“สิงคโปร์” เปลี่ยน “เปลือกทุเรียน” ไร้ค่า เป็นพลาสเตอร์ยาต้านแบคทีเรีย

“สิงคโปร์” เปลี่ยน “เปลือกทุเรียน” ไร้ค่า เป็นพลาสเตอร์ยาต้านแบคทีเรีย

“ทุเรียน” มีทั้งคนรักและคนชัง ลองมาฟังเหตุผลใหม่ๆ อาจช่วยให้หลายคนรู้สึกพิสมัยกับผลไม้มีหนาม และกลิ่นฉุน เพิ่มขึ้น

เว็บไซต์ซีเอ็นบีซี รายงานว่า หลายประเทศ รวมถึงไทย และสิงคโปร์ สั่งห้ามทุเรียนนำขึ้นรถขนส่งสาธารณะ เพราะกลิ่นทุเรียนมีอานุภาพรุนแรง ถึงขั้นโรงแรมบางแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องประกาศขั้นเด็ดขาดห้ามผู้ใช้บริการนำผลไม้ชนิดนี้เข้าห้องพักด้วย

ส่วนผู้ที่ชื่นชอบทุเรียนบางคนยินดีที่จะจ่ายเงินจำนวนมหาศาล อย่างในปี 2562 มีคนยอมควักเงินในกระเป๋าซื้อ “ราชาแห่งผลไม้” สูงถึงลูกละ  48,000 ดอลลาร์

แต่ขณะนี้ สิงคโปร์มีเหตุผลใหม่ที่ทำให้รู้สึกชื่นชอบผลไม้ที่มีหนามเพิ่มขึ้นอีก

 

“สิงคโปร์” เปลี่ยน “เปลือกทุเรียน” ไร้ค่า เป็นพลาสเตอร์ยาต้านแบคทีเรีย

ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ในสิงคโปร์ เปลี่ยนเปลือกทุเรียน มาเป็นพลาสเตอร์ปิดแผลต้านเชื้อแบคทีเรีย โดยพวกเขาบอกว่า สามารถรักษาบาดแผล หลังการผ่าตัดได้ดี 

เปลือกทุเรียนรีไซเคิลเป็น "พลาสเตอร์ยา"

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางของสิงคโปร์ (NTU) ใช้กระบวนการที่ไม่แพง ในการสกัดเซลลูโลสออกจากเปลือกสีเขียวหนาของทุเรียน และนำเซลลูโลสผสมกับกลีเซอรอล เพื่อสร้างเจลที่อ่อนนุ่มคล้ายซิลิโคน เพื่อนำไปผลิตเป็นพลาสเตอร์ยาได้

ขณะที่ มีทวีตข้อความตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์จากการรีไซเคิลเปลือกทุเรียน เช่นกลิ่นฉุนของผลไม้นี้ จะยังคงอยู่หรือไม่ โดยบางคนสงสัยว่า เมื่อใช้พลาสเตอร์ยาที่ทำมาจากเปลือกทุเรียน แล้วยังสามารถขึ้นขนส่งสาธารณะได้หรือป่าว

มีบางคนพูดติดตลกว่า กลิ่นทุรียน ทำให้ไม่น่าแปลกใจว่า พลาสเตอร์ปิดแผลชนิดนี้จะฆ่าแบคทีเรียได้

นวัตกรรมรักษาสิ่งแวดล้อม

วิลเลียม เฉิน ผู้อำนวยการโครงการวิทยาศาสตร์อาหาร และเทคโนโลยีของ NTU กล่าวยืนยันว่า พลาสเตอร์ยาจากเปลือกทุเรียนไม่มีกลิ่น โดยใช้กระบวนการนวัตกรรมช่วยกำจัดเศษอาหาร และแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

แต่อย่างน้อย พ่อค้าแม่ค้าขายทุเรียนก็เป็นกลุ่มที่ตื่นเต้นกับข่าวนี้!!

เจมส์ หว่อง พ่อค้าขายทุเรียนในสิงคโปร์กล่าวกับเว็บไซต์ซีเอ็นบีซีว่า ผลงานประดิษฐ์ดังกล่าว ยอดเยี่ยมมาก ในการรีไซเคิลเปลือกทุเรียนเหลือทิ้ง เพราะที่ผ่านมาเขาต้องจ่ายเงินให้บริษัทกำจัดขยะ เพื่อเคลียร์เปลือกทุเรียน แต่ตอนนี้ “ขายเปลือกแล้วได้เงิน ย่อมเป็นเรื่องดีกว่า" 

นักวิทยาศาสตร์ของ NTU กล่าวว่า ในแต่ละปี ชาวสิงคโปร์บริโภคทุเรียน 12 ล้านลูกต่อปี ตราบใดที่ชาวสิงคโปร์ยังกินทุเรียน เราก็สามารถทำพลาสเตอร์ยาเหล่านี้ได้