ดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น 57 จุดขานรับยอดค้าปลีกที่แข็งแกร่งของสหรัฐ

ดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น 57 จุดขานรับยอดค้าปลีกที่แข็งแกร่งของสหรัฐ

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันอังคาร(16 พ.ย.)ปรับตัวขึ้น 57 จุดขานรับยอดค้าปลีกที่แข็งแกร่งของสหรัฐ แต่ราคาหุ้นของไฟเซอร์ อิงค์ ดิ่งลงสวนทางตลาด หลังอนุญาตให้ 95 ประเทศทั่วโลกผลิตยานี้ได้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์  ปรับตัวขึ้น 57.34 จุด หรือ 0.16% ปิดที่ 36,144.79 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 17.68 จุด หรือ 0.40% ปิดที่  4,701.44 จุด ดัชนีแนสแด็ก ปรับตัวขึ้น 118.68 จุด หรือ 0.75% ปิดที่ 15,972.52 จุด

บริษัทวอลมาร์ทและโฮม ดีโปท์ต่างพุ่งขึ้นในวันนี้ หลังการเปิดเผยผลประกอบการที่สดใส

การซื้อขายในตลาดได้ปัจจัยบวกจากยอดค้าปลีกของสหรัฐที่สูงกว่าคาด โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกพุ่งขึ้น 1.7% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.4% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนก.ย.

ยอดค้าปลีกที่เพิ่มขึ้นในเดือนต.ค. ได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้น และยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน

ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร พุ่งขึ้น 1.6% ในเดือนต.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนก.ย.
ตลาดยังได้ปัจจัยหนุนจากการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนลงนามในกฎหมายการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน วงเงินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อวานนี้

โดยโครงการดังกล่าวจะรวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณในการก่อสร้างถนน สะพาน ทางรถไฟ ปัจจัยพื้นฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และโครงการอื่นๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐ

นักลงทุนยังขานรับการประชุมทางไกลระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ในวันนี้

ทั้งนี้ บรรยากาศการเจรจาของผู้นำสหรัฐและจีนเป็นไปอย่างราบรื่นและฉันท์มิตร โดยทั้งสองต่างยืนยันที่จะร่วมมือกันเพื่อให้เกิดสันติภาพและการพัฒนาทั่วโลก

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าการประชุมระหว่างปธน.ไบเดนและปธน.สี จิ้นผิงได้ส่งสัญญาณผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน และมีโอกาสที่ประเทศทั้งสองจะยุติการทำสงครามการค้าที่เกิดขึ้นในสมัยของปธน.โดนัลด์ ทรัมป์

"การประชุมดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด และจะปูทางไปสู่การเจรจาการค้า โดยสหรัฐอาจผ่อนคลายมาตรการทางการค้าต่อจีน" นายเรย์มอนด์ เหยิง นักเศรษฐศาสตร์จากเอเอ็นแซด กล่าว

ทั้งนี้ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ราคาหุ้นของไฟเซอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทยารายใหญ่ของสหรัฐ ดิ่งลงกว่า 1% ในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีท หลังอนุญาตให้ผู้ผลิตยาสามัญจาก 95 ประเทศทั่วโลกสามารถผลิตยาแพกซ์โลวิดโดยไม่เรียกเก็บค่าตอบแทน ซึ่งจะทำให้บริษัทสูญเสียรายได้จำนวนมาก

เมื่อเวลา 23.02 น. ของวันอังคาร ราคาหุ้นไฟเซอร์ร่วงลง 1.36% สู่ระดับ 48.97 ดอลลาร์ 

ทั้งนี้ องค์กรสิทธิบัตรยาร่วม (เอ็มพีพี) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เปิดเผยในวันนี้ว่าเอ็มพีพีบรรลุข้อตกลงด้านสิทธิบัตรยากับบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ โดยทางบริษัทจะอนุญาตให้ผู้ผลิตยาสามัญสามารถจำหน่ายยาแพกซ์โลวิด ซึ่งเป็นยารักษาโรคโควิด-19 ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางจำนวน 95 ประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้ บริษัทที่ต้องการผลิตยาแพกซ์โลวิดสามารถยื่นเรื่องต่อเอ็มพีพีเพื่อขอการอนุมัติ โดยเอ็มพีพีจะมอบช่วงสิทธิบัตรให้แก่บริษัทที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานสาธารณสุขภายในประเทศในการผลิตยาดังกล่าว

เอ็มพีพี คาดการณ์ว่ายาแพกซ์โลวิดจะเข้าถึง 95 ประเทศดังกล่าวภายในเวลาอีกไม่กี่เดือน

การบรรลุข้อตกลงระหว่างเอ็มพีพีและบริษัทไฟเซอร์ในวันนี้มีขึ้น หลังจากที่เอ็มพีพีได้บรรลุข้อตกลงกับบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค ก่อนหน้านี้เช่นกันในการมอบสูตรการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยารักษาโรคโควิด-19 ให้แก่ 105 ประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้ บริษัทเมอร์คและไฟเซอร์จะไม่เรียกเก็บค่าตอบแทนจากบริษัทที่ผลิตยาโมลนูพิราเวียร์และยาแพกซ์โลวิด ตราบใดที่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ยังคงระบุว่าโรคโควิด-19 ถือเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

ไฟเซอร์เปิดเผยว่า ผลการทดลองพบว่า ยาแพกซ์โลวิดสามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 89% โดยสูงกว่ายาโมลนูพิราเวียร์ของบริษัทเมอร์ค ซึ่งมีประสิทธิภาพเพียง 50%

ทั้งนี้ ยา 1 คอร์สของเมอร์คประกอบด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 40 เม็ดสำหรับผู้ป่วย 1 คน โดยผู้ป่วยจะรับประทานยาวันละ 2 ครั้งๆละ 4 เม็ด เป็นเวลา 5 วัน

ส่วนผู้ที่จะรับประทานยาของไฟเซอร์จะต้องรับทั้งยาแพกซ์โลวิด พร้อมกับยาริโทนาเวียร์ ซึ่งเป็นยารักษาผู้ติดเชื้อ HIV โดยยา 1 คอร์สของไฟเซอร์ประกอบด้วยยาแพกซ์โลวิด 20 เม็ดและริโทนาเวียร์ 10 เม็ดสำหรับผู้ป่วย 1 คน

โดยผู้ป่วยจะรับประทานยาแพกซ์โลวิดขนาด 150 มิลลิกรัม 2 เม็ดต่อครั้ง คู่กับยาริโทนาเวียร์ 100 มิลลิกรัม 1 เม็ดต่อครั้ง วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน

ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาให้การอนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์และยาแพกซ์โลวิดเป็นกรณีฉุกเฉิน โดยคาดว่าจะให้การอนุมัติยาโมลนูพิราเวียร์ในช่วงต้นเดือนธ.ค. และให้การอนุมัติยาแพกซ์โลวิดหลังจากนั้น