อุตฯ ป้องกันประเทศยุคญี่ปุ่นเจอศึกรอบด้าน

อุตฯ ป้องกันประเทศยุคญี่ปุ่นเจอศึกรอบด้าน

อุตฯ ป้องกันประเทศยุคญี่ปุ่นเจอศึกรอบด้าน โดยอุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศของญี่ปุ่นอยู่ในสถานะที่เปราะบางเนื่องจากบริษัทหลายแห่งไม่อยู่ในฐานะที่จะผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ได้

อนาคตอุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศของญี่ปุ่นแขวนอยู่บนเส้นด้ายท่ามกลางภัยคุกคามความมั่นคงรอบด้านทั้งจากจีน และเกาหลีเหนือที่พยายามแสดงแสนยานุภาพของกองทัพเป็นระยะๆ และขณะที่บริษัทญี่ปุ่นเลิกเดินสายการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ รัฐบาลจึงต้องหันไปพึ่งพาอาวุธจากพันธมิตรอย่างสหรัฐมากขึ้น

เวบไซต์นิกเคอิ เอเชียนำเสนอรายงานเรื่องนี้ โดยระบุว่า ท่ามกลางภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากจีน และเกาหลีเหนือ อุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศของญี่ปุ่นถูกผลักไสให้ไปอยู่ขอบสังเวียนของการต่อสู้เพราะการถอนตัวจากการผลิตอาวุธ-ยุทโธปกรณ์ด้านการป้องกันประเทศของบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง   

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดปัญหายุ่งยากในการพัฒนาเครื่องบินรบ และอาวุธทันสมัยประเภทอื่นๆในหมู่บริษัทญี่ปุ่น ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องพึ่งพาอาวุธจากสหรัฐมากขึ้น และในยุคที่สถานการณ์ตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญมากขึ้นที่ญี่ปุ่นต้องเลือกและให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีด้านการป้องกันประเทศที่จะนำมาใช้ในอนาคต
 

“อุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศของญี่ปุ่นอยู่ในสถานะที่เปราะบางเนื่องจากบริษัทหลายแห่งไม่อยู่ในฐานะที่จะผลิตอาวุธ ยุทโธปกรณ์ต่างๆ ได้”โนบูโอะ คิชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่น กล่าว ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำถึงภาวะวิกฤติในอุตสาหกรรมนี้

“โคมัตสุ”ผู้ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้างรายใหญ่ของญี่ปุ่นเลิกผลิตรถหุ้มเกราะกันกระสุนขนาดเล็กในปี 2562 ส่วนไดเซล  บริษัทผลิตเคมีภัณฑ์สัญชาติญี่ปุ่น ตัดสินใจในปีต่อมาที่จะเลิกผลิตระบบอพยพฉุกเฉินสำหรับนักบินบนเครื่องบิน 

ขณะที่เทคโนโลยีอาวุธก็มีความซับซ้อนมากขึ้น จำนวนของอุปกรณ์ด้านการป้องกันประเทศที่กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นสั่งซื้อลดลงประมาณครึ่งหนึ่งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้บรรดาบริษัทญี่ปุ่นถอนตัวจากการผลิตอุปกรณ์ด้านการป้องกันประเทศ

ข้อมูลของกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น ระบุว่า จำนวนของปืนใหญ่อัตตาจร รถหุ้มเกราะ และรถถังที่จัดซื้อโดยกองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่น ในช่วงปี 2532 และ2541 มีอัตราเฉลี่ย 68.6% ต่อปี ร่วงลงเหลือ 26.6 ระหว่างปี 2552 และปี 2561 

ขณะที่การจัดซื้อเรือกวาดทุ่นระเบิดและเรือคุ้มกันของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลและการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ และเครื่องบินโจมตีของกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศก็ลดลงด้วยเช่นกัน

ภาวะวิกฤติที่เกิดกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของญี่ปุ่นเกิดขึ้นในช่วงที่สำนักข่าวกลางเคซีเอ็นเอ ของเกาหลีเหนือ รายงานว่า เกาหลีเหนือทดสอบยิงขีปนาวุธแบบไฮเปอร์โซนิก หรือขีปนาวุธที่มีความเร็วเหนือเสียงเมื่อวันอังคาร(11 ม.ค.65) ซึ่งเป็นการทดสอบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกครั้งที่สองในรอบไม่ถึงสัปดาห์ของเกาหลีเหนือ

ในการทดสอบครั้งนี้ “คิม จองอึน” ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือเดินทางไปชมการยิงขีปนาวุธด้วยตัวเอง ซึ่งขีปนาวุธสามารถโจมตีเป้าหมายที่อยู่ห่างออกไปกว่า 1,000 กิโลเมตรได้อย่างแม่นยำ

เกาหลีเหนือเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่พยายามพัฒนาขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางทหารที่ล้ำหน้า ที่มีเพียงแค่ประเทศมหาอำนาจเท่านั้นที่มี ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก ใช้เพดานบินที่ต่ำ มีความเร็ว 6,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือเร็วเหนือเสียงถึง 5 เท่า บังคับทิศทางให้หลบสิ่งกีดขวางได้ ทำให้สกัดกั้นได้ยาก และสามารถบรรจุหัวรบนิวเคลียร์ได้

ต่อมาคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ก็ประกาศคว่ำบาตรเกาหลีเหนือเป็นครั้งแรก หลังจากเกาหลีเหนือเดินหน้าทดสอบอาวุธไฮเปอร์โซนิก

คณะบริหารของประธานาธิบดีไบเดนคว่ำบาตรชาวเกาหลีเหนือ 6 ราย, ชาวรัสเซีย 1 ราย และบริษัทรัสเซียอีก 1 ราย ซึ่งสหรัฐเชื่อว่าเป็นผู้จัดหาสินค้าจากรัสเซีย และจีนเพื่อสนับสนุนโครงการขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ

กระทรวงการคลังสหรัฐ ระบุว่า มาตรการคว่ำบาตรครั้งนี้ มีเป้าหมายที่จะขัดขวางความคืบหน้าของโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ และเพื่อสกัดกั้นความพยายามต่างๆ ที่จะแพร่กระจายเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับการผลิตอาวุธ

ในส่วนของญี่ปุ่นมองว่านี่ไม่น่าจะใช่ครั้งสุดท้ายที่เกาหลีเหนือทำการทดสอบยิงขีปนาวุธ และไม่ได้มีแค่เกาหลีเหนือประเทศเดียวที่เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของญี่ปุ่น จีนก็มีพฤติกรรมคุกคามความมั่นคงของญี่ปุ่นไม่แพ้กัน 

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นจึงจัดสรรงบประมาณด้านการป้องกันประเทศเพิ่มประมาณ 10% เพื่อสนับสนุนระบบป้องกันขีปนาวุธและช่วยเสริมเขี้ยวเล็บในการป้องกันหมู่เกาะนันเซอิ เครือข่ายที่ขยายจากเกาะคิวชูไปถึงไต้หวัน และรวมถึงโอกินาวา ตอนใต้สุดของหมู่เกาะหลักของญี่ปุ่น

แต่การเพิ่มงบฯ ส่วนนี้ไม่ได้ไปถึงบรรดาผู้ผลิตในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศโดยตรงเนื่องจากบรรดาบริษัทญี่ปุ่นไม่มีทุนมากพอที่จะผลิตได้  รัฐบาลญี่ปุ่นจะสั่งซื้ออุปกรณ์ อาวุธยุทโธปกรณ์ประเภทต่างๆ จากสหรัฐแทน ทำให้ตลอดช่วง 10 ปีมานี้ การสั่งซื้ออุปกรณ์ป้องกันประเทศของญี่ปุ่นจากสหรัฐเพิ่มขึ้น 10 เท่าตัว

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังจัดสรรงบเพื่อการวิจัยและพัฒนา(อาร์แอนด์ดี)ให้แก่อุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศในสัดส่วน 3% ต่ำกว่าเกาหลีใต้ ที่จัดสรรงบในส่วนนี้ 16% และอังกฤษ 11 %

ในร่างงบประมาณปี 2565 ของรัฐบาลญี่ปุ่น ครอบคลุมการจัดสรรงบ ด้านอาร์แอน์ดีเพิ่ม 1.4 เท่าเพื่อให้นำไปใช้จ่ายในอุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการศึกษา “ปืนรางไฟฟ้า” หรือ “เรลกัน” เพื่อสกัดขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก และเทคโนโลยีที่ยิงขีปนาวุธร่วงโดยใช้โดรนและคลื่นวิทยุ

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์