เยอรมนี หุ้นส่วน ไทยบรรลุเป้าเน็ต ซีโร่

เยอรมนี หุ้นส่วน ไทยบรรลุเป้าเน็ต ซีโร่

เยอรมนี หุ้นส่วน ไทยบรรลุเป้าเน็ต ซีโร่ ขณะเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทยย้ำว่า ความเป็นหุ้ส่วนในเรื่องนี้ไม่ใช่ความท้าทายเฉพาะกับประเทศไทย หรือเยอรมนี แต่เป็นความท้าทายของทุกคนบนโลกใบนี้

ประเทศไทยประกาศเจตนารมณ์ลดก๊าซเรือนกระจก ก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี2593 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (เน็ต ซีโร่) ในปี 2608 ในเวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ที่ผ่านมา เป็นหนึ่งหมุดหมายที่ไทยจะทำงานร่วมกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก

สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และโครงการด้านนโยบาย ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย – เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดการประชุมสัมมนา “COP26 Debrief : อนาคตโลก อนาคตไทย” เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2564 เพื่อแสดงความเป็นหุ้นส่วนและร่วมมือการขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานของหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ บรรลุเน็ตซีโร่

“เกออร์ก ชมิดท์” เอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การบริหารจัดการเศรษฐกิจกับการบริหารจัดการนิเวศวิทยา อาจฟังดูขัดแย้งกัน แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป และผสมผสานกันให้ลงตัว แม้การลงมือทำในวันนี้ อาจจะดูเหมือนสาย แต่ในความเป็นจริง ไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับทุกคนที่ตั้งใจให้ความร่วมมือลดคาร์บอนเป็นศูนย์

“แม้รัฐบาลจะออกมาตรการต่างๆ เพื่อให้การดำเนินการด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นไปอย่างเป็นธรรม แต่เราก็ต้องการความร่วมมือจากภาคประชาชน และทุกภาคส่วนต้องร่วมช่วยกันออกแบบว่า นับจากนี้เราจะใช้ชีวิตประจำวันอย่างไร เพื่อรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” ชมิดท์กล่าวและเสริมว่า นี่ไม่ใช่ความท้าทายเฉพาะของประเทศไทย หรือเยอรมนี แต่เป็นความท้าทายของทุกคนบนโลกใบนี้

การประชุมครั้งนี้ได้เปิดกว้างให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องแลกเปลี่ยนแนวคิด และทิศทางการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ในช่วงการเสวนาได้รับเกียรติจากผู้แทนหน่วยงานที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ประกอบด้วยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และธนาคารแห่งประเทศไทย 

ด้าน "วราวุธ ศิลปอาชา" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า การทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีทั้งดูแลภาคการปลดปล่อยและการดูดซับก๊าซเรือนกระจก

ขณะเดียวกัน ทส.ยังมีภารกิจสำคัญในการดูแลภาคดูดซับของก๊าซเรือนกระจก โดยการเพิ่มพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวของประเทศให้ได้ 55% ตามที่กำหนดไว้ในกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นการเพิ่มพื้นที่ดูดซับของก๊าซเรือนกระจก (Carbon sinks) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การประชุมดังกล่าวจะเป็นเวทีให้กระทรวงต่างๆ ได้แสดงแผนขับเคลื่อนเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างแข็งขัน ซึ่งทางกระทรวงพลังงานได้ปรับเปลี่ยนโดยแผนพลังงานแห่งชาติ วางนโยบายใหม่ด้วยสูตร 4D + 1E ได้แก่ 

Digitalization การนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน สนับสนุนการยกระดับระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) สนับสนุนการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) สร้างเสถียรภาพให้กับโรงไฟฟ้าชุมชนและโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 

Decarbonization การผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานอาเซียน การลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล   เพิ่มการผลิต และใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ชีวมวลและชีวภาพ

Decentralization การมอบกระจายอำนาจ ให้กับภาคส่วนต่างๆ ในท้องถิ่นให้บริหารจัดการพลังงานกันเองได้

De-Regulation การปลดล็อกกฎระเบียบเพื่อช่วยลดต้นทุนให้พลังงานที่ผลิตจากประชาชนสามารถเข้าสู่ Grid ได้ 

Electrification การผลักดันให้ทุกอย่างเป็นระบบไฟฟ้ามากขึ้น ส่งเสริมและขยายระบบโครงข่ายรถไฟฟ้าและส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 

ส่วนภาคคมนาคมและการขนส่งแสดงความมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อบริหารจัดการการเดินทางสำหรับประชาชนและการขนส่งสินค้าด้วยระบบรางและทางน้ำ ภาคการเงินและการส่งเสริมการลงทุนก็ได้มีความพยายามในการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจสีเขียว

ทั้งจากการออกมาตรการงดเว้นภาษีสำหรับการลงทุนด้านพลังงานทางเลือก การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายใหญ่มาลงทุนช่วยเกษตรการรายย่อยเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตร เช่น การปลูกข้าวคาร์บอนต่ำ การส่งเสริมการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และจัดทำแนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Initiatives for Thailand) เพื่อเอื้อต่อภาคเอกชนได้ปรับเปลี่ยนการลงทุนๆไปสู่ธุรกิจสีเขียวได้ง่ายขึ้น