“เกาหลีใต้” ปล่อยจรวดสู่อวกาศ สะท้อนยุทธศาสตร์ “Space Economy” 

“เกาหลีใต้” ปล่อยจรวดสู่อวกาศ สะท้อนยุทธศาสตร์ “Space Economy” 

"เกาหลีใต้" ปล่อยจรวดสู่อวกาศเป็นชาติที่ 7 ของโลก ตอกย้ำความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และสะท้อนความพร้อมสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย "Space Economy"

เวลาแห่งประวัติศาสตร์ “เกาหลีใต้” ปล่อยจรวด “Nuri” ขึ้นสู่อวกาศเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 64 ซึ่งนับเป็นชาติที่ 7 ของโลกที่สามารถทำได้ด้วยสรรพกำลังของชาติตัวเองทั้งหมด จากการร่วมมือระหว่างหน่วยงานในประเทศ และใช้เวลากว่าทศวรรษสำหรับการพัฒนา โดยคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์

เหตุการณ์ครั้งนี้  นับเป็นก้าวสำคัญ และเป็นการแสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยีอวกาศระดับโลก รวมถึงตอกย้ำสถานะของเกาหลีใต้ในฐานะประเทศแถวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของโลกอีกด้วย เพราะจรวดอวกาศ “Nuri” เป็นจากการพัฒนาที่เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและบริษัทเอกชนในประเทศกว่า 300 แห่ง โดยถือเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นของเกาหลีใต้เอง ส่งผลให้เกาหลีใต้นับเป็นชาติที่ 7 ในการสามารถส่งจรวดอวกาศด้วยเทคโนโลยีของตนเองได้สำเร็จ 

ไม่เพียงประโยชน์ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม แต่ทางเศรษฐกิจก็ยังจะได้ประโยชน์เช่นเดียวกัน โดยผู้เชี่ยวชาญในเกาหลีใต้ คาดการณ์ว่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเกิดจากการสร้างมูลค่าของเทคโนโลยีขั้นสูง ที่อาจถูกปรับใช้กับกระบวนการผลิตของหลายอุตสาหกรรมในประเทศ รวมถึงการส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย 

อย่างไรก็ตาม ก้าวสำคัญนี้เป็นเพียงก้าวแรก เพราะเกาหลีใต้ยังคงมุ่งหน้าสร้างพัฒนาการในอุตสาหกรรมอวกาศของตนให้ดีขึ้น เพื่อสร้างระบบนิเวศที่มีความพร้อมสำหรับเศรษฐกิจรูปแบบหนึ่งของโลกอนาคต นั่นคือ “Space Economy” 

  •   ก้าวที่สำคัญและมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น  

การที่เกาหลีใต้สามารถนำจรวดอวกาศที่ใช้เทคโนโลยีของตนทะยานขึ้นสู่อวกาศได้ นอกจากจะเป็นก้าวที่สำคัญทางวิทยาการด้านอวกาศแล้ว ยังคงบ่งบอกความพร้อมของภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องด้วย 

อย่างที่ทราบกันดีว่า เทคโนโลยีอวกาศเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง การจะพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวจึงต้องอาศัยความพร้อมทั้งทุนและบุคคลากร รวมถึงองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดังนั้น การปล่อยจรวดอวกาศเพียงเทคโนโลยีจากในประเทศจึงเป็นยากพอสมควร หากแต่เกาหลีใต้ก็เป็นชาติที่ 7 ของโลกที่สามารถทำได้ 

จรวดอวกาศ “Nuri” หรือ Korea Space Launch Vehicle-II (KSLV-II) ที่ถูกปล่อยราว 17.00 น. ในวันที่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 15.00 น.  ตามเวลาประเทศไทย โดยจรวดลำดังกล่าวเกิดจากการพัฒนาร่วมกันระหว่าง Korea Aerospace Research Institute (KARI) หน่วยงานของรัฐบาลเกาหลีใต้ และบริษัทเอกชนในประเทศกว่า 300 บริษัท อาทิ Hanwha Aerospace ผู้นำในการพัฒนาส่วนเครื่องยนต์ Hyundai Heavy Industries Group ผู้ออกแบบแท่นปล่อยตัว Korea Aerospace Industries Ltd. ผู้พัฒนาถังบรรจุเชื้อเพลิงขับเคลื่อน เป็นต้น 

