ส่งออกอาเซียนทะยานหนุนความหวังศก.ฟื้น

ส่งออกอาเซียนทะยานหนุนความหวังศก.ฟื้น

ส่งออกอาเซียนทะยานหนุนความหวังศก.ฟื้น ขณะการส่งออกของสิงคโปร์ในเดือนพ.ย.ปรับตัวขึ้น 24.2% ถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ10ปี

มีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในอาเซียนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงเดินหน้าฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องต่อไปในปีนี้ เพราะได้แรงหนุนจากการส่งออกที่ส่งสัญญาณคึกคักขึ้น ด้านยูโอบี คาดอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทยจ่อขึ้นดอกเบี้ยปีนี้

นิกเคอิ นำเสนอรายงานแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน โดยอ้างถึงการคาดการณ์ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(เอดีบี)ที่ว่า ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ของอาเซียนปีนี้จะขยายตัวที่ 5.1%  เพิ่มขึ้นจาก 3% ที่เคยประมาณการณ์ไว้สำหรับปี 2564 เมื่อการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบทำให้เกิดการปิดโรงงานหลายแห่งในมาเลเซียและเวียดนามในช่วงฤดูร้อน จนเป็นเหตุให้ระบบห่วงโซ่อุปทานโลกเกิดความวุ่นวาย      

รายงานของนิกเคอิ ระบุว่า มีความเป็นไปได้ว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอาเซียนจะกระตุ้นให้บรรดาธนาคารกลาง ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนับตั้งแต่ปีที่แล้ว ตัดสินใจที่จะใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด  ประกอบกับการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะปรับขึ้นดอกเบี้ยยิ่งเพิ่มแรงกดดันทำให้สกุลเงินท้องถิ่นในอาเซียนแข็งค่าขึ้น ยิ่งทำให้เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องใช้นโยบายเข้มงวดทางการเงิน 
 

แต่ยังคงมีปัจจัยลบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่รวมถึงโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งแพร่ระบาดในอัตราที่เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา ทำให้บรรดาธนาคารกลางของประเทศต่างๆในอาเซียนคิดหนักมากขึ้นในการดำเนินนโยบายการเงิน      

ขณะที่การส่งออกในเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดของภูมิภาคขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง เช่น การส่งออกของมาเลเซีย ทะยาน 32% ในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่า 122.2 พันล้านริงกิต (26.9 พันล้านดอลลาร์)หลังจากยอดส่งออกรายเดือนในเดือนตุลาคมปรับตัวขึ้นสูงสุดมาแล้ว  

ข้อมูลการค้าของมาเลเซีย บ่งชี้ว่าการค้าในผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยเพิ่มขึ้นเกือบ 40% รวมทั้งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์

“วัง เซียว ไห่”ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มาเลเซีย คาดการณ์ว่าบรรยากาศทางธุรกิจในปีนี้จะดีกว่าปีที่แล้ว และสถานการณ์น้ำท่วมมาเลเซียเมื่อไม่นานมานี้ก็สร้างผลกระทบในวงจำกัด 
 

การส่งออกของสิงคโปร์ในเดือนพ.ย.ปรับตัวขึ้น 24.2% ถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ10ปี

ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนให้ประชาชนที่ครอบคลุมมากขึ้น ประกอบกับพบผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยลงช่วยให้ผู้คนกลับไปทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติได้มากขึ้นในหลายประเทศ โดยบริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็ง มองว่าความเสี่ยงที่อาเซียนจะล็อกดาวน์ลดลงมาก พร้อมทั้งระบุว่า ปี 2565 จะเป็นปีที่ภูมิภาคนี้ต้องดำเนินชีวิตอยู่กับการระบาดของโรคโควิด-19

ด้วยกระแสคาดการณ์ว่าภาพรวมทางเศรษฐกิจของอาเซียนจะสดใสขึ้น บรรดาธนาคารกลางซึ่งลดดอกเบี้ยในปี 2563 ท่ามกลางการระบาดอย่างหนักของโรคโควิด-19 และคงอัตราดอกเบี้ยในปี 2564 จึงเตรียมพิจารณาขึ้นดอกเบี้ย โดยบรรดานักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสำคัญหลายประเทศเตรียมขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2565

ธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ แบงก์ (ยูโอบี)ซึ่งมีฐานอยู่ในสิงคโปร์ คาดการณ์ว่าอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทยจะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ โดยในอินโดนีเซีย ยูโอบีคาดการณ์ว่าจะขึ้นดอกเบี้ย4ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายของอินโดนีเซียอยู่ที่ 4.5% ภายในช่วงปลายปี จากปัจจุบันที่ 3.5%  

ขณะที่สิงคโปร์ เริ่มใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค.ปีที่แล้ว โดยคณะกรรมการของธนาคารกลางสิงคโปร์ (เอ็มเอเอส) ประกาศใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินผ่านทางการกำหนดกรอบอัตราแลกเปลี่ยนแทนการปรับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าขึ้นหรืออ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินที่เป็นคู่ค้าหลักของสิงคโปร์ภายในกรอบเป้าหมายที่เอ็มเอเอสกำหนดไว้

การปรับนโยบายการเงินผ่านการกำหนดกรอบอัตราแลกเปลี่ยนครั้งนี้เอ็มเอเอสดำเนินการใน 3 ด้านด้วยกันคือ ความชัน (Slope), ค่ากลาง (Mid-Point) และความกว้าง (Width) ของกรอบอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนด (Policy Band) หรือที่เรียกว่า Nominal Effective Exchange Rate (เอ็นอีอีอาร์)

เอ็มเอเอสปรับเพิ่มความชันของกรอบค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์ขึ้นเล็กน้อย จากก่อนหน้านี้ที่ระดับ 0% แต่จะยังคงความกว้างและค่ากลางไว้ที่ระดับเดิม ซึ่งการดำเนินการของเอ็มเอเอสส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าขึ้นทันทีประมาณ 0.3% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าของดังกล่าว

“การกำหนดกรอบค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์อย่างเหมาะสม จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเสถียรภาพของเงินเฟ้อในระยะกลาง ขณะเดียวกันเอ็มเอเอสก็ตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะมีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วย” เอ็มเอเอสระบุในแถลงการณ์ พร้อมกับคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อพื้นฐานจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1-2% ในปีหน้า และคาดว่าจะเคลื่อนตัวเข้าใกล้ระดับ 2% ในระยะกลาง

การปรับนโยบายการเงินของหลายประเทศในอาเซียนมีขึ้นหลังจากเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2565 และจำนวน 2 ครั้งในปี 2566 และอีก 2 ครั้งในปี 2567

ขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษ(บีโออี)ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว จาก 0.1% เป็น 0.25% เพื่อดูแลเงินเฟ้อที่พุ่งทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งถือว่าผิดไปจากที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ว่าบีโออีอาจจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ เพราะกังวลการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน