การขาดแคลนชิพเผ่อนคลายขณะสินค้าคงคลังบริษัทชั้นนำทั่วโลกเพิ่มขึ้น

การขาดแคลนชิพเผ่อนคลายขณะสินค้าคงคลังบริษัทชั้นนำทั่วโลกเพิ่มขึ้น

เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย ระบุว่า ตอนนี้ปัญหาขาดแคลนชิพสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ที่รุนแรงระดับวิกฤตเริ่มบรรเทาลง โดยปริมาณชิพคงคลังของบรรดาซัพพลายเออร์ชั้นนำของโลกหลายแห่งเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ9 เดือน

ปริมาณชิพคงคลังของบริษัทชั้นนำโลกพร้อมใจกันปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนก.ย. ทั้งบริษัทเรเนซัส อิเล็กทรอนิกส์ ของญี่ปุ่น บริษัทเอ็นเอ็กซ์พี เซมิคอนดักเตอร์ ซัพพลายเออร์สัญชาติเนเธอร์แลนด์ อินฟิเนียน เทคโนโลยีส์ สัญชาติเยอรมัน เอสทีเอ็มอิเล็กทรอนิกส์ สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ และเท็กซัส อินสทรูเมนท์ส สัญชาติอเมริกัน

ความต้องการชิพในอุตสาหกรรมรถยนต์ยังคงสูงอยู่แต่แนวโน้มของอุตสาหกรรมชิพในช่วงสองเดือนสุดท้ายของปียังไม่มีความชัดเจนนัก โดยที่ผ่านมา เกิดปัญหาขาดแคลนชิพในอุตสาหกรรมรถยนต์ค่อนข้างรุนแรง จนส่งผลให้ค่ายรถหลายแห่งตัดสินใจลดกำลังการผลิต

เมื่อเดือนก.ย. เฮอร์เบิร์ต ดีสส์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)ของโฟล์คสวาเกน, โอลา กัลเลนนิส ซีอีโอของเดมเลอร์ และกันเนอร์ เฮอร์แมนน์ ประธานคณะกรรมการบริหารฟอร์ด ยุโรป ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซีเอ็นบีซีที่งานมิวนิค มอเตอร์ โชว์ ว่า ยากที่จะบอกได้ว่าปัญหาชิพขาดแคลนที่ซับซ้อนจะได้รับการแก้ไขเมื่อใด

ซีอีโอโฟล์คสวาเกนจากเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของยุโรป บอกว่า บริษัทสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในจีนอย่างมาก เพราะผลพวงจากปัญหาการขาดแคลนชิพ

“เราค่อนข้างอ่อนแอเนื่องจากการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ เราได้รับผลกระทบในจีนมากกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราสูญเสียส่วนแบ่งตลาด”ดีสส์ กล่าว

ดีสส์ กล่าวด้วยว่า เพื่อนร่วมงานของเขาในประเทศจีนผลักดันให้มีการผลิตเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้น โดยระบุว่าการขาดชิพเป็นปัญหาใหญ่มากของอุตสาหกรรมยานยนต์

ก่อนหน้านี้ โฟล์คสวาเกน คาดการณ์ว่า สถานการณ์เซมิคอนดักเตอร์จะดีขึ้นหลังจากช่วงวันหยุดฤดูร้อน แต่กลับไม่เป็นแบบนั้น โดยมาเลเซีย ซึ่งมีซัพพลายเออร์ของโฟล์คสวาเกนจำนวนมาก ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้โรงงานหลายแห่งต้องปิดตัวลง

ส่วนเรเนซัส ซัพพลายเออร์หลักที่จัดหาอุปกรณ์ควบคุมขนาดเล็กให้แก่ค่ายรถยนต์ชั้นนำของโลกสัญชาติญี่ปุ่นอย่างโตโยต้า เจออุบัติเหตุไฟไหม้โรงงานผลิตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงโตเกียวส่งผลให้ไม่สามารถผลิตเซมิคอนดักเตอร์ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้

นอกจากนี้ การเริ่มกลับมาเดินสายการผลิตอีกครั้งของซัพพลายเออร์จำนวนมากประกอบกับการขนส่งผลิตภัณฑ์ชิพสำเร็จรูปถือเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นผลผลิตชิพให้กลับมามีปริมาณชิพหมุนเวียนในตลาดเท่าระดับก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19      

ขณะที่ปัญหาคอขวดอีกอย่างคือการขาดศักยภาพของบรรดาผู้ผลิตชิพตามสัญญาที่หันไปเน้นผลิตชิพป้อนให้อุตสาหกรรมรถยนต์มากกว่าจากเดิมที่เน้นผลิตชิพป้อนให้กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไรสูง อาทิ ผลิตชิพให้บริษัทเทคโนโลยีนำไปใช้ผลิตสมาร์ทโฟน   

ตอนนี้ทั้งผู้ผลิตชิพและบรรดาลูกค้ามีความเห็นตรงกันว่า ไตรมาส3ของปี2564 คือจุดเปลี่ยนที่สำคัญ และคาดว่าปัญหาขาดแคลนชิพในอุตสาหกรรมรถยนต์เริ่มทุเลาเบาบางลงตั้งแต่ไตรมาสเดือนก.ค.-ก.ย.

"ซี.ซี. เว่ย" ซีอีโอไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง โค ผู้ผลิตชิพรายใหญ่สุดของโลก กล่าวในเดือนก.ค.ว่า ปัญหาการขาดแคลนชิพในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เลวร้ายที่สุดเริ่มดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของบริษัทคอนติเนนตัล หนึ่งในผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ชั้นนำของโลกจากเยอรมนี

ด้าน"อากิระ มินามิกาวะ" นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของบริษัทออมเดีย บริษัทวิจัยชั้นนำ คาดการณ์ว่า การขาดแคลนชิพในอุตสาหกรรมรถยนต์จะสิ้นสุดลงภายในช่วงฤดูใบไม้ผลิหรือประมาณเดือนมี.ค.-พ.ค.ของปี 2565 

ปัญหาขาดแคลนชิพ ทำให้เกิดการปรับตัวในกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องและมีการบริหารความเสี่ยงด้านต่างๆเพื่อรับมือปัญหาที่เกิดขึ้นอื่นๆ บริษัทหลายแห่งปรับเปลี่ยนการนำชิพไปใช้ให้คุ้มค่ามากขึ้น ด้วยการนำไปใช้กับสินค้ารุ่นที่ขายดีก่อนรุ่นที่กำลังจะออกมาใหม่ 

ส่วนภาพรวมในระยะยาวจะเห็นได้ว่า หลายประเทศเริ่มลงทุนกับโรงงานผลิตชิพมากขึ้น ทั้งสหรัฐ, จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และยุโรป

โดยคาดการณ์ว่า มาตรการอุดหนุนที่สหรัฐจะใช้ในการส่งเสริมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศจะอยู่ที่ประมาณ  52,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนชิพในอนาคต เพราะหากมีการปรับเปลี่ยนเข้าสู่โลกเทคโนโลยีและยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบยิ่งมีความต้องการใช้เซมิคอนดักเตอร์มากขึ้นตามไปด้วย