หนังเล่าโลก Squid Game “ใครที่ถูกมองข้าม”

หนังเล่าโลก Squid Game “ใครที่ถูกมองข้าม”

การชมซีรีส์ดัง Squid Game ของเน็ตฟลิกซ์แบบถูกสปอยล์ไปก่อน แล้วมาย้อนดูจนครบทุกตอนตามหลัง ช่วยให้เห็นเรื่องราวของซีรีส์บางแง่มุม ถึงคนที่่ถูกมองข้าม

อย่างที่เคยบอกไปแล้วว่า ผู้เขียนไม่ใช่คอหนังเกาหลี ยิ่งซีรีส์ยิ่งไม่ดูเพราะต้องใช้เวลาติดตามหลายตอน ซีรีส์เกาหลีเรื่องเดียวที่ดูคือ Crash Landing on You จากนั้นก็ไม่เคยดูเรื่องอื่นอีก แต่ด้วยความโด่งดังของ Squid Game ชนิดที่ฉายไปแค่ 17 วันมีผู้ชมแล้วมากกว่า 111 ล้านบัญชีถือเป็นผลงานที่มีคนดูมากที่สุดของเน็ตฟลิกซ์ ถ้าไม่ดูก็คงจะอ่านและแปลข่าวไม่รู้เรื่อง ยิ่งช่วงหลังสื่อต่างประเทศนำเสนอข่าวซีรีส์เรื่องนี้มาก

Squid Game เป็นมินิซีรีส์ 9 ตอนผลงานของผู้กำกับฮวังดงฮยอก ซึ่งกว่าหนังเล่าโลกฉบับนี้อยู่ในมือผู้อ่านก็คงไม่ต้องพูดกันมากแล้วถึงเนื้อเรื่องการนำผู้ใหญ่สิ้นหวังในชีวิตไปแข่งเกมแบบเด็กๆ ผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียวคว้าเงินรางวัลมหาศาลไปทั้งหมด ใครแพ้พ่ายก็ตายไป ส่วนประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมเกาหลีใต้ก็ถูกพูดถึงไปมากเช่นกัน ผู้เขียนดูซีรีส์เรื่องนี้ด้วยวิธีที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ กล่าวคือดูไปได้แค่ 2 ตอนรู้สึกเบื่อตัดสินใจไม่ดูต่อจึงโทรหาเพื่อนร่วมงานให้เล่าเนื้อเรื่องทั้งหมดให้ฟังเพราะอยากรู้เรื่องแต่ไม่อยากดู เพื่อนไม่ยอมเล่าผู้เขียนก็พยายามบังคับให้เล่าจนกระทั่งรู้เรื่องทั้งหมดซึี่งสนุกมาก เจ็บใจตัวเองที่แอบสปอยล์เสียก่อนจนหมดสนุก ทำไงดีล่ะทีนี้! ดูตอนกลางเรื่องและตอนจบก็แล้วกัน

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อสุดสัปดาห์ก่อน แต่แม้รู้เรื่องแล้วก็ยังคาใจอยู่ดี สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเลยดูตอนที่เหลือจนครบทั้ง 9 ตอนให้ภารกิจเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์ ซึ่งเมื่อดู Squid Game โดยละเอียดก็บังเอิญสังเกตเห็นอะไรบางอย่างที่คนดูคนอื่นอาจจะเห็นตรงกันแต่ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึง (รับรองว่าไม่สปอยล์) นั่นคือคนบางกลุ่มที่ถูกมองว่าไร้ค่า เป็นภาระ ทำอะไรไม่ได้ เป็นจุดอ่อนของสังคมที่ไม่มีใครอยากได้ หนึ่งในนั้นคือ “ผู้สูงอายุ”  ทั้งๆ ที่สังคมนี้ก็คือผลงานที่ผู้สูงอายุเคยสร้างมาก่อนจะถึงมือคนหนุ่มสาวในทุกวันนี้

สำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้เผยแพร่ข้อมูลเมื่อตอนต้นเดือน รับวันผู้สูงอายุสากล 1 ต.ค. ระบุว่า ปี 2564 ชาวเกาหลีใต้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมีจำนวนรวม 8,537,000 คน คิดเป็น 16.5% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งตามนิยามของสหประชาชาตินั้น “สังคมผู้สูงอายุ” หมายถึง สังคมที่ประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมีเกิน 7% ของประชากรทั้งหมด และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์เมื่อประชากรกลุ่มดังกล่าวคิดเป็น 14% ของประชากรหรือสูงกว่า และถ้าถึง 20% ถือเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่

เกาหลีใต้เป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์เมื่อปี 2560 สำนักงานสถิติแห่งชาติประเมินว่า เกาหลีใต้จะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ภายในปี 2568 ประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมีจำนวน 10,511,000 คน หรือ 20.3% ของประชากร

แน่นอนว่าผู้สูงอายุเกาหลีใต้ยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ แต่ความยากลำบากทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นเพียงเล็กน้อยกล่าวคือ อัตราความยากจนสัมพัทธ์ซึ่งหมายถึงสัดส่วนการหารายได้ไม่ถึง 50% ของรายได้เฉลี่ย ตัวเลขเมื่อปี 2562 ของชาวเกาหลีใต้วัยเกษียณ (อายุไม่น้อยกว่า 66 ปี) อยู่ที่ 43.2% แม้ตัวเลขจะดีขึ้นตั้งแต่ปี 2559 แต่ก็ปรับตัวในอัตราที่ช้ามาก ตอนนี้อัตราความยากจนในคนชราของเกาหลีใต้สูงสุดในกลุ่มประเทศองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี)

ผู้หญิงเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกมองว่าเป็นคนไร้ค่า (ในซีรีส์) หากตรวจสอบหน้าสื่อจะพบว่า ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงกับชายในเกาหลีใต้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกนำเสนอบ่อยครั้ง กระทรวงความเสมอภาคทางเพศและครอบครัว สำรวจบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ 2,149 แห่งเมื่อต้นเดือน ก.ย. พบว่า พนักงานชายในบริษัทจดทะเบียนมีรายได้สูงกว่าเพื่อนร่วมงานหญิง 1.6 เท่า ปี 2563 ผู้ชายมีรายได้เฉลี่ย 79.8 ล้านวอน (68,800 ดอลลาร์) ผู้หญิงมีรายได้ 51.1 ล้านวอน ความแตกต่างด้านรายได้ระหว่างเพศสูงถึง 35.9% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มโออีซีดีที่ 12.8% มากนัก

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประชากรสองกลุ่มคือผู้สูงวัยและผู้หญิงเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ผลักให้คนที่เปราะบางอยู่ก่อนต้องอ่อนแอลงไปอีก ทั้งหมดนี้ปรากฏชัดอยู่แล้วใน Squid Game ที่แม้แต่เกาหลีเหนือก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์ผ่านเว็บไซต์โฆษณาชวนเชื่อว่า Squid Game ได้เน้นย้ำถึงธรรมชาติความเป็นสังคมทุนนิยมของเกาหลีใต้ที่ต้องแข่งขันกันดุเดือดใครอ่อนแอต้องถูกกำจัด 

แต่ไม่ว่าใครจะวิจารณ์อย่างไรชื่อ “เกาหลีใต้” ก็ติดปากผู้ชมไปแล้วทั่วโลก ทำรายได้ให้เน็ตฟลิกซ์อย่างมหาศาลต่อยอดไปถึงธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น เสื้อผ้า รองเท้า ความสำเร็จของเกาหลีใต้และ Squid Game ไม่ใช่เรื่องที่จะดูแค่เพียงปลายทาง แต่ต้องยอมรับว่ารัฐบาลและสังคมเกาหลีใต้เปิดกว้างในการสร้างสรรค์เนื้อหา หยิบจุดอ่อนของสังคมมานำเสนอสู่สายตาผู้ชมทั่วโลกไม่ใช่การอวดแต่สิ่งสวยงาม ซึ่งการพูดถึงปัญหาย่อมนำไปสู่การแก้ปัญหา ดังกรณีผูู้สูงวัยและผู้หญิงที่ทางการเกาหลีใต้พยายามแก้ไขตลอดมา