สภาอิสลามอินโดนีเซียชี้เทรดคริปโทผิดกฏ

สภาอิสลามอินโดนีเซียชี้เทรดคริปโทผิดกฏ

สภาอิสลามแห่งชาติของอินโดนีเซีย(เอ็มยูไอ)ชี้แจงชาวอินโดนีเซีย เพื่อสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีว่าภายใต้กฏหมายอิสลามไม่อนุญาติให้ทำการซื้อขายสกุลเงินคริปโท

 ด้วยเหตุผลที่ว่าคริปโทเคอร์เรนซีไม่มีเสถียรภาพ และอาจนำไปสู่ความสูญเสียอย่างมหาศาลในข้อปฏิบัติต่างๆตามกฏหมายอิสลาม ซึ่งคำประกาศนี้มีขึ้นในช่วงที่การค้าเงินคริปโทในอินโดนีเซียเริ่มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงที่โรคโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดในขณะนี้

“แอสโรรัน นิอัม”เลขาธิการคณะกรรมการเอ็มยูไอ ซึ่งรับผิดชอบในการออก“ฟัตวา”หรือกฤษฎีกาทางศาสนา กล่าวว่า คริปโทเคอร์เรนซีเป็นสิ่งต้องห้าม ไม่ได้รับอนุญาติให้มีการซื้อขายภายใต้ศาสนาอิสลาม เป็นสกุลเงินที่มีองค์ประกอบของความไม่แน่นอนและมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดความสูญเสียสินทรัพย์ประเภทต่างๆที่ได้รับการสนับสนุนโดยบล็อกเชนซึ่งการตัดสินใจประกาศเพื่อสร้างความชัดเจนในเรื่องนี้สอดคล้องตามหลักกฏหมายอินโดนีเซียที่ให้การรับรองสกุลเงินรูเปี๊ยะห์ว่าเป็นเงินสกุลเดียวที่สามารถซื้อขายได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย

เลขาธิการคณะกรรมการเอ็มยูไอ ระบุว่า ชาวมุสลิมสามารถเทรดคริปโทเคอร์เรนซีในฐานะเป็นโภคภัณฑ์ประเภทหนึ่งได้ถ้าสามารถแสดงให้เห็นว่าการซื้อขายเงินประเภทนี้ได้ประโยชน์และสอดคล้องกับกฏหมายชาริอะห์ รวมถึง การถือครองสินทรัพย์ที่สอดคล้องกับการสอนของศาสนาอิสลาม โดยสินทรัพย์ที่ได้รับอนุญาติคือทองคำ (Gold)และเงิน (Silver)

คำประกาศเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีของเอ็มยูไอแก่ประชาชนชาวอินโดนีเซียที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามเกือบ 90%  มีขึ้นในช่วงที่การเทรดเงินคริปโทในอินโดนีเซียเติบโตอย่างมาก 

ข้อมูลของกระทรวงการค้าอินโดนีเซีย ระบุว่า นับจนถึงเดือนต.ค.ที่ผ่านมา มีเทรดเดอร์ที่ซื้อขายเงินประเภทนี้ในอินโดนีเซียมากถึง 9.73 ล้านคน และมูลค่าการซื้อขายก็มากถึง 717.5 ล้านล้านรูเปี๊ยะห์ เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 65 ล้านล้านรูเปี๊ยะห์ของปีที่แล้วตลอดทั้งปี

เอ็มยูไอมีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะอนุญาติให้ชาวมุสลิมในอินโดนีเซียทำอะไรได้ภายใต้กฏหมายอิสลามและขณะที่ฟัตวาไม่มีผลผูกพันทางกฏหมายแต่คำประกาศนี้มีผลกระทบต่อชาวอินโดนีเซียแม้ว่าหลักการของฟัตวาจะสวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนเทคโนโลยีคริปโท

จาร์กาตา วางแผนที่จะเปิดตลาดซื้อขายเงินคริปโทล่วงหน้า ขณะที่ธนาคารกลางอินโดนีเซีย กำลังพิจารณาเปิดตัวรูเปี๊ยะห์ดิจิทัล(ซีบีดีซี) โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีบล็อกเชน

“หากว่าธนาคารกลางอินโดนีเซียต้องการออกสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนก็เป็นเรื่องโชคร้าย เพราะสิ่งนี้จะถูกมองว่าเป็นของต้องห้ามภายใต้ฟัตวาของเอ็มยูไอ เพราะภายใต้ฟัตวา คริปโทหรือโทเคนบล็อกเชนไม่สามารถนำมาใช้เป็นเงินเพื่อทำธุรกรรมได้ อาจจะต้องมีการเจรจาระหว่างธนาคารกลางของอินโดนีเซียและเอ็มยูไอเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ”ออสการ์ ดาร์มาวาน ผู้ก่อตั้งอินโดแด็กซ์ บริษัทแลกเปลี่ยนคริปโท ในอินโดนีเซีย กล่าว

ดาร์มาวาน กล่าวเพิ่มเติมว่า บรรดานักลงทุนคริปโทในอินโดนีเซียยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใดๆเพื่อให้สอดรับกับฟัตวาที่ประกาศออกมา เพราะในอินโดนีเซีย คริปโทถูกนำมาใช้เป็นแค่สินทรัพย์หรือโภคภัณฑ์เท่านั้น เพราะฉะนั้นฟัตวาที่ออกมาจะไม่ส่งผลกระทบมากนักเพราะไม่มีใครมองว่าคริปโทเป็นสกุลเงิน พวกเขามองเป็นแหล่งสร้างรายได้จากการลงทุน

ด้านเทรดเดอร์คริปโทเคอร์เรนซีชาวมุสลิมคนหนึ่ง กล่าวกับนิกเคอิ เอเชียว่า "ผมไม่แคร์ฟัตวามากนักเพราะการซื้อขายหุ้นที่เหมือนกับการพนันมากยังได้รับอนุญาติภายใต้กฏหมายมุสลิม และตราบใดที่ตลาดหุ้นยังไม่ปิด ผมจะเดินหน้าลงทุนในคริปโทต่อไป"

ขณะที่เอ็มยูไอออกประกาศเรื่องคริปโทเคอร์เรนซี "โทนี ริชาร์ดส์" หัวหน้าฝ่ายนโยบายการชำระเงินของธนาคารกลางออสเตรเลีย (อาร์บีเอ) ก็ระบุว่า อาร์บีเอ ตัดสินใจทำการวิจัยเพิ่มเกี่ยวกับซีบีดีซี เช่นเดียวกับธนาคารกลางสำคัญแห่งอื่น ๆ แม้ยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับข้อดีของการออกสกุลเงินนี้

ริชาร์ด แสดงความเห็นดังกล่าวในที่ประชุมด้านการบริการทางการเงิน หลังจากที่วุฒิสภาออสเตรเลียออกรายงานเมื่อเดือนที่แล้วเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องมากขึ้นกับการออกสกุลเงินดิจิทัล

ริชาร์ดส์ ระบุว่า ขณะนี้ประเทศเศรษฐกิจสำคัญส่วนใหญ่กำลังพิจารณาว่าจะออกสกุลเงินซีบีดีซีหรือไม่ ซึ่งเงินประเภทนี้เทียบเท่ากับเงินสดบนอินเทอร์เน็ต และต่างไปจากเงินคริปโทเคอร์เรนซีเพราะไม่ได้มีการกระจายจากศูนย์กลาง

แต่ริชาร์ดส์ ก็บอกว่า “เมื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่ว่าดุลยภาพดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไปสู่การออกสกุลเงินซีบีดีซี สำหรับธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน ดังนั้นอาร์บีเอจึงตัดสินใจทำการวิจัยในด้านซีบีดีซีเพิ่ม

ริชาร์ด บอกด้วยว่า ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และสวีเดนเป็นประเทศที่มีความคืบหน้ามากที่สุดในการพิจารณาบทบาทสำหรับ ซีบีดีซี ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงมีความระมัดระวังมากกว่า

“จนถึงขณะนี้ เจ้าหน้าที่ของอาร์บีเอก็ยังไม่มั่นใจเช่นกันว่า มีนโยบายสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งสำหรับซีบีดีซีในออสเตรเลียหรือไม่” ริชาร์ดส์ กล่าว