“เฟซบุ๊ค” รีแบรนด์อาจสูญพนักงานนับพันคน

“เฟซบุ๊ค” รีแบรนด์อาจสูญพนักงานนับพันคน

นักวิเคราะห์มอง เฟซบุ๊คเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta สะท้อนความพยายามสร้างโลกเสมือนจริง ที่เรียกว่า “เมทาเวิร์ส” แต่อาจไม่ช่วยรักษาคนเก่งหรือดึงดูดคนใหม่เข้ามาทำงาน

ตามที่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เฟซบุ๊ค ยืนยันการเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น เมทา (Meta) เมื่อวันพฤหัสบดี (29 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น บรุคส์ ฮอลทอม อาจารย์ด้านธุรกิจมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ของสหรัฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และทุนทางสังคม เผยกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซี ตั้งข้อสังเกตว่า การทำเช่นนี้ดูเหมือนเป็นการปกป้องแบรนด์ “เพราะเฟซบุ๊คก้าวพลาดหลายเรื่อง สังคมวิจารณ์แบรนด์หนักมาก คนที่รู้เรื่องจะไม่หลงกลการรีแบรนด์นี้”

ทั้งนี้ ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซัคเคอร์เบิร์กและเฟซบุ๊คถูกตรวจสอบหนักเรื่องการจัดการข้อมูลบิดเบือนและข้อความสร้างความเกลียดชัง (เฮตสปีช) ทั้งยังอาจเป็นอันตรายต่อเด็กและวัยรุ่น

การถูกตรวจสอบล่าสุดเกิดขึ้นหลังจากฟรานเซส เฮาแกน อดีตพนักงานเฟซบุ๊ค นำเอกสารภายในมาแฉกับสื่อว่า เฟซบุ๊ครู้ดีเรื่องที่สินค้าและบริการของตนอาจเป็นอันตรายได้ แต่ยังมีปัญหาในการแก้ไข

ตอนประชุมแถลงรายได้บริษัทเมื่อวันจันทร์ (25 ต.ค.) ซัคเคอร์เบิร์กปฏิเสธข้ออ้างเรื่องเอกสาร กล่าวว่า “พวกเขาสร้างภาพป้ายสีบริษัทของเรา” และปัญหาที่เฟซบุ๊คเจอก็สะท้อนภาพสังคม

แต่ข่าวล่าสุดเรื่องการรีแบรนด์ซึ่งถูกวิจารณ์ไปแล้วว่าแค่เบี่ยงกระแสข้อกล่าวหาต่อเฟซบุ๊ค ถ้าไม่เป็นตัวกระตุ้นให้พนักงานลาออกก็เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน

“เฟซบุ๊คมีแต่คนเก่งๆ และคู่แข่งในตลาดก็กำลังจับจ้องคนเก่งเหล่านั้น การแข่งขันสูงมาก คุณมั่นใจได้เลยว่าบริษัททั้งหลายกำลังเตรียมตัวจีบคนที่คิดจะลาออก นี่เป็นช่วงเวลาไม่ปลอดภัยสำหรับเฟซบุ๊คถ้ามองในมุมคนเก่ง”

มาตรวัดหนึ่งของการเป็นแบรนด์ผู้ประกอบการตามการจัดอันดับของเว็บไซต์ Glassdoor สถานะการเป็นบริษัทที่คนอยากทำงานด้วยมากที่สุดของเฟซบุ๊คลดลงมาหลายปีแล้ว จากที่เคยครองอันดับ 1 ในปี 2561 ตกมาอยู่อันดับ 7 ในปี 2562 หลังมีข่าวบริษัทที่ปรึกษาด้านการเมือง “เคมบริดจ์ อนาลิติกา” เข้าถึงข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊ค 87 ล้านคนอย่างไม่เหมาะสม ปีก่อนเฟซบุ๊คครองอันดับ 23 บริษัทที่ผู้คนอยากทำงานด้วย ก่อนจะไต่มาอยู่อันดับ 11 ในปีนี้

ไม่กี่เดือนก่อน เฟซบุ๊คเป็นบริษัททรงอิทธิพลรายแรกๆ ที่ประกาศว่า พนักงานทุกคนสามารถขอทำงานเต็มเวลาจากทางไกลได้หลังโควิด พร้อมเลื่อนแผนกลับเข้าออฟฟิศไปจนถึงปี 2565

ฮอลทอมกล่าวว่า การรีแบรนด์อาจช่วยส่งเสริมการเก็บรักษาและว่าจ้างพนักงานเชี่ยวชาญพิเศษสูงที่เกี่ยวข้องกับงานเมทาเวิร์สไว้ได้ “เพราะเป็นโอกาสในการทำงานที่เป็นการปฏิวัติจริงๆ ด้วยงบประมาณมหาศาล” แต่ไม่น่าจะสร้างผลกระทบด้านบวกต่อสาธารณชนหรือกับพนักงานที่ไม่เกี่ยวกับงานเมทาเวิร์สได้ “ผมคิดว่าเฟซบุ๊คกำลังอยู่ในความเสี่ยงครั้งใหญ่”