สหรัฐ-อาเซียน-จี7ร่วมหนุนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

สหรัฐ-อาเซียน-จี7ร่วมหนุนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

“แอนโธนี บลิงเคน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐหารือกับ“โจโก วิโดโด”ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเมื่อวันจันทร์ (13ธ.ค.)เผื่อผลักดันยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ในช่วงที่ชาติตะวันตกหลายชาติมองว่าจีนพยายามแผ่อิทธิพลครอบงำอาเซียน

“เน็ด ไพรซ์” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ กล่าวว่า บลิงเคน และ ประธานาธิบดีวีโดโด ได้หารือกันเรื่องการกระชับความสัมพันธ์ของสองประเทศ ตลอดจนหาแนวทางแก้ปัญหาท้าทายต่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน รวมทั้งวิกฤติภาวะโลกร้อนและการระบาดของโควิด-19

ในโอกาสนี้บลิงเคน ได้แสดงความยินดีต่อการเป็นเจ้าภาพการประชุมจี-20 ของอินโดนีเซีย พร้อมสนับสนุนบทบาทผู้นำของอินโดนีเซียในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ในฐานะประเทศประชาธิปไตยที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ทั้งยังเน้นย้ำถึงภารกิจการมีส่วนร่วมของสหรัฐในอาเซียน
 

 ส่วนในวันอังคาร(14ธ.ค.)บลิงเคนแถลงเกี่ยวกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญด้านการต่างประเทศของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทั้งในมิติการเมืองและจะหารือวิสัยทัศน์ของไบเดนเรื่องแนวทางการตั้งกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกด้วยแม้ว่าจนถึงขณะนี้ รัฐบาลไบเดนยังไม่ได้แจกแจงวิสัยทัศน์ดังกล่าวอย่างชัดเจน

อินโดนีเซีย คือประเทศแรกในสามประเทศที่อยู่ในกำหนดการเยือนอาเซียนของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐในสัปดาห์นี้ซึ่งหลังเสร็จสิ้นการเยือนอินโดนีเซียแล้ว บลิงเคนจะเดินทางเยือนมาเลเซียและไทยต่อไป

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทย ทวีตข้อความว่าบลิงเคนจะเดินทางเยือนไทยระหว่างวันที่ 15-16 ธ.ค.นี้ โดยมีกำหนดหารือกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพบปะกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงมีกำหนดรับประทานอาหารกับภาคเอกชนของไทย

โฆษกกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐระบุด้วยว่าหลังเสร็จสิ้นการเยือนไทย บลิงเคนจะเดินทางไปโฮโนลูลู รัฐฮาวาย เพื่อพบกับพลเรือเอก จอห์น อากีลีโน ผู้บัญชาการกองเรือสหรัฐภาคพื้นอินโด-แปซิฟิกในวันที่ 17 ธ.ค.

การเยือนสามประเทศในอาเซียนของบลิงเคนมีขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ(จี 7) เข้าร่วมการประชุมเป็นวันที่สอง ที่เมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ร่วมกับบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศจากอาเซียนเป็นครั้งแรกและประเด็นที่หารือร่วมกันเป็นประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคี การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 สิทธิมนุษยชน และอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

“ลิซ ทรัสส์” รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ กล่าวว่า การเชิญประเทศอาเซียนเข้าร่วมประชุมด้วย เป็นสัญลักษณ์แห่งความใส่ใจมากขึ้นของอังกฤษที่มีต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก 

นอกจากนี้ ผู้แทนอังกฤษยังเตรียมหารือเกี่ยวกับโอกาสการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากเมื่อเดือนที่แล้ว สำนักงานการลงทุนในต่างประเทศของอังกฤษ เพิ่งปรับโครงสร้างใหม่ และเพิ่มงบประมาณการลงทุนในต่างประเทศเป็นเกือบ 10,500 ล้านดอลลาร์จากเดิม 2,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2563 และคาดว่า เงินลงทุนส่วนใหญ่จะกระจายไปยังประเทศในอาเซียน

บรรดาผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า การที่กลุ่มจี7 เชิญรัฐมนตรีจากอาเซียนเข้าร่วมประชุมสุดยอดในครั้งนี้ สะท้อนถึงความพยายามของกลุ่มจี7 ที่จะกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การเมืองและการทหารกับภูมิภาคอาเซียนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ที่กลุ่มชาติร่ำรวยทั้ง 7 กำลังมีความขัดแย้งตึงเครียดกับจีน รัสเซีย และอิหร่าน 

ในการประชุมสุดยอดจี 7 เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา อังกฤษก็เชิญตัวแทนจากอินเดีย ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ และเกาหลีใต้เข้าร่วม แสดงให้เห็นว่าชาติมหาอำนาจพยายามสร้างบทบทบาททางการทูตในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก