โหมโรง “ไทย” ประเทศเจ้าภาพจัดประชุม APEC 2022

โหมโรง “ไทย” ประเทศเจ้าภาพจัดประชุม APEC 2022

เวทีเอเปคที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกระดับใน 21 เขตเศรษฐกิจ หลังจากทั่วโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 

ในคืนวันนี้ (12 พ.ย.) เวลา 20.45 น.ตามเวลาประเทศไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้แทนไทยรับไม้ต่อจาก นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์น ของนิวซีแลนด์ ในการทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ประจำปี 2565 และหลังจากนี้จะเริ่มมีประชุมภายใต้กรอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องทั้งปี 

สิ่งหนึ่งไม่อาจปฏิเสธได้คือ สปอร์ตไลท์กำลังฉายจับมายัง “ประเทศไทย” ก่อนที่เราจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค อย่างเต็มรูปแบบ จะเห็นว่ามีการเยือนของผู้แทนระดับสูงจากประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสัปดาห์ก่อนไทยเข้ารับตำแหน่งนี้

 

นางลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 8 -10 พ.ย. 2564 เพื่อกระชับความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

การเยือนไทยครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจการเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งแรกของนางทรัสส์ ได้แก่ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ตามลำดับ ภายหลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่15 ก.ย. 2564 

ในช่วงการพบหารือระหว่างนางทรัสส์ กับดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายย้ำให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างกัน โดยเฉพาะระดับผู้นำและฝ่ายสหราชอาณาจักรได้เชิญฝ่ายไทยเข้าร่วมการหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-สหราชอาณาจักร ครั้งที่ 4 (Strategic Dialogue - SD4) ที่สหราชอาณาจักรในครึ่งปีแรกของปี 2565 

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ได้แก่ 

1.ด้านการค้าการลงทุน โดยให้ใช้กลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (JETCO) ครั้งที่ 1 ระดับรัฐมนตรีพาณิชย์ ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดในเดือนก.พ.2565  และปูทางไปสู่การหารือการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้เชิญชวนฝ่ายสหราชอาณาจักรขยายการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 

2.ด้านความมั่นคง มุ่งสู่การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศในโอกาสแรกและกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์

3.การอำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างกัน โดยฝ่ายสหราชอาณาจักรได้ปรับมาตรการเดินทางเข้าสหราชอาณาจักรและยอมรับผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ซิโนแวค และซิโนฟาร์มครบโดส สามารถเดินทางเข้าสหราชอาณาจักรได้โดยไม่ต้องกักตัวตั้งแต่ 22 พ.ย.2564

4.สหราชอาณาจักรสอบถามถึงโอกาสที่ไทยจะเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง ที่ครอบคลุม และก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ภายในปลายปี 2564

5. การแลกเปลี่ยนความเห็นต่อประเด็นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และอินโด-แปซิฟิกรวมถึงสถานการณ์ในเมียนมาร์ อาเซียน และหุ้นส่วนไตรภาคีด้านความมั่นคงระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐ (AUKUS)

ก่อนหน้าไม่กี่วัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐของพรรคเดโมแครต รัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐเวอร์จิเนีย และประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านเอเชีย-แปซิฟิก เอเชียกลาง และการไม่แพร่ขยายอาวุธ คณะกรรมาธิการต่างประเทศของสหรัฐได้เข้าเยี่ยมคารวะนายดอน ย้ำความสำคัญของการเป็นพันธมิตรที่ยาวนาน และมุ่งมั่นส่งเสริมความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาค

นี่เป็นเพียงโหมโรงเท่านั้น เพราะในปีหน้าประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญของเอเชีย และเป็นสถานที่ปักหมุดหมายของผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจมาพบปะกันแบบเห็นหน้าค่าตาในเวทีเอเปค ปี 2565

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์