ไฟเซอร์คาดสหรัฐปิดเกมโควิด-19 ต้นปีหน้า

ไฟเซอร์คาดสหรัฐปิดเกมโควิด-19 ต้นปีหน้า

นายแพทย์สก็อตต์ ก็อตลิบ ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ และอดีตประธานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐจะสิ้นสุดลงในเดือนม.ค.ปี 2565

ขณะนี้ สหรัฐติดอันดับ 1 ของโลกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้เสียชีวิต โดยมีผู้ติดเชื้อกว่า 47 ล้านราย และเสียชีวิตมากกว่า 770,000 ราย

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ออกคำสั่งก่อนหน้านี้ ระบุว่า เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.ปี 2565 บริษัทเอกชนที่มีพนักงานอย่างน้อย 100 คนจะต้องให้พนักงานเข้ารับการ ฉีดวัคซีนไฟเซอร์หรือ โมเดอร์นา จำนวน 2 เข็ม หรือวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จำนวน 1 เข็ม หากพนักงานคนใดไม่ปฏิบัติตาม ก็จะต้องถูกตรวจหาเชื้อโควิด-19 อย่างเป็นประจำ

"คำสั่งนี้ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 ม.ค.จะทำให้การแพร่ระบาดยุติลง อย่างน้อยก็ในสหรัฐ และโควิด-19 จะกลายเป็นเพียงโรคประจำถิ่น" นายแพทย์ก็อตลิบ กล่าว

อ่านข่าว : สหรัฐสั่งซื้อยาแพ็กซ์โลวิดหลายล้านโดส

คำกล่าวของประธานคณะกรรมการของไฟเซอร์มีขึ้นในวันนี้ พร้อมกับการเปิดเผยผลการทดลองซึ่งบ่งชี้ว่ายาของไฟเซอร์มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19

ไฟเซอร์แถลงในวันนี้ว่า ผลการทดลองในระยะที่ 3 สำหรับยาเม็ดชนิดรับประทานเพื่อรักษาโรคโควิด-19 พบว่า ยาดังกล่าวสามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 89% โดยสูงกว่ายาโมลนูพิราเวียร์ของบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค ซึ่งมีประสิทธิภาพเพียง 50%

ไฟเซอร์เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทได้ยุติการทดลองแล้ว ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิม หลังพบว่ายาดังกล่าวมีประสิทธิภาพสูงในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และบริษัทจะส่งผลการทดลองดังกล่าวให้แก่สำนักงาน เอฟดีเอ หลังจากที่ไฟเซอร์ได้ยื่นเรื่องขออนุมัติการใช้ยาดังกล่าวเป็นกรณีฉุกเฉินต่อเอฟดีเอเมื่อเดือนต.ค.

ทั้งนี้ ไฟเซอร์ตั้งชื่อยารักษาโรคโควิด-19 ของทางบริษัทว่า Paxlovid โดยผู้ป่วยจะรับประทานยาวันละ 2 ครั้งๆละ 3 เม็ด

ไฟเซอร์ เปิดเผยว่า อาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองดังกล่าวมีจำนวน 1,219 คน โดยเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงถึงปานกลาง และมีความเสี่ยงในการเกิดอาการรุนแรงจากโรคโควิด-19 ซึ่งได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และการมีอายุมากกว่า 60 ปี

ผลการทดลองพบว่า หากผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับยาของไฟเซอร์ภายในเวลา 3 วันหลังมีอาการ จะมีจำนวนเพียง 0.8% ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และไม่มีผู้เสียชีวิตภายใน 28 วันหลังจากที่ได้รับยา ขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกจำนวน 7% ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 7 คน

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับยาของไฟเซอร์ภายในเวลา 5 วันหลังมีอาการ จะมีจำนวน 1% ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และไม่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกจำนวน 6.7% ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 10 คน