เจ.พี.มอร์แกนชี้เงินดิจิทัลซีบีดีซีช่วยประหยัดปีละแสนล้านดอลล์
เจ.พี.มอร์แกน และโอลิเวอร์ วายแมน เผยแพร่รายงานการสำรวจล่าสุดที่บ่งชี้ว่าเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางประเทศต่างๆ(ซีบีดีซี)ช่วยบริษัทต่างๆลดต้นทุนในการทำธุรกรรมได้ถึงปีละ 100,000 ล้านดอลลาร์
รายงานชิ้นนี้เน้นย้ำถึงผลกระทบในเชิงบวกอย่างมากของซีบีดีซีในช่วงที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆทั่วโลก กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการทำธุรกรรมผ่านสกุลเงินดิจิทัล
ปัจจุบัน ธนาคารต่างๆพึ่งพาธนาคารตัวแทนต่างประเทศและคนกลางอื่นๆในการโอนเงินระหว่างประเทศซึ่งจะต้องมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจำนวนมากและบ่อยครั้งที่การทำธุรกรรมรูปแบบนี้ใช้เวลานานขณะที่ธนาคารทั่วโลกมีการชำระเงินตลอดเวลาต่างกันแค่เขตเวลาของแต่ละประเทศ
หนึ่งในผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากเครือข่ายซีบีดีซีข้ามพรมแดนจึงเป็นชาติสมาชิกในอาเซียนทั้ง10ประเทศซึ่งจะช่วยให้บริษัทต่างๆที่ดำเนินธุรกิจในอาเซียนแบกรับต้นทุนการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนที่ถูกลง
รายงานชิ้นนี้ ระบุว่า อาเซียนมีสัดส่วน 7% ของการค้าโลกและเป็นที่ตั้งของบริษัทข้ามชาติหลายพันแห่งทั้งยุโรป เอเชีย และอเมริกาเหนือ การโอนเงิน 100,000 บาท(2,950 ดอลลาร์)จากบริษัทหนึ่งในประเทศไทยไปยังบริษัทหนึ่งในอินโดนีเซียสามารถดำเนินการผ่านธนาคาร 6แห่งและต้องเสียค่าธรรมเนียมเป็นเงิน 40 ดอลลาร์ ไม่นับต้นทุนด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงิน แต่หากการโอนเงินก้อนนี้ดำเนินการผ่านเครือข่ายซีบีดีซี จะช่วยลูกค้าประหยัดเงินได้มากถึง 35 ดอลลาร์
คณะผู้จัดทำรายงานชิ้นนี้ประเมินว่า บริษัทต่างๆเสียต้นทุน 120,000 ล้านดอลลาร์ในการโอนเงินข้ามพรมแดนจำนวน 23.5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี เพราะฉะนั้นการใช้เครือข่ายการชำระเงินซีบีดีซีจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยลดต้นทุนได้อย่างมากและแทบไม่มีความเสี่ยงเพราะซีบีดีซีออกโดยธนาคารกลางของประเทศต่างๆ
จีน กำลังทดสอบหยวนดิจิทัลและหวังว่าจะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการก่อนเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในเดือนก.พ.ปีหน้า ส่วนธนาคารกลางของญี่ปุ่น (บีโอเจ)ก็เริ่มทดลองใช้ซีบีดีซีในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค.ที่ผ่านมาเพื่อประเมินความพร้อมทางด้านเทคนิค
ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใดแม้หลายประเทศสถานการณ์การแพร่ระบาดจะบรรเทาลง ทำให้รูปแบบดิจิทัลได้รับความนิยมมากขึ้น
รวมทั้งการที่ธนาคารกลางทั่วโลกหาทางเปิดตัวสกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น เริ่มตั้งแต่เดือนต.ค.ปีที่แล้ว ที่กัมพูชา กลายเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียชาติแรกที่เปิดตัวระบบดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ส่วนประเทศอื่นๆอย่างเช่นไทย สิงคโปร์ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต่างก็เร่งวิจัยและทดสอบระบบเงินดิจิทัล
ธนาคารกลางของกัมพูชา (เอ็นบีซี)เปิดตัวโครงการสกุลเงินดิจิทัลชื่อบากอง ซึ่งมีความแตกต่างจากสกุลเงินซีบีดีซีทั่วไปตรงที่ไม่ได้ออกโดยเอ็นบีซี แต่ออกโดยสถาบันการเงินพันธมิตรหลายแห่งในกัมพูชา ภายใต้การกำกับดูแลของเอ็นบีซี และโครงการนี้อนุญาตให้ชาวกัมพูชาที่มีสมาร์ทโฟนสามารถทำธุรกรรมโดยใช้สกุลเงินเรียลกัมพูชา (เคเอชอาร์) หรือดอลลาร์สหรัฐได้
บากอง ทำงานโดยใช้แอพพลิเคชันสมาร์ทโฟน ที่จะทำหน้าที่เป็นกระเป๋าเงินดิจิทัลช่วยให้ผู้ใช้สามารถโอนเงินและชำระเงินโดยใช้คิวอาร์โ้ค้ดของหมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มการร่วมมือทางการเงินในประเทศ
“นาวีน มัลเลลา”หัวหน้าแผนก Global Head of Coin Systems จากโอนิกซ์ หน่วยงานในเครือเจ.พี. มอร์แกน ให้สัมภาษณ์นิกเคอิ เอเชียว่า "ภูมิภาคเอเชียอาจเป็นภูมิภาคแรกที่ทำให้เครือข่ายการโอนเงินในรูปแบบซีบีดีซีเป็นจริงได้ เนื่องจากเอเชียมีสกุลเงินท้องถิ่นที่แตกต่างกันและมีระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนที่ไม่เหมือนกัน
นอกจากนี้ มัลเลลา ยังมีความเห็นเพิ่มเติมว่า การทำธุรกรรมข้ามพรมแดนสำหรับอาเซียนที่ส่วนใหญ่พึ่งพาเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเพราะขาดสภาพคล่องระหว่างเงินสกุลท้องถิ่นด้วยกันเองอาจจะมีมูลค่ามหาศาล
แต่ผู้บริหารจากโอนิกซ์ ก็เห็นว่า ความร่วมมือกันระหว่างธนาคารกลางในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาล อาทิ การบริหารจัดการให้เข้าถึงเครือข่าย และการแก้ปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับการทำธุรกรรม รวมทั้งกรอบงานด้านกฏระเบียบ เป็นอุปสรรคสำคัญในการผลักดันให้เครือข่ายนี้เป็นรูปเป็นร่างและทำงานได้อย่างแท้จริง