จับตาสัมพันธ์สหรัฐ - รัสเซียหลังหารือวิกฤติยูเครนปีหน้า

จับตาสัมพันธ์สหรัฐ - รัสเซียหลังหารือวิกฤติยูเครนปีหน้า

เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์รำไรในสถานการณ์ตึงเครียดของยุโรปตะวันออก หลังจากสหรัฐ ระบุว่า จะหารือกับรัสเซียในเดือนม.ค.ปีหน้าเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของรัสเซียที่ต้องการให้องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ(นาโต้)

"คาเรน ดอนฟรายด์” ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ของสหรัฐ ซึ่งดูแลกิจการยุโรปและยูเรเซีย กล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า จะมีการหารือกันระหว่างสหรัฐและรัสเซีย โดยทั้งสองฝ่ายจะตกลงเรื่องวันที่ ที่แน่นอนในการประชุมร่วมกันอีกครั้ง 

แต่ ดอนฟรายด์ ก็เตือนว่า การหารือกันที่จะเกิดขึ้นในเดือนม.ค.จะอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ต่างตอบแทน และการแก้ไขปัญหาที่เป็นความกังวลเกี่ยวกับท่าทีของรัสเซีย ภายใต้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับบรรดาชาติพันธมิตรในยุโรปและหุ้นส่วนอื่นๆ ของสหรัฐ

ความเคลื่อนไหวจากฝั่งสหรัฐ มีขึ้นในช่วงที่สหรัฐและชาติตะวันตกประเมินว่า รัสเซียส่งกำลังทหารกว่า 100,000 นาย ประจำการในพื้นที่ชายแดนที่ติดกับภาคตะวันออกของยูเครน หลังจากผนวกคาบสมุทรไครเมียของยูเครนเข้ากับรัสเซียเมื่อปี 2557 ได้สำเร็จ
 

 ในส่วนของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐ ปฏิเสธที่จะส่งกำลังทหารอเมริกันเข้าไปยังภูมิภาคที่กำลังอยู่ในภาวะตึงเครียดนี้ หากรัสเซียโจมตียูเครน แต่มีแผนจะส่งอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนหนึ่ง รวมทั้งขีปนาวุธจาเวลิน ไปให้รัฐบาลยูเครนใช้ในปฏิบัติการป้องกันตนเอง

ด้านประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ตำหนิชาติตะวันตก ว่าเป็นตัวการเพิ่มความตึงเครียดแก่ภูมิภาคยุโรปตะวันออก พร้อมทั้งระบุว่า มีการประเมินผลลัพธ์ของสงครามเย็นอย่างไม่ถูกต้อง

“รัสเซียจะตอบโต้อย่างสาสมกับท่าทีก้าวร้าวของชาติตะวันตกและจะพัฒนากองทัพรัสเซียให้มีแสนยานุภาพมากขึ้น” ปูติน กล่าว

ไม่กี่วันก่อน ทางการรัสเซียได้ส่งร่างเอกสารด้านความปลอดภัยที่เรียกร้องให้นาโต้ปฏิเสธการขอเป็นสมาชิกของยูเครนและอดีตประเทศโซเวียตอื่นๆ รวมทั้งยกเลิกการจัดวางกำลังทหารของนาโต้ในยุโรปกลาง และยุโรปตะวันออก ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นข้อเรียกร้องที่จะถูกสหรัฐ และชาติตะวันตกปฏิเสธ

 ด้าน "เซอเกย์ ไชกู" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ของรัสเซีย บรรยายสรุปให้ที่ประชุมคณะเจ้าหน้าที่ในกองทัพรัสเซียซึ่งมีประธานาธิบดี ปูติน ร่วมรับฟังด้วยว่า ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 120 คนของบริษัทด้านการทหารเอกชนสัญชาติอเมริกัน กำลังปฏิบัติการอยู่ในหมู่บ้าน 2 แห่งทางตะวันออกของยูเครน ที่อยู่ในพื้นที่ของกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดน

ไชกู กล่าวว่า บุคลากรของสหรัฐกำลังฝึกกองทหารยูเครน และจัดตั้งจุดยิงตามอาคารที่พักอาศัย และที่อื่นๆ นอกจากนี้ยังพบว่ามีโกดังเก็บสารเคมีไม่ทราบชนิดที่ถูกส่งไปยังเมืองอัฟดิฟกาและคราสนึย ลิมาน ในภูมิภาคดาเนียตสค์

แต่ดูเหมือนว่าความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและรัสเซีย ไม่ได้มีแค่ในมิติความขัดแย้งทางการเมืองอย่างเดียว เพราะล่าสุด สำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) ได้เผยแพร่รายงานที่ระบุว่า รัสเซียไม่ทำตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้ เมื่อครั้งที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) โดยมีการจำกัดการนำเข้าสินค้าเกษตรและใช้นโยบายที่เน้นการทดแทนการนำเข้า

รายงานของยูเอสทีอาร์ ระบุว่า ในปี 2564 รัสเซียประกาศใช้ระบบติดตามการขายสินค้าในระบบห่วงโซ่อุปทาน ทั้งยังมีการจำกัดการนำเข้าสินค้าด้วยหลักการที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์

"ในปีที่ผ่านมา การดำเนินการของรัสเซียไม่เป็นไปตามหลักการของดับเบิลยูทีโอ อันได้แก่ การไม่กีดกัน, การค้าที่เปิดเสรีมากขึ้น, ความคาดการณ์ได้, ความโปร่งใส และการแข่งขันอย่างยุติธรรม โดยรัสเซียยังคงใช้มาตรการนำเข้าที่เข้มงวด จำกัดการแลกเปลี่ยนสินค้าภายในประเทศ ตลอดจนใช้นโยบายอุตสาหกรรมที่เน้นการทดแทนการนำเข้า และบีบบังคับให้ผู้ประกอบการต้องจัดตั้งฐานธุรกิจในรัสเซีย"รายงานของยูเอสทีอาร์ ระบุ

ยูเอสทีอาร์ ระบุด้วยว่า สหรัฐมีความกังวลเกี่ยวกับท่าทีของรัสเซีย และจะใช้กลไกด้านต่างๆ แก้ปัญหาในด้านนี้ เพื่อทำให้ตลาดรัสเซียเปิดรับสินค้าส่งออกจากสหรัฐต่อไป

ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ความร่วมมือระดับทวิภาคีระหว่างสหรัฐและรัสเซียในการแก้ปัญหาการแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรเป็นไปอย่างจำกัดมาตั้งแต่ปี 2557 หลังจากรัสเซียใช้กำลังทหารเข้ารุกรานพื้นที่ภาคตะวันออกของยูเครน

มาดูกันว่าความขัดแย้งของสองประเทศ ทั้งประเด็นการเมืองและการค้าจะดำเนินไปถึงจุดไหน โลกจะได้เห็น“การตอบโต้อย่างสาสม”ตามที่ประธานาธิบดีปูติน ประกาศกร้าวหรือไม่

 

พิสูจน์อักษรโดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์