สหรัฐรับศึกหนักเงินเฟ้อพุ่ง-โควิดระบาดหนัก

สหรัฐรับศึกหนักเงินเฟ้อพุ่ง-โควิดระบาดหนัก

ตอนนี้สหรัฐเจอศึกหลายด้านทั้งวิกฤติสาธารณสุข โควิด-19 ระบาดหนัก ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มต่อเนื่อง เศรษฐกิจชะลอตัวและภาวะเงินเฟ้อเดือนธ.ค.ที่ทะยาน 7%

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจใน 12 เขตของสหรัฐ หรือเบจบุ๊คที่ระบุว่า ภาคเอกชนในหลายเขตของสหรัฐคาดการณ์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงหลายเดือนข้างหน้าจะชะลอตัวลง

รายงานเบจบุ๊ค ซึ่งเฟดเผยแพร่ปีละ 4 ครั้งระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วสหรัฐมีการขยายตัวปานกลางในช่วงหลายสัปดาห์ของปลายปี 2564 ส่วนการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่ไวรัสโควิด-19 จะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม เขตส่วนใหญ่รายงานว่า กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางเพื่อสันทนาการ, การจองโรงแรม และการรับประทานอาหารในร้านได้ชะลอตัวลงอย่างฉับพลัน เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ส่วนในประเด็นเงินเฟ้อนั้น เฟดเกือบทุกสาขารายงานว่า ราคาสินค้าที่ขายให้กับผู้บริโภคพุ่งขึ้นอย่างมาก ขณะที่เฟดบางสาขาระบุว่า ราคาสินค้าชะลอตัวลงเล็กน้อย จากที่เคยพุ่งขึ้นอย่างมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

การเปิดเผยรายงานเบจบุ๊คของเฟดมีขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 7.0% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. ปี 2525 แต่ตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่

“เจอโรม พาวเวล” ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาสหรัฐเมื่อวันอังคาร(11ม.ค.)ว่า เฟดจะใช้ความพยายามในการสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ แม้จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ก็ตาม
 

ดัชนีราคาผู้บริโภคในสหรัฐพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี และเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 6.8% เมื่อเดือนพ.ย. ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าเป็นเพราะความต้องการที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับปัญหาขาดแคลนสินค้าเนื่องจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ราคาสินค้าต่าง ๆ สูงขึ้น รวมทั้ง รถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ อาหารและเชื้อเพลิงต่าง ๆ

ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 6.4 ล้านตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว อัตราการว่างงานลดลงจากระดับ 6.3% เมื่อต้นปีที่แล้วลงมาเหลือ 3.9% ในเดือนธ.ค. ขณะที่รายได้ของคนทำงานทั่วไปเพิ่มขึ้น 5.8% แต่ราคาสินค้าต่าง ๆ ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย

ข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐระบุว่า ผู้ขับรถยนต์ต้องจ่ายราคาเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 58% เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ราคารถยนต์มือสองเพิ่มขึ้น 31% รถยนต์ใหม่ราคาเพิ่มขึ้น 11% ราคาเนื้อสัตว์ ปลาและสัตว์ปีก เพิ่มขึ้น 13% และราคาเฟอร์นิเจอร์เพิ่มขึ้น 12%

ส่วนสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสหรัฐยังคงน่าเป็นห่วง ล่าสุด วานนี้ (13ม.ค.)ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ของสหรัฐคาดการณ์ว่า สหรัฐจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มากกว่า 62,000 รายในช่วง 4 สัปดาห์ข้างหน้า

ซีดีซี ระบุว่า ยอดของผู้เสียชีวิตจากโควิดมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในช่วง 4 สัปดาห์ข้างหน้า โดยจะมีผู้เสียชีวิตรายใหม่ 10,400-31,000 รายในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 5 ก.พ.

"การคาดการณ์ในปัจจุบันอาจไม่ครอบคุลมอย่างเต็มที่สำหรับการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโอมิครอน หรือการเปลี่ยนแปลงการรายงานในช่วงวันหยุด และควรตีความด้วยความระมัดระวัง”ซีดีซี ระบุ

ข้อมูลของซีดีซี ระบุว่า สหรัฐรายงานพบผู้เสียชีวิตจากโควิดรายใหม่เกือบ 3,000 รายในวันอังคาร (11 ม.ค.) ซึ่งแตะระดับสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่กลางเดือนก.พ.ปีที่แล้ว

ส่วนยอดผู้เสียชีวิตจากโควิดรายวันเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโอมิครอนส่งผลให้มียอดผู้ติดเชื้อและผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ต้นเดือนธ.ค.

ข้อมูลของซีดีซี ระบุด้วยว่า สหรัฐพบผู้เสียชีวิตจากโรคโควิดมากกว่า 1,600 รายต่อวัน

ขณะที่คณะทำงานของทำเนียบขาวเพื่อรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 เตือนชาวอเมริกันในวันพุธ(12ม.ค.)ว่า จำเป็นต้องใช้มาตรการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาต่อไปท่ามกลางการระบาดอย่างรวดเร็วของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอน แม้ว่าเชื้อไวรัสนี้จะมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา

ด้านแพทย์หญิงโรเชลล์ วาเลนสกี ผอ.ซีดีซีเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสวมหน้ากากอนามัย การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด และการตรวจหาเชื้อ ซึ่งถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมการระบาด