หุ่นยนต์บริกรที่พึ่งของธุรกิจญี่ปุ่น

หุ่นยนต์บริกรที่พึ่งของธุรกิจญี่ปุ่น

“สกายลาร์ก โฮลดิงส์” ผู้ให้บริการร้านอาหารแบบครอบครัวรายใหญ่สุดของญี่ปุ่น ประกาศใช้หุ่นยนต์เป็นพนักงานให้บริการภายในร้าน เพื่อลดการสัมผัสระหว่างที่ลูกค้าเข้ามารับประทานอาหารในร้าน และเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

 หุ่นยนต์บริกรสามารถนำอาหารไปเสิร์ฟให้ลูกค้าที่โต๊ะขนาด4คนได้จากนั้นก็เก็บจานจากโต๊ะเมื่อลูกค้ารับประทานอาหารเสร็จแล้ว ในการทดลองใช้งานหุ่นยนต์ที่เริ่มเมื่อเดือนส.ค.ในกรุงโตเกียว หุ่นยนต์บริกรช่วยลดจำนวนพนักงานจริงๆได้ลงถึงครึ่งหนึ่งในช่วงที่ลูกค้าเข้าร้านมากที่สุด              

 ขณะที่ทางการญี่ปุ่นผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆในการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านและการทำกิจกรรมอื่นๆที่ห้ามทำในช่วงที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ระบาดหนัก

สกายลาร์ก ตั้งเป้าที่จะแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารที่เรื้อรังมานานโดยยังคงพยายามรักษามาตรฐานการบริการไว้เหมือนเดิม หุ่นยนต์บริกรที่บริษัทเตรียมนำใช้งานจะช่วยลดการติดต่อ หรือสัมผัสระหว่างลูกค้าและพนักงานที่เป็นมนุษย์ และลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอของโรคโควิด-19                            

บริษัทจะเริ่มนำหุ่นยนต์มาใช้ช่วงปลายเดือนเม.ย.ปี 2565 ที่สาขาต่างๆ 1,000 แห่ง รวมทั้งที่ร้านอาหารกัสโต และเครือข่ายร้านชาบู-ชาบูทุกแห่งและภายในปลายปีจะใช้หุ่นยนต์นี้ในสัดส่วนมากกว่า 60% ของร้านสกายลาร์กทั่วประเทศที่มีอยู่ประมาณ 3,000 แห่ง

การหาเงินทุนเพื่อนำมาซื้อหุ่นยนต์บริกรมาจากการระดมทุนของสกายลาร์กจำนวน 43,000 ล้านเยน(380 ล้านดอลลาร์)ในเดือนมิ.ย. โดยในจำนวนนี้ แบ่งเป็นเงินลงทุนด้านเทคโนโลยีจำนวน 6,000 ล้านเยน 

การประกาศแผนใช้หุ่นยนต์บริกรเข้ามาช่วยให้บริการในร้านอาหารสาขาต่างๆของสกายลาร์กมีขึ้นหลังจากบริษัทเคลื่อนไหวด้านเทคโนโลยีต่างๆ ที่รวมถึงการใช้ระบบชำระค่าอาหารและบริการแบบไร้เงินสดเมื่อเดือนพ.ค.ปี 2562 และการใช้เมนูอาหารแบบทัช-สกรีน เมื่อเดือนก.พ.ปี 2563

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระตุ้นให้บรรดาร้านอาหารญี่ปุ่นหันมาทดลองใช้หุ่นยนต์แทนมนุษย์กันมากขึ้น อย่าง Saizeriya ผู้ให้บริการร้านอาหารอิตาลี ทดลองใช้หุ่นยนต์บริกรตั้งแต่ช่วงปี 2563 และเริ่มทดลองใช้หุ่นยนต์รุ่นที่3 ในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับวาตามิ ผู้ให้บริการด้านผับ ใช้หุ่นยนต์บริกรในร้านบาร์บีคิวในญี่ปุ่น 16 แห่ง

 

นอกจากธุรกิจอาหารเริ่มหันมาพึ่งพาหุ่นยนต์ทำงานแทนคนแล้ว ปัญหาขาดแคลนแรงงานบีบบังคับทางอ้อมให้ธุรกิจค้าปลีกกาแฟสดในญี่ปุ่น เลิกพึ่งบาริสต้าที่เป็นคนและหันมาพึ่งหุ่นยนต์ชงกาแฟสดแทน โดยผู้ต้องการดื่มกาแฟ สามารถสั่งผ่านแอพพลิเคชัน จากนั้นก็ระบุเวลาที่จะไปรับกาแฟได้ตามที่ต้องการ  ง

ร้านกาแฟนี้ทำงานโดยหุ่นยนต์ที่มีชื่อว่า รูท ซี (Root C)โดยหุ่นยนต์จะชงกาแฟใส่ไว้ในตู้ด้านหลังของร้าน เมื่อเจ้าของออเดอร์มาถึงก็สามารถเปิดตู้จากแอพพลิเคชันในสมาร์ทโฟนแล้วหยิบกาแฟที่สั่งไว้ไปได้เลย

รูท ซี สามารถชงเครื่องดื่มได้ทั้งหมด 16 เมนู ทั้งร้อนและเย็น ก่อนจะใช้บริการหุ่นยนต์ชงกาแฟตัวนี้ ระบบจะให้ผู้ใช้บริการตอบแบบสอบถามก่อน โดยคำถามต่างๆบาริสต้าเป็นผู้คิด เพื่อให้ระบบเข้าใจตัวตนลูกค้าตลอดจนรสนิยมในการดื่มกาแฟ และเมื่อซื้อกาแฟไปแล้ว ลูกค้ายังสามารถให้คะแนนเครื่องดื่มว่าถูกใจมากน้อยแค่ไหน  เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)จะนำข้อมูลเหล่านี้กลับไปประมวลผลและพัฒนาเพื่อให้การชงกาแฟครั้งต่อไปถูกใจลูกค้ามากขึ้น

รูท ซี ไม่ได้แค่ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างเดียว แต่ยังช่วยบรรเทาความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในหมู่ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นได้อย่างดีด้วย เนื่องจากเป็นการทำงานแบบไม่ต้องสัมผัส ทุกอย่างสั่งการผ่านแอพพลิเคชัน และทำงานบนระบบอัตโนมัติ

ปัจจุบัน  บริษัทผู้คิดค้นรูท ซี ได้ติดตั้งหุ่นยนต์นี้ในกรุงโตเกียวจำนวน 5 ตัว และมีแผนจะติดตั้งเพิ่มอีก 2 – 3 ตัวในเดือนต.ค.-พ.ย.และบริษัทวางแผนสมัครสมาชิกเป็นรายเดือน โดยผู้สมัครใช้บริการนี้สามารถซื้อกาแฟจากรูท ซี ได้เดือนละ 55-56 แก้ว

นอกจากจะพึ่งพาหุ่นยนต์และเอไอแล้ว ปัญหาขาดแคลนแรงงานในญี่ปุ่น ทำให้ภาคธุรกิจต้องหันมาพึ่งพาแรงงานที่อายุเกินวัยเกษียณมากขึ้นเรื่อย ๆด้วย

อย่างกรณี"โนจิมะ“ บริษัทจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในญี่ปุ่น ที่จ้างพนักงานอายุ 80 ปีร่วมงานกับบริษัท และในช่วงปีที่ผ่านมา บริษัทผลิตซิปชื่อดังอย่าง ”วายเคเค กรุ๊ป" ก็ประกาศยกเลิกอายุเกษียณเพื่อรักษาพนักงานไว้กับบริษัทต่อไป