ค่ายรถญี่ปุ่นอยู่ยากในยุคทั่วโลกเร่งลดก๊าซเรือนกระจก

ค่ายรถญี่ปุ่นอยู่ยากในยุคทั่วโลกเร่งลดก๊าซเรือนกระจก

ค่ายรถญี่ปุ่นอยู่ยากในยุคทั่วโลกเร่งลดก๊าซเรือนกระจก ขณะผู้บริหารโตโยต้าระบุว่าภายใต้แผนปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เหลือศูนย์เปอร์เซ็นต์นั้น ศัตรูของบริษัทคือก๊าซคาร์บอน ไม่ใช่รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน

ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่นประกาศนโยบายด้านพลังงานด้วยการสนับสนุนให้ญี่ปุ่นผลิตพลังงานโดยใช้พลังงานจากนิวเคลียร์ มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero carbon emissions) ภายในปี 2593 ซึ่งปรากฏว่าแผนการอันทะเยอทะยานนี้ของนายกฯ ญี่ปุ่น ถูกเบรกอย่างแรงจากบรรดาค่ายรถที่ถือเป็นกลุ่มทรงอิทธิพลที่สุดของประเทศ

เริ่มจาก “อากิโอะ โตโยดะ” ประธานโตโยต้า มอเตอร์ ค่ายรถยนต์ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และของโลก และยังเป็นหัวหน้าล็อบบี้ยิสต์ในอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่น ที่ตั้งคำถามว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์จะบรรลุตามเป้าได้อย่างไร แม้ว่าโตโยดะจะยอมรับว่ามีความจำเป็นที่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ก็ตาม 

ดูเหมือนว่า โตโยดะออกคำเตือนทางการเมืองที่แข็งกร้าวที่สวนทางกับเป้าหมายของการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญา” (COP26)ที่เร่งให้อุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกหันไปผลิตรถไฟฟ้า(อีวี) โดยโตโยดะ มีความเห็นเมื่อครั้งร่วมประชุมกลุ่มล็อบบี้ยิสต์ในอุตสาหกรรมรถยนต์เมื่อเดือนก.ย.ว่า “ญี่ปุ่นไม่ควรจำกัดอยู่เฉพาะรถอีวีอย่างเดียวแต่ควรมองหารถยนต์ทางเลือกอื่นๆ ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมแบบญี่ปุ่น”

คำพูดดังกล่าวของโตโยดะ ถือเป็นการปฏิเสธเป้าหมายของทางการที่ต้องการเร่งเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าโดยเร็วที่สุดและยุติการจำหน่ายรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันอย่างเดียวภายในปี 2578

“แผนปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เหลือศูนย์เปอร์เซ็นต์ ศัตรูของเราคือ ก๊าซคาร์บอนไม่ใช่เครื่องยนต์สันดาปภายใน”โตโยดะ กล่าว

โตโยดะอาจจะเป็นผู้นำธุรกิจของญี่ปุ่นที่พูดจาตรงไปตรงมาแบบที่ไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนักแต่คำพูดของเขาก็สะท้อนจุดยืนของบรรดาค่ายรถญี่ปุ่นเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างดี เพราะจนถึงตอนนี้ มีฮอนด้า มอเตอร์ เพียงค่ายเดียวที่ประกาศค่อยๆ เลิกผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากน้ำมัน ที่รวมถึงรถไฮบริดรุ่นต่างๆ ทั้งยังสัญญาว่าจะขายแต่รถอีวี และรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานเซลล์เชื้อเพลิง(เอฟซีวี)เท่านั้น ภายในปี 2583

การที่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นยังลังเลใจที่จะเลิกผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ไม่ใช่เป็นเพราะไม่มั่นใจในนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น แต่เนื่องจากญี่ปุ่นยังต้องพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลเป็นหลักจึงทำให้รถไฟฟ้าที่ผลิตออกมาบางส่วนยังต้องพึ่งพาพลังงานจากถ่านหิน