เทคโนโลยีที่สำคัญหลายอย่างถูกพัฒนาขึ้นโดยเฉพาะ มีการทุ่มงบประมาณและกำลังคน อย่างไรก็ตาม ไฮไลท์สำคัญที่ถูกให้ความสนใจคือ “ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ” ที่เกาหลีใต้จะได้รับ 

มีผู้เชี่ยวชาญในเกาหลีใต้คาดการณ์ว่า เบื้องต้นของโครงการนี้จะสามารถมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 2.5 พันล้านดอลลาร์ แต่หากรวมกับผลพลอยได้ที่จะเกิดขึ้นแล้วจะมีมูลค่าสูงถึง 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ในขณะที่ต้นทุนของโครงการมีอยู่เพียง 1.7 พันล้านดอลลาร์ เท่ากับว่าผลทางเศรษฐกิจที่ได้สูงกว่าต้นทุนถึง 8.24 เท่า 

 

ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้น เบื้องต้นเกิดจากการสร้างงาน สังเกตจากตัวเลขของบริษัทเอกชนที่เข้าร่วม นอกจากนั้น พัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นยังสามารถสร้างประโยชน์ให้กับภาคอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้เอง โดยการนำเอาเทคโนโลยีขั้นสูงที่ได้ไปสร้างนวัตกรรมทางการผลิตในระดับอุตสาหกรรม และยังสามารถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านการส่งออกบุคลากรหรือการร่วมพัฒนากับชาติพึ่งริเริ่มการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ  ซึ่งทั้งหมดนี้จะสามารถสร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้ได้เป็นอย่างดี

 

  •   ก้าวต่อไปกับการสร้าง “Space Economy”  

ถึงจะมีก้าวสำคัญ แต่อย่างไรก็คงต้องก้าวต่อไป การปล่อยจรวดอวกาศด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในประเทศนั้นนับเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเกาหลีใต้ ถึงกระนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศก็ยังคงดำเนินต่อไป 

มุน แจอิน นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ ได้กล่าวไว้ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า เกาหลีใต้จะส่งดาวเทียมที่จะขึ้นไปสู่วงโคจรของดวงจันทร์ในปี 2022 และจะส่งยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ในปี 2030 ซึ่งเป็นการสื่อสารต่อสาธารณชนถึงทิศทางการพัฒนาโครงการด้านอวกาศของประเทศ 

แม้ว่าสุดท้ายแล้ว จรวดอวกาศ Nuri จะไม่สามารถทำภารกิจในการขึ้นไปสู่ระดับวงโคจรที่คาดหมายได้ แต่นายกฯ มุน แจอิน ก็ยังนับว่าเป็นความสำเร็จที่ยานลำนี้สามารถทะยานขึ้นไปในระดับวงโคจร 700 กฺิโลเมตร ได้

การผลิตยานอวกาศในเกาหลีใต้นั้น ยังจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปกว่าที่มีในปัจจุบัน ซึ่งการเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาโครงการอวกาศนั้นมีความจำเป็น เพราะนอกจากจะทำให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ยังจะช่วยกระจายผลประโยชน์ของโครงการให้กับภาคส่วนอื่นในเศรษฐกิจ 

นอกจากนั้นแล้ว ยังกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อพาธุรกิจเข้าสู่อุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกาหลีใต้มีความพร้อมสำหรับการดำรงอยู่ของ “Space Economy” ที่ถูกคาดว่าจะทวีความสำคัญขึ้นในอนาคตอันใกล้ 

อย่างไรก็ตาม มีผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นต่อประเด็น Space Economy ในเกาหลีใต้ว่า ภาคเอกชนยังต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นอย่างมาก และรัฐบาลเกาหลีใต้จำเป็นต้องกลายผู้นำในการสร้างอุปสงค์ต่อสินค้าในอุตสาหกรรมอวกาศก่อน รวมถึงข้อจำกัดบางประการ โดยการดำเนินการเช่นนี้จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการก่อร่างสร้างตัวของ Space Economy ในเกาหลีใต้อย่างยั่งยืน  



 

อ้างอิง

Arirang 

Meghan Bartels

Min-jun Suh, See-eun Lee and Hae-sung Lee 

Nuri (Rocket)

The Ministry of Science and ICT of Korea