แข่งความเร็วส่งสินค้ากลยุทธ์สตาร์ทอัพค้าปลีกสหรัฐ

แข่งความเร็วส่งสินค้ากลยุทธ์สตาร์ทอัพค้าปลีกสหรัฐ

ในยุคที่ผู้คนเริ่มใช้วิถีชีวิตแบบนิวนอร์มอล ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19ที่ยังคงแพร่ระบาดในหลายประเทศ รวมทั้งในสหรัฐ ธุรกิจค้าปลีกตามเมืองใหญ่ทั่วสหรัฐกำลังแข่งกันส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้าเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้คือไม่เกิน 15 นาที

ตามปกติ การส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้าของบรรดาผู้ค้าปลีกยักษ์ใหญ่จะใช้เวลาขั้นต่ำ1-2 ชั่วโมง แต่ตอนนี้มีบริษัทสตาร์ทอัพค้าปลีกจำนวนมากกำลังสร้างรูปแบบใหม่ของการบริโภคที่อนุญาติให้บรรดาลูกค้าซื้อสินค้าใดหรือเมื่อใดก็ได้ตามที่ต้องการ

บริษัทแรกที่บุกเบิกธุรกิจนี้ในอเมริกามาจากรัสเซีย ชื่อ "Buyk" เริ่มเปิดให้บริการในนิวยอร์ก ซิตี้ตั้งแต่ปลายเดือนส.ค.โดยลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านทางแอพพลิเคชัน และร้านขายของชำแห่งนี้ก็สามารถส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้าภายในเวลา 15 นาที โดยไม่มีการกำหนดวงเงินซื้อขั้นต่ำ และไม่มีค่าธรรมเนียมในการจัดส่งสินค้า 

ศูนย์แวร์เฮาส์ขนาดเล็กเป็นเหมือนกระดูกสันหลังด้านการบริการของบริษัท ปัจจุบัน มี20 จุดในนิวยอร์ก ซิตี้ ซึ่ง

“Buyk”มีแผนที่จะขยายธุรกิจไปยังชิคาโกภายในปลายปีนี้ส่งผลให้จำนวนร้านค้าแบบนี้ทั่วสหรัฐมีประมาณ 100 แห่ง

เมื่อมีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามา พนักงานจะไปเลือกสินค้าจากร้านและบรรจุหีบห่อในส่วนนี้ใช้เวลาประมาณ 2นาทีครึ่ง จากนั้นพนักงานจะนำสินค้าไปส่งที่บ้านและที่ทำงานโดยใช้จักรยานไฟฟ้า โดยมีรัศมีในการส่งประมาณ 1.5 -2.0 กิโลเมตร

“ลูกค้าสามารถซื้อไข่ นมและของชำอื่นๆตามที่ต้องการ โดยไม่ต้องวางแผนล่วงหน้าเป็นเวลาหลายวันและซื้อในปริมาณมาก”สลาวา โบชารอฟ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)และผู้ร่วมก่อตั้ง Buyk กล่าว

ด้าน"ยานา เพซอทสกายา" หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการด้านค้าปลีกของสหรัฐ กล่าวว่า ธุรกิจนี้ให้ความสำคัญกับการว่าจ้างคนส่งสินค้า ทำให้สามารถเสนอสินค้าในระดับราคาเดียวกับซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้ๆบ้านได้ รวมถึงโรโบมาร์ท บริษัทในซานตา โมนิกา รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ตั้งเป้าส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้าที่อยู่ในแถบเวสต์ ฮอลลีวู้ดภายใน 10 นาที     

ส่วนอาลี อาห์เหม็ด ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งโรโบมาร์ท เมื่อปี 2560 กล่าวว่าธุรกิจของเราเปรียบเหมือนการบริการของอูเบอร์และลิฟต์ เป็น“store hailing”ที่ใช้เวลาโดยเฉลี่ยในการส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้า 9 นาทีอีกทั้งการบริการรูปแบบนี้เป็นช่องทางใหม่สำหรับลูกค้าที่ต้องการปรับปรุงประสบการณ์ในการช็อปปิงและต้องการช็อปปิงในเวลาอันรวดเร็วแทนที่จะไปที่ร้านค้าหรือพึ่งพาการส่งสินค้าแบบเดลิเวอรี
 

นอกจากนี้ มี“สแน็กคาร์”ร้านค้าปลีกติดล้อที่จำหน่ายขนมหวาน เครื่องดื่มและอาหารประเภทต่างๆ เริ่มจำหน่ายตั้งแต่เดือนมิ.ย.ตามมาด้วยร้านขายยาที่เริ่มทดลองจำหน่ายตั้งแต่เดือนธ.ค.ปี 2563 เสนอผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ ยาและน้ำยาล้างทำความสะอาดที่สั่งซื้อได้ตามเคาท์เตอร์

โรโบมาร์ท วางแผนว่าจะตั้งร้านจำหน่ายสินค้าเคลื่อนที่เพิ่มอีก 6 ประเภท รวมทั้งร้านขายอาหารสด ร้านกาแฟ  ร้านไอศครีมและร้านฟาสต์ฟู้ด นอกจากนี้ โรโบมาร์ท ยังวางแผนที่จะขายระบบให้แก่ผู้ค้าปลีกรายอื่นที่สนใจในปีหน้า พร้อมกล่าวว่า“ระบบของบริษัทสามารถช่วยให้บรรดาผู้ค้าปลีกเพิ่มการส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าได้มากถึง 500% ด้วยกัน”

ช่วงโรคโควิด-19 ระบาดการส่งสินค้าถึงบ้าน โดยเฉพาะอาหารสดได้รับความนิยมอย่างมาก บรรดายักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมค้าปลีก เช่น วอลมาร์ท และอเมซอน รวมทั้งอินสตาคาร์ท บริษัทส่งอาหารรายใหญ่สุด เปิดให้บริการส่งสินค้าถึงมือลูกค้าด้วยเช่นกัน จึงทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ดุเดือดมาก ท่ามกลางความต้องการของลูกค้าที่ต้องการได้อาหารหรือสินค้าในเวลาอันรวดเร็วเพิ่มขึ้น

บรรดาบริษัทวิจัยหลายแห่งระบุว่า การแข่งกันที่การส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้าในเวลาเร็วที่สุดที่มาพร้อมวิถีนิวนอร์มอล กำลังสั่นคลอนตลาดของชำสหรัฐที่คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2564 และกระแสเงินลงทุนจะไหลเข้ามาในตลาดนี้อย่างมหาศาลในอนาคต เช่นเดียวกับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่ยังมีโอกาสมากมายที่จะเข้าไปในตลาดที่ทุกวันนี้ถูกยึดครองโดยเหล่า“ซูเปอร์มาร์เก็ต”ทั้งหลาย