ยิ่งกว่านั้น รถอีวีโดยทั่วไปแล้วมีราคาแพงกว่ารถประเภทอื่นทั้งยังมีข้อจำกัดด้านการวิ่งต่อการชาร์จมากกว่ารถไฮบริดอย่างรถยนต์พริอุสของโตโยต้า และรถอีวียังเป็นรถที่ใช้พลังงานเข้มข้นกว่ารถยนต์ทั่วไปเพราะใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ซึ่งจำเป็นต้องสกัดและกลั่นโลหะประเภทต่างๆ เช่น ทองแดง และนิกเกิล

เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา "โยชิฮิเดะ ซูกะ" อดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ประกาศลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนครั้งใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 46% ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับปี 2556 โดยตั้งเป้าลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนในกระบวนการผลิตไฟฟ้าแบบผสม แม้ว่าญี่ปุ่นยังคงสนับสนุนการใช้ถ่านหินอยู่ เนื่องจากเริ่มสร้างเตาปฏิกรณ์ได้ค่อนข้างช้า หลังประสบเหตุภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิจนต้องปิดตัวลง 

การที่ญี่ปุ่นประกาศลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่ม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะถูกกดดันจากรัฐบาลสหรัฐที่ต้องการให้ญี่ปุ่นตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากขึ้น

ภายในปี 2573 พลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ในญี่ปุ่นจะมีสัดส่วนประมาณ 36-38% ของพลังงานผสมภายใต้แผนของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ผ่านการอนุมัติในเดือนต.ค. ซึ่งเท่ากับสองเท่าของระดับปี 2562 แต่การใช้ถ่านหินยังคงมีสัดส่วน 19% ขณะที่ประเทศต่างๆ อย่าง สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศสให้คำมั่นว่าจะเลิกใช้พลังงานจากถ่านหินอย่างสิ้นเชิง

บรรดาผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งว่าจ้างพนักงาน 5.5 ล้านคน กำลังจับตามองว่ารัฐบาลและนักอุตสาหกรรมจะสามารถพัฒนารูปแบบการเติบโตของพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริงหรือไม่             

“ถ้าไม่มีพลังงาน รถยนต์ก็เป็นแค่เพียงเศษเหล็ก เป็นเรื่องสำคัญสำหรับรัฐบาลที่จะต้องดำเนินยุทธศาสตร์พลังงานสีเขียวที่สามารถกำจัดก๊าซคาร์บอนออกจากเชื้อเพลิงได้ แทนที่จะเรียกร้องให้ค่ายรถผลิตรถยนต์อีวี”โตชิโอะ ฟูจิมูระ ศาสตราจารย์รับเชิญจากสถาบันเทคโนโลยีเออิชิ ซึ่งพัฒนาเครื่องยนต์ให้แก่โตโยต้ามานานกว่า 30 ปี กล่าว

ศาสตราจารย์ท่านนี้ ยังคาดการณ์ว่า รถอีวีในเยอรมนีและสหรัฐจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ 10% และ 2% ตามลำดับเมื่อเทียบกับรถไฮบริดที่ใช้น้ำมันแบบทั่วไปและใช้เครื่องยนต์ไฟฟ้า แต่คาดการณ์ว่าญี่ปุ่นจะปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่ม 10% ส่วนจีน 33% เพราะมีการใช้พลังงานจากฟอสซิลในปริมาณสูงในส่วนของการใช้พลังงานผสม

เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา โตโยดะได้เข้าพบนายซูกะ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงนั้นเพื่อหารือเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์เปอร์เซ็นต์ และต่อมาในเดือนก.ค.สื่อชั้นนำของสหรัฐอย่างนิวยอร์ก ไทมส์ รายงานว่า ผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งของโตโยต้าได้เดินทางเยือนวอชิงตันเมื่อเดือนที่แล้ว เพื่อชี้แจงให้รัฐบาลสหรัฐรับทราบเกี่ยวกับจุดยืนของโตโยต้า ที่คัดค้านแผนเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าทั้งหมด

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐ ประกาศเมื่อเดือนส.ค.ว่าต้องการให้รถยนต์ที่จำหน่ายในสหรัฐประมาณครึ่งหนึ่งเป็นรถที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนศูนย์เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2573  ส่วนอินเดีย ประกาศให้ค่ายรถผลิตรถอีวี 30% ของรถใหม่ที่วางจำหน่ายภายในปี 2573 เช่นกัน

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์