เจซีอีอาร์ชี้ศก.จีนแซงหน้าสหรัฐได้ปี76

เจซีอีอาร์ชี้ศก.จีนแซงหน้าสหรัฐได้ปี76

เจซีอีอาร์ชี้ศก.จีนแซงหน้าสหรัฐได้ปี2576 เพราะปัจจัยลบจากการปราบปรามบ.เทคโนโลยียักษ์ใหญ่และปัญหาการแบกรับหนี้สินก้อนโตของบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีน

ศูนย์วิจัยด้านเศรษฐกิจของญี่ปุ่น (เจซีอีอาร์)เผยแพร่ผลงานวิจัยชิ้นล่าสุดที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของจีนจะเติบโตแซงหน้าเศรษฐกิจสหรัฐๆได้ในปี 2576 ไม่ใช่ปี 2572 อย่างที่คาดการณ์ไว้เมื่อปีที่แล้ว

เพราะการดำเนินนโยบายของรัฐบาลปักกิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งการปราบปรามบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่และบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมอื่นๆ การกำหนดเป้าปล่อยก๊าซคาร์บอนฯศูนย์เปอร์เซนต์ และปัญหาเรื่องหนี้สินในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของจีน ที่รวมถึงหนี้สินบริษัทไชนา เอเวอร์แกรนด์

รายงานของเจซีอีอาร์ที่เผยแพร่วานนี้ (15ธ.ค.)ระบุด้วยว่า ภายในปี2570 ชาวเกาหลีใต้จะแซงหน้าชาวญี่ปุ่นในแง่ของการเก็บออมได้มากกว่า ส่วนชาวไต้หวันจะเก็บออมได้ดีในอีก1ปีต่อมา 

ขณะที่ความล่าช้าเกี่ยวกับแผนการดำเนินงานในรูปแบบดิจิทัลของรัฐบาลและภาคส่วนอื่นๆของญี่ปุ่นจะบั่นทอนความสามารถด้านการผลิตของญี่ปุ่น

การประเมินของเจซีอีอาร์ล่าสุดนี้ บ่งชี้ว่าจีนต้องใช้เวลามากขึ้่นในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจจนสามารถแซงหน้าเศรษฐกิจสหรัฐได้เพราะนโยบายของรัฐบาลจีนเองที่คุมเข้มทางการเงิน โดยมีเป้าหมายเพื่อสกัดการลงทุนมากเกินไปในตลาดอสังหาริมทรัพย์

การประมาณการณ์ล่าสุด ยังระบุถึงองค์ประกอบต่างๆในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหรัฐอย่างรวดเร็วในปีนี้ เพราะได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก้อนโตที่นำเสนอโดยคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดนจนผ่านความเห็นชอบของสภาคองเกรส

 รายงานว่าด้วยความร่ำรวยของประชากรในประเทศเอเชียตะวันออกที่ปรับปรุงใหม่ของเจซีอีอาร์ ระบุว่า ตัวเลขค่าเฉลี่ยของจีดีพีต่อหัวประชากรของญี่ปุ่นอยู่ที่ 39,890 ดอลลาร์ในปี 2563 สูงกว่าเกาหลีใต้ 25% โดยเกาหลีใต้อยู่ที่ 31,954  ดอลลาร์ และสูงกว่าไต้หวัน 42% โดยไต้หวันอยู่ที่ 28,054 ดอลลาร์  

แต่เมื่อวัดกันที่ผลิตภาพแรงงาน ซึ่งประกอบด้วยตัวเลขเฉลี่ยของชั่วโมงทำงานและอัตราการจ้างงาน เจซีอีอาร์กลับเห็นว่า ญี่ปุ่นร่วงลงไปอยู่อันดับ3 ในบรรดา3 เขตเศรษฐกิจนี้ พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าค่าเฉลี่ยของจีดีพีต่อหัวประชากรในเกาหลีใต้จะเติบโตที่ปีละ 6% ไปจนถึงปี 2568 และในไต้หวัน 8.4% ขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ที่อัตรา2%

การปรับตัวให้สอดคล้องกับการมาถึงของเทคโนโลยีก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจในบรรดาเขตเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเหล่านี้ขยายตัวได้ดีหรือขยายตัวช้า อย่างกรณีของเกาหลีใต้ เริ่มใช้ระบบระบุตัวตนมาใช้ในประเทศในช่วงปี2503 ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถทำแอพพลิเคชันและขั้นตอนต่างๆได้ประมาณ 1,300 ประเภท

ด้วยการพิมพ์หมายเลขบัตรประชาชนลงในเว็บท่าของรัฐบาลและตัวเลขนี้ยังสามารถนำไปใช้สมัครสมาชิกใช้บริการทางอินเทอร์เน็ต เปิดบัญชีธนาคารและทำธุรกรรมด้านอื่นๆได้ด้วย เมื่อรัฐบาลแจกเงินเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ประชากรในเกาหลีใต้กว่า 90% จะได้รับเงินเยียวยาดังกล่าวภายในเวลา 1 เดือน

ด้านไต้หวันก็เร่งเปลี่ยนสู่รูปแบบดิจิทัลภายใต้การนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลอย่าง“ออเดรย์ ถัง” และเว็บท่าของรัฐบาลอนุญาตให้ประชาชนลงทะเบียนและกรอกรายละเอียดต่างๆตั้งแต่เกิด เกษียณจนถึงเสียชีวิต และเว็บไซต์นี้ยังอนุญาตให้บริษัทลงทะเบียนด้วย

นอกจากนี้ การสมัครเพื่อรับเงินเยียวยาทางออนไลน์ยังช่วยให้ผู้รับการเยียวยาได้รับเงินจากรัฐบาลเร็วกว่าการไปสมัครรับเงินเยียวยาด้วยตัวเองประมาณสามถึงห้าวันด้วย ซึ่งกระตุ้นให้ประชาชนชาวไต้หวันนิยมสมัครรับเงินเยียวยาจากทางการผ่านระบบดิจิทัล

แต่ญี่ปุ่นไม่ได้เป็นแบบสองเขตเศรษฐกิจนี้ การทำกิจกรรมทางธุรกิจในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังเป็นระบบอะนาล็อก ผลศึกษาเปรียบเทียบของญี่ปุ่น สหรัฐและเยอรมนี ที่จัดทำในปีนี้โดยกระทรวงกิจการภายในบ่งชี้ว่า 25% ของบริษัทญี่ปุ่นใช้การประทับตราที่เรียกว่า Hanko 

หรือตราประทับที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่น เป็นวัฒนธรรมที่นำเข้ามาจากจีนในยุค คามาคูระ (1728-1876) ซึ่งตอนแรกจะใช้ในกลุ่มคนชั้นสูงอย่างโชกุน แต่เริ่มมาแพร่หลายใน ยุคเอโดะ(2146-2411) ซึ่งญี่ปุ่นมีกฎหมายรับรอง Hanko ตั้งแต่ปี 2416 ทำให้ Hanko เป็นสิ่งสำคัญในชีวิตคนญี่ปุ่นมาจนถึงทุกวันนี้

นอกจากนี้ ยังใช้ลายเซนต์ในการเซ็นสัญญาและการลงนามในเอกสารต่างๆที่ส่งมอบให้หุ้นส่วนทางธุรกิจ โดยไม่ปรากฏรูปแบบดิจิทัลให้เห็นเลย ขณะที่ผลสำรวจล่าสุดบ่งชี้ว่า ในกลุ่มบริษัทสหรัฐนั้น ในการดำเนินการเซ็นเอกสารหรือลงนามข้อตกลงกับหุ้นส่วน ใช้รูปแบบดิจิทัลในสัดส่วน 25%

ญี่ปุ่นยังมีความล่าช้าในการโอนหรือการทำธุรกรรมทางการเงินด้วยระบบดิจิทัล ซึ่งถือเป็นงานสำคัญสำหรับภาคธุรกิจญี่ปุ่น โดยบริษัทที่จ่ายภาษีและค่าใช้จ่ายด้านต่างๆโดยดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในญี่ปุ่นมีแค่10% เท่านั้นโดย ธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงส่งพนักงานไปที่ธนาคารเพื่อชำระเงิน       

ในรายงานฉบับนี้ เจซีอีอาร์ เตือนว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอาจจะทรุดลงไปอยู่ในระดับติดลบติดต่อกันในช่วงปี 2573 หากญี่ปุ่นไม่เร่งเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบดิจิทัลในเร็ววัน