เวิลด์แบงก์ลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลก ห่วงเหลื่อมล้ำเพิ่ม

เวิลด์แบงก์ลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลก ห่วงเหลื่อมล้ำเพิ่ม

ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2565 และ 2566 เตือนเงินเฟ้อ หนี้ และความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เพิ่มสูงอาจทำลายการฟื้นตัวในเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่และกำลังพัฒนา

เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีอ้างถึงรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (11 ม.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น คาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 4.1% และ 3.2% ในปี 2566

เนื่องจากหลายประเทศเริ่มลดนโยบายสนับสนุนด้านการเงินการคลังที่ออกมาอย่างไม่เคยมีมาก่อนเพื่อรับมือความเสียหายจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งก่อนหน้านี้เศรษฐกิจโลกเคยฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งอานิสงส์ความต้องการพุ่งสูงหลังนานาประเทศยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์โควิด เป็นเหตุให้เวิลด์แบงก์ประเมินว่า ปี 2564 เศรษฐกิจโลกจะเติบโต 5.5%

เขตเศรษฐกิจใหญ่ เช่น สหรัฐ จีน และประเทศในเขตยูโรโซนคาดว่าการเติบโตจะชะลอตัวลงในปีนี้ การติดเชื้อโควิดที่กลับมาอีกครั้งผลจากสายพันธุ์โอมิครอนที่ติดต่อกันได้ง่าย มีแนวโน้มปั่นป่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะใกล้ และถ้ายังไม่จบง่ายๆ อาจทำให้คาดการณ์เศรษฐกิจเลวร้ายต่อไปอีก

ปัญหาคอขวดซัพพลายเชนที่กำลังดำเนินอยู่ แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มสูง และความเสี่ยงทางการเงินที่เพิ่มระดับขึ้นในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกอาจเพิ่มความเสี่ยง “ฮาร์ดแลนดิง” หรือเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงหลังจากเติบโตดีมาระยะหนึ่ง

เวิลด์แบงก์รายงานด้วยว่า เศรษฐกิจจีนส่อเค้าอ่อนแรงลงจากที่เคยประเมินไว้ที่ 8% ในปี 2564 มาอยู่ที่ 5.1% ในปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผลกระทบยืดเยื้อจากโควิดระบาดและรัฐบาลปักกิ่งกระชับกฎระเบียบมากขึ้นไปอีก

เขตเศรษฐกิจก้าวหน้าคาดว่าการเติบโตจะชะลอตัวจาก 5% ในปี 2564 มาอยู่ที่ 3.8% ในปีนี้ ซึ่งเวิลด์แบงก์ระบุว่า มากพอที่จะกลับไปสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจขั้นสูงสุดสู่แนวโน้มก่อนโควิดระบาดได้ในปี 2566 เข้าสู่วัฏจักรการฟื้นตัวโดยสมบูรณ์

ในทางกลับกัน ตลาดเกิดใหม่และเศรษฐกิจกำลังพัฒนา (อีเอ็มดีอี) คาดว่าจะเสียหายมากจากผลของโรคระบาด คาดว่าเศรษฐกิจไม่แกร่งพอจะกลับมาลงทุนหรือสร้างผลผลิตได้ถึงระดับก่อนโควิดภายในปี 2566

ในภาพกว้าง คาดว่าเศรษฐกิจอีเอ็มดีอีจะชะลอตัวจากประเมินไว้ 6.3% ในปี 2564 มาอยู่ที่ 4.6% ในปี 2565 สำหรับบางชาติที่เล็กกว่าหรือแม้แต่ประเทศที่พึ่งการท่องเที่ยวอย่างหนัก คาดว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจยังคงต่ำกว่าระดับก่อนโควิด

ไม่เพียงเท่านั้น ธนาคารโลกยังเตือนว่าการระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้แย่ลง โดยเฉพาะระหว่างประเทศ 60% ของครัวเรือนในกลุ่มอีเอ็มดีอีเคยสูญเสียรายได้ในปี 2563 ขณะเดียวกันที่อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและในภูมิภาคซับซาฮาราของแอฟริกาได้รับความเสียหายหนักสุด

ส่วนเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสร้างความเสียหายให้แรงงานในประเทศรายได้ต่ำรุนแรงที่สุด กำลังพุ่งสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 ราคาที่สูงขึ้นจะกดดันนโยบายการเงิน ขณะที่เขตเศรษฐกิจเกิดใหม่และกำลังพัฒนาหลายแห่งกำลังถอนมาตรการสนับสนุนเพื่อสกัดเงินเฟ้อก่อนเศรษฐกิจจะฟื้่นตัวเต็มที่

การระบาดของโควิดยังผลักดันให้หนี้รวมทั้งโลกสู่ระดับสูงสุดในรอบ 50 ปี และอาจทำให้ความพยายามประสานการบรรเทาหนี้ในอนคตยุ่งยากอีกด้วย ในโอกาสนี้เวิลด์แบงก์เรียกร้องให้มี “ความร่วมมือระดับโลก” เพื่อช่วยเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาขยายทรัพยากรทางการเงินที่จำเป็นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลกกล่าวระหว่างเปิดตัวรายงานว่า โควิด-19 ยังเป็นเงาทะมึนบดบังโอกาสการเติบโต ถ้าโอมิครอนยังยืดเยื้อธนาคารโลกอาจปรับลดคาดการณ์ลงอีก

“ประเทศกำลังพัฒนากำลังเผชิญปัญหารุนแรงระยะยาวผลพวงจากอัตราการฉีดวัคซีนต่ำกว่า นโยบายมหภาคของโลก และภาระหนี้ หุบเขาระหว่างอัตราการเติบโตในประเทศเหล่านี้กับในเขตเศรษฐกิจก้าวหน้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความเหลื่อมล้ำนี้ยิ่งรุนแรงเมื่อเทียบเป็นหัวประชากรและในแง่รายได้เฉลี่ย เมื่อผู้คนในโลกกำลังพัฒนาถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และอัตราความยากจนสูงขึ้น ปัญหาความยากจน ขาดอาหาร และสุขภาพจึงย้อนคืนมา" มัลพาสกล่าวและว่า ปัญหาในระบบการศึกษาผลจากการปิดโรงเรียนจะดำรงอยู่ถาวร ผลกระทบนี้ยิ่งหนักมากในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปี 2563 มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 กว่า 300 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 5.5 ล้านคน การฉีดวัคซีนไม่เท่าเทียมกัน ประเทศยากจนต้องดิ้นรนหาวัคซีนให้ได้เพียงพอ ข้อมูลจากเว็บไซต์ Our World In Data ชี้ว่า ขณะนี้ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้ว 9.49 พันล้านโดส แต่ประชาชนประเทศรายได้ต่ำที่ได้ฉีดอย่างน้อย 1 โดสมีเพียง 8.9% เท่านั้น

สถาบันระหว่างประเทศหลายแห่ง เช่น ธนาคารโลก องค์การอนามัยโลกต่างเรียกร้องให้กระจายวัคซีนกว้างขวางและเป็นธรรมยิ่งขึ้นเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดให้ได้

จากรายงานดังกล่าว เวิลด์แบงก์ถือเป็นสถาบันสำคัญระดับโลกสถาบันแรกของปีนี้ที่คาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจ คาดว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จะเผยแพร่รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับปรับปรุงในวันที่ 25 ม.ค.

ในวันอังคารเช่นเดียวกัน  เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (ดับเบิลยูอีเอฟ)  เผยแพร่รายงานความเสี่ยงโลกประจำปีนี้  ก่อนการประชุมดาวอส เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม 2022  ที่ต้องจัดงานแบบออนไลน์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จะเริ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า ซึ่งผลสำรวจนี้มาจากความเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและผู้นำกว่า 1,000 คนทั่วโลก

รายงานระบุว่า การระบาดของโควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากโรคระบาดนี้ ยังเป็นภัยคุกคามสำคัญระดับโลก โดยความแตกต่างระหว่างการเข้าถึงวัคซีนของประเทศร่ำรวยและยากจน สะท้อนถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกัน และยิ่งสร้างความแบ่งแยกทางสังคมและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างกลุ่มประเทศเหล่านี้

รายงานคาดการณ์ว่า การระบาดใหญ่ของโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจโลกในปี 2567 ขยายตัวน้อยกว่าระดับที่ควรจะเป็นหากไม่มีโรคระบาดถึง 2.3% และช่องว่างของการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะเห็นได้ชัดขึ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่เศรษฐกิจจะเติบโตน้อยกว่าที่ควรจะเป็นถึง 5.5%

นอกจากนี้ การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งผลักดันให้ผู้คนต้องทำงานและเรียนหนังสือออนไลน์จากที่บ้าน นำไปสู่การเข้าถึงแพลตฟอร์มและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่เปิดทางไปสู่ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์

รายงานยังแสดงความกังวลว่า การแข่งขันด้านอวกาศในขณะนี้ อาจนำไปสู่ปัญหาความแออัด การใช้ทรัพยากรมากเกินจำเป็น และปัญหาขยะอวกาศที่ตามมามากมาย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในการสำรวจนี้ มองว่าทั่วโลกขาดความร่วมมือในการแก้ปัญหาดังกล่าว