเศษให้พนักงานที่ประจำคลังสินค้าในสหรัฐ คนละ 40 ดอลลาร์เพื่อจูงใจให้พนักงานเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นมากขึ้น

ขณะที่ในแวดวงธนาคาร เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ซิตี้กรุ๊ป ประกาศใช้หน้ามาตรการ No-Jab, No Job หรือ ไม่ฉีดวัคซีน ก็ไม่มีงานทำเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และช่วยให้การทำงานขององค์กรกลับมามีประสิทธิภาพเช่นเดิม

ซิตี้กรุ๊ป ต้องการให้พนักงานในสหรัฐฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ก่อนวันที่ 14 ม.ค. หากไม่ฉีด บริษัทจะให้ลาโดยไม่จ่ายเงินเดือน ก่อนไล่ออกภายในสิ้นเดือน ม.ค. นอกเสียจากว่าได้รับอนุญาตแล้วแต่กรณี

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น amNY.com เว็บไซต์ข่าวชั้นนำของนครนิวยอร์ก รายงานว่ายอดผู้ติดเชื้อในนิวยอร์กเริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว หลังจากพุ่งขึ้นในช่วงคริสต์มาส

ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขนครนิวยอร์ก บ่งชี้ว่า มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วเมือง และมีการตรวจพบผู้ป่วยรายใหม่หลายพันรายทุกวัน แต่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดและผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเริ่มลดลง ซึ่งส่งสัญญาณว่า 5 เขตการปกครองของนครนิวยอร์กผ่านจุดสูงสุดของการแพร่ระบาดแล้ว

อัตราการติดเชื้อในรอบ 7 วันจาก 5 เขตการปกครองของนครนิวยอร์กปรับตัวดีขึ้น โดยมี 52 พื้นที่รายงานอัตราการติดเชื้อโควิดอยู่ที่ 30% ระหว่างวันที่ 5-11 ม.ค. และไม่มีพื้นที่ใดมีอัตราการติดเชื้อเกิน 40% ส่วนระหว่างวันที่ 29 ธ.ค. - 4 ม.ค.   

อย่างไรก็ดี อัตราการเสียชีวิตยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนับจนถึงวันที่ 14 ม.ค. อัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยในรอบ 7 วันอยู่ที่ 73 ราย

ทั้งนี้ ผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนยังคงมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ, การเข้ารักษาในโรงพยาบาล หรือแม้กระทั่งการเสียชีวิต

กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ชาวนิวยอร์กที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมีโอกาสติดเชื้อโควิดถึง 4 เท่า มีแนวโน้มเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 8 เท่า และมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าชาวนิวยอร์กที่ได้รับวัคซีนถึง 9 เท่า