ข้อมูลเศรษฐกิจเดือนต.ค.บ่งชี้จีนยังไปต่อได้

ข้อมูลเศรษฐกิจเดือนต.ค.บ่งชี้จีนยังไปต่อได้

นักลงทุนทั่วโลกจับตาข้อมูลเศรษฐกิจจีนเดือนต.ค. ทั้งยอดค้าปลีก อัตราว่างงาน และการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ราคาบ้านใหม่ใน 4 เมืองใหญ่ของจีนทรงตัวเพราะรัฐบาลออกมาตรการควบคุมตลาดอสังหาริมทรัพย์ไม่ให้ร้อนแรงเกินไป

 สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (เอ็นบีเอส) เปิดเผยวานนี้ (15พ.ย.)ว่า ยอดค้าปลีกเดือนต.ค.ของจีนปรับตัวขึ้น 4.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ระดับ 4.05 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 6.33 แสนล้านดอลลาร์) ซึ่งตัวเลขนี้ปรับขึ้น 9.4% จากเดือนต.ค.ปี 2562 ส่งผลให้อัตราการเติบโตเฉลี่ย 2 ปีอยู่ที่ 4.6%

ส่วนในช่วงเดือนม.ค.-ต.ค. ยอดค้าปลีกของจีนอยู่ที่ 35.85 ล้านล้านหยวน ซึ่งปรับขึ้น 14.9% เมื่อเทียบรายปี

เอ็นบีเอสระบุว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ยอดค้าปลีกทานงออนไลน์ของจีนปรับตัวขึ้น 17.4% เมื่อเทียบรายปี สู่ระดับ 10.38 ล้านล้านหยวน

“ฟู่ หลิงฮุย” โฆษกเอ็นบีเอส บอกว่า ยอดค้าปลีกเดือนต.ค.บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของการบริโภคในจีน อีกทั้งสะท้อนให้เห็นถึงการดีดตัวอย่างต่อเนื่องของยอดขายสินค้าผู้บริโภค รวมไปถึงแรงกระตุ้นภายในประเทศอันแข็งแกร่ง และการบริโภครูปแบบใหม่ที่สนับสนุนการเติบโต

นอกจากนี้ โฆษกเอ็นบีเอสยังแสดงความเชื่อมั่นว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การขยายตัวด้านการจ้างงาน, การปรับขึ้นของรายได้จากที่อยู่อาศัย และการพัฒนาในด้านโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคมนั้น จะเป็นปัจจัยหนุนการอุปโภคบริโภคให้ขยายตัวต่อไปอีก

เอ็นบีเอส ระบุด้วยว่า อัตราว่างงานในพื้นที่เขตเมืองของจีนอยู่ที่ 4.9% ในเดือนต.ค. ซึ่งปรับตัวลง 0.4% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยในช่วง 10 เดือนแรก จีนสามารถสร้างงานใหม่ได้ถึง 11.33 ล้านตำแหน่งในพื้นที่เขตเมืองของประเทศ ซึ่งถือว่ารัฐบาลจีนสามารถบรรลุเป้าหมายของยอดการสร้างงานใหม่ตลอดปีนี้ได้เร็วกว่ากำหนด
 

อัตราการว่างงานในกลุ่มประชากรอายุระหว่าง 25-29 ปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุดของตลาดแรงงานในประเทศ อยู่ที่ 4.2% ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นระดับเดียวกับเมื่อเดือนก.ย.ส่วนอัตราการว่างงานใน 31 เมืองใหญ่อยู่ที่ 5.1% ในเดือนต.ค. ปรับขึ้น 0.1% จากเดือนก.ย.

อัตราว่างงานในเขตเมือง คำนวณโดยอิงตามตัวเลขบุคคลว่างงานที่เข้าร่วมผลสำรวจการจ้างงานในพื้นที่เขตเมือง รวมถึง แรงงานย้ายถิ่นในเมืองต่าง ๆ

วันเดียวกันนี้ เอ็นบีเอส รายงานด้วยว่า การลงทุนด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้น 7.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ระดับ 12.49 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 1.95 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ)

เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของจีนเพิ่มขึ้น 14% ส่งผลให้อัตราการขยายตัวเฉลี่ยด้านการลงทุนระยะเวลา 2 ปีอยู่ที่ 6.8%

รายงานของเอ็นบีเอส ระบุว่า การลงทุนในอาคารที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 9.3% เมื่อเทียบรายปี แตะที่ 9.43 ล้านล้านหยวนในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้

ยอดขายที่อยู่อาศัยเพื่อการพาณิชย์ในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่มขึ้น 7.3% เมื่อเทียบรายปี โดยเมื่อพิจารณาในแง่ของขนาดพื้นที่นั้น ยอดขายอยู่ที่ 1.4 พันล้านตารางกิโลเมตร ส่วนในแง่ของมูลค่านั้น ยอดขายที่อยู่อาศัยเพื่อการพาณิชย์เพิ่มขึ้น 11.8%

ในปีนี้รัฐบาลจีนเน้นย้ำหลักการว่าที่อยู่อาศัยมีไว้สำหรับอยู่อาศัย ไม่ใช่สำหรับเก็งกำไร พร้อมให้คำมั่นว่าจะควบคุมราคาที่ดินและราคาที่อยู่อาศัยให้มีเสถียรภาพ

ตลาดที่อยู่อาศัยของจีนยังคงชะลอตัวลงในเดือนต.ค. หลังจากรัฐบาลใช้มาตรการที่เข้มงวดเพื่อสกัดการเก็งกำไรในตลาด

รายงานของเอ็นบีเอส ระบุว่า ราคาบ้านใหม่ใน 4 เมืองใหญ่อันดับหนึ่งของจีนทรงตัวในเดือนต.ค. ขณะที่ราคาบ้านใน 4 เมืองใหญ่อันดับสองลดลง 0.4% ในเดือนต.ค. และราคาบ้านใหม่ใน 31 เมืองใหญ่อันดับสองของจีนลดลง 0.2% ในเดือนต.ค. ส่วนราคาบ้านใหม่ใน 35 เมืองใหญ่อันดับสามปรับตัวลง 0.3%

ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนกังวลว่า ภาวะฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจระยะยาวของประเทศ ขณะนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ทางการจีนจะยังคงออกมาตรการควบคุมตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่อไป

รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการควบคุมภาวะร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งสกัดการก่อหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่ในภาคดังกล่าว โดยภาคอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นเสาหลักสำคัญในการขยายตัวของจีน โดยมีสัดส่วนผลผลิตทางเศรษฐกิจสูงเกือบ 30